เตรียมเอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับศิลปินทำเพลง “ประเทศกูมี” ระบุเข้าข่ายให้ร้ายประเทศ

เตรียมเอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับศิลปินทำเพลง “ประเทศกูมี” ระบุเข้าข่ายให้ร้ายประเทศ

เตรียมเอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับศิลปินทำเพลง “ประเทศกูมี” ระบุเข้าข่ายให้ร้ายประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองโฆษก ปอท. เผยตรวจสอบเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” แล้ว พบเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำเสียหายหลายเรื่อง เตรียมพิจารณาเรียกสอบกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิป

บก.ปอท.เตรียมเอาผิด “ประเทศกูมี” ในฐานความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) นอกจากนี้ยังขู่ว่าคนที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14 (5) ขณะนี้มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวมีคนดูเกือบหนึ่งล้านครั้ง และมีคนไปแสดงความคิดเห็นมากมาย

จากข่าวที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้กล่าวถึงเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ว่าไม่แน่ใจว่าอาจมีความหมิ่นเหม่ ขัดต่อคำสั่ง คสช. จึงได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา

>> โฆษกเผย รัฐบาลเสียใจเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" ชี้ทำประเทศเสียหาย

>> "ศรีวราห์" สั่งสอบเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" กังวลเนื้อหาสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

>> ภริยา ผบ.ซีล โพสต์อัด "ประเทศกูมี" ชี้เป็นวิธีล้างสมองด้วยเพลง

>> “Rap Against Dictatorship” แก๊งฮิปฮอปกลุ่มใหม่ สาดใส่ความรู้สึกต่อสังคมกับ “ประเทศกูมี”

ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (26 ต.ค.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 บก.ปอท. ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. เปิดเผยถึงกรณีการแพร่คลิปเพลงแร็ป “ประเทศกูมี” ว่า เบื้องต้นทาง พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฏในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง เบื้องต้นจากการตรวจสอบ น่าจะเข้าข่ายความผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” เพราะความเสียหายที่ปรากฏในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา

ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 14 (2) ในเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา

ส่วนที่กลุ่มศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใดนั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า หากมีการดำเนินคดีก็เป็นสิทธิของเขาที่จะให้การ เขารู้สึกอย่างไร หรือข้อเท็จจริงในส่วนของเขาเป็นอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานว่าผิดหรือไม่

ส่วนภาพที่ปรากฏในมิวสิควิดีโอบางส่วนคล้ายกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตที่มีการจำลองหุ่นแขวนอยู่บนต้นไม้ และมีกลุ่มคนคอยเชียร์ให้ชายในคลิปนำเก้าอี้ฟาดหุ่นเป็นการเข้าข่ายเรื่องการก่อความรุนแรงหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากภาพรวมอาจเข้าข่ายความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14 (5) ซึ่งจะมีโทษอัตราเดียวกันกับผู้โพสต์ คือ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ได้เช่นกัน โดยหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวดก็มีจำนวนผู้กระทำผิดที่ลดลง

ขณะนี้มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม มียอดวิวเกือบหนึ่งล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชั่นที่มีคำบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นออกมา ยิ่งเป็นข่าวออกมายิ่งมีคนเข้าไปดู แสดงความคิดเห็นต่อเพลงมากมายและติด #ประเทศกูมี จนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook