จาก “ประเทศกูมี” สู่บทวิพากษ์ “อิสรภาพแห่งศิลปะในเมืองไทย” โดย “Rap Against Dictatorship”

จาก “ประเทศกูมี” สู่บทวิพากษ์ “อิสรภาพแห่งศิลปะในเมืองไทย” โดย “Rap Against Dictatorship”

จาก “ประเทศกูมี” สู่บทวิพากษ์ “อิสรภาพแห่งศิลปะในเมืองไทย” โดย “Rap Against Dictatorship”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนจะคุกรุ่น หลังจากกลุ่มฮิปฮอปนามว่า Rap Against Dictatorship ได้ปล่อยเพลง “ประเทศกูมี” ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกต่อแผ่นดินเกิดผ่านท่อนแร็ปแต่ละวรรคแต่ละบาร์อย่างชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมา และไร้ซึ่งการประนีประนอม ก่อนจะปล่อยหมัดหนักอีกครั้งกับมิวสิควิดีโอ ที่เผยให้เห็นฉาก “เก้าอี้ฟาด” สุดสะเทือนใจแห่งเหตุการณ์ 6 ตุลา กลายเป็นกระแสที่ไม่ว่าใครต่างก็พูดถึง

ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ออกมาให้ความเห็นในขั้นต้นว่า อาจขัดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และถือว่าเป็นการให้ร้ายประเทศ จนมีข่าวลือสะพัดว่า อาจมีการเรียกสอบสวนแร็ปเปอร์แก๊งดังกล่าว แม้ว่าจะยังอยู่ในกระบวนการสอบสวนเพิ่มเติม ทว่าล่าสุด พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ออกมายืนยันว่า ยังสามารถฟัง ร้อง และแชร์เพลงนี้ได้

>> "ศรีวราห์" สั่งสอบเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" กังวลเนื้อหาสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

>> "ศรีวราห์" ไม่พบหลักฐานเอาผิด เพลงแร็ป "ประเทศกูมี" ฟัง-ร้อง และแชร์ได้

แน่นอนว่าเกิดการถกเถียงมากมายถึงข้อความต่างๆ ที่ Rap Against Dictatorship หยิบยกมาใส่ไว้ในเพลง ว่าพูดถึงใคร หรือเหตุการณ์ไหนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกันแน่ หรือแม้แต่การเชื่อมโยงไปถึงประเด็นทาง “การเมือง” ที่หนักข้อเข้าขั้น แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ทีมงาน Sanook ตั้งคำถามกับตนเอง และพยายามจะค้นหาคำตอบอีกครั้งผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงการสนทนากับ 3 ตัวแทนแห่ง Rap Against Dictatorship อย่าง Liberate P (ณัฐพงศ์ ศรีม่วง), HOCKHACKER (เดชาธร บำรุงเมือง) และ Jacoboi (ปรัชญา สุรกำจรโรจน์) ก็คือ

ในเมื่อความเป็นจริง … “ศิลปะ” คือพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิดของ “ศิลปิน” แล้วอิสรภาพของศิลปะในเมืองไทย ยังมีอยู่จริงหรือไม่?

(จากซ้าย) Liberate P, HOCKHACKER และ Jacoboi

“ผมว่าต้องแยกประเด็น” แร็ปเปอร์ผมยาวมากประสบการณ์อย่าง Jacoboi เกริ่นเปิดประเด็น หลังจากที่เราอ้างอิงถึงข่าวคราวของ กราฟฟิตี้เสือดำที่โดนลบทิ้ง การปิดทำการของโรงหนังลิโด้ หรือแม้แต่จำนวนแกลเลอรี่ในเมืองไทยที่แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนอันน้อยนิดของพื้นที่ทางศิลปะ “คือถ้าพูดถึงศิลปะโดยรวม มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกสนใจอยู่แล้วในประเทศนี้ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายสักเท่าไหร่ แต่หากพูดถึงในแง่ของ freedom of expression มันมีข้อจำกัดอยู่แล้ว”

Jacoboi ได้ร่ายยาวถึง “ข้อจำกัด” ที่เขาเอื้อนเอ่ยขึ้นมาเมื่อสักครู่ว่า เมื่อใดที่ศิลปินหยิบยกเรื่องราวที่แตะต้องถึงผู้ที่มีอำนาจ ไม่ว่าจะอำนาจรัฐโดยตรง หรือผู้ที่มีอำนาจในสังคม ย่อมอาจจะเกิดการควบคุมอะไรบางอย่างขึ้นมา ทว่าสิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ พวกเขารู้สึกว่า บางครั้งผู้คนทั่วไปหรือแม้แต่ตัวศิลปินเอง กลับมองและเล่นเพียงประเด็นฮอตที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น แต่กลับไม่ใครพูดถึงโครงสร้างแห่งปัญหาว่า ต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมนั้น คืออะไรกันแน่

ตัวแทนจากกลุ่ม Rap Against Dictatorship

ในขณะที่ Liberate P แร็ปเปอร์สายการเมืองที่แวดวงฮิปฮอปอันเดอร์กราวนด์ต่างรู้จักเขาเป็นอย่างดี ผู้ซึ่งเริ่มต้นทำเดโมเพลง “ประเทศกูมี” เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว ก็กล่าวเสริมเช่นกันว่า “มันไม่มีทางจบประเด็นที่เป็นกระแสได้หรอก พอด่าอันนี้จบ ก็ไปด่าอันใหม่ไปเรื่อยๆ ถามว่ามันได้อะไร มันไม่ได้อะไรเลย ตราบใดที่คุณยังไม่เข้าใจในหลักการของปัญหาที่เกิดขึ้น”

นี่อาจเป็นหมุดหมายหลักที่ทำให้ Rap Against Dictatorship ก่อร่างสร้างโปรเจกต์ขึ้น หมายมั่นว่าจะทำงานศิลปะในด้านดนตรีที่มีพื้นฐานของ Ideology หรือแนวคิดแบบอุดมการณ์ กระตุ้นให้คนมีความคิดในเชิงวิพากษ์มากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังสอดประสานประเด็นร้อนแรงทางสังคมเอาไว้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาษาปรัชญาจนคนฟังไม่เข้าใจ รวมถึงใช้วิธีการสื่อสารกับคนฟังแบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา เพราะความตั้งใจของแร็ปเปอร์กลุ่มนี้ก็คือ อยากให้สารที่ต้องการจะสื่อไปถึงหูคนฟังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มากกว่าเรื่องราวของข้อจำกัด HOCKHACKER ที่ดูแลโปรเจกต์ Rap Against Dictatorship ในด้านการประชาสัมพันธ์ก็ขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่าเหตุที่ศิลปะในบ้านเราไม่รุ่งเรืองเฟื่องฟูก็เป็นเพราะว่า เราไม่ได้ถูกปลูกฝังว่า ศิลปะมันจำเป็นกับชีวิต… “ที่คนทำงานศิลปะเขาไปสุดกันได้แค่นี้ก็เพราะมันว่ามันไม่ได้ผลตอบแทน ไม่ได้ เขาก็เลยอาจรู้สึกว่า ทำต่อไปก็เท่านั้น” เขากล่าว

“หรือบางที คนในวงการศิลปะอาจไม่ค่อยสนใจเรื่องอิสรภาพสักเท่าไหร่” คำกล่าวของ Jacoboi ทำให้เราถึงกับหันขวับ และชวนพวกเขาคุยในประเด็นนี้กันต่อ “จริงๆ จะบอกว่าไม่สนใจเลยก็ไม่ใช่หรอก คือคนที่สนใจเรื่องพวกนี้ก็มี แต่บางกลุ่มเขาจะสนใจเมื่อเรื่องมันเกิดขึ้นและส่งผลกับความรู้สึกเขา แต่กลับไม่มองภาพรวมว่าสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ใช่ คุณต่อสู้กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งถามว่าดีไหม ผมว่าก็ดีกว่าไม่สู้ แต่ว่ามันได้ประโยชน์ไม่เต็มที่” มากไปกว่านั้นเขามองว่า คนทำงานศิลปะโดยเฉพาะพวก fine art ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความเป็น abstract นั้นมีโอกาสสูงมากที่จะสื่อสารความรู้สึกนึกคิดอย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม อีกทั้งยังซ่อนความหมายเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ แม้จะว่าจะสื่อสารกับบุคคลทั่วไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็สามารถผลิตผลงานออกมาได้

“เหมือนกับว่า รัฐพยายามโฆษณาชวนเชื่ออยู่เรื่อยๆ ว่า ที่สุดของความเลวที่ทำลายประเทศคือการคอร์รัปชั่น คนก็เชื่ออยู่แค่นี้ ในขณะที่จริงๆ มีอีกหลายเรื่องที่มันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน” Liberate P กล่าวเสริมเพื่อนในกลุ่ม

ซึ่งเรื่องราวที่มากไปกว่าแค่การคอร์รัปชั่น Rap Against Dictatorship ก็ได้รวบรวมมาไว้ใน “ประเทศกูมี” ที่ราวๆ 5 นาทีเศษของเพลงเปรียบเสมือน “หมัดฮุก” จาก 10 แร็ปเปอร์ที่ต่อยเข้าปลายคางอย่างจัง แม้ว่า Liberate P จะทำแร็ปเกี่ยวกับสังคมการเมืองมาตลอด แต่เราก็สงสัยอยู่ดีว่า เขาและผองเพื่อนต้องใช้ความกล้ามากกว่าเดิมไหมในการสร้าง #ประเทศกูมี ขึ้นมา

“ถ้าเป็นช่วงก่อนปี 2543 ผมว่าเป็นเรื่องปกติในการทำเพลงลักษณะนี้ แล้วหนึ่งปีหลังจากนั้นผู้คนก็โดนบีบมากขึ้น จนปี 2555 เราเริ่มแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้น้อยลงเรื่อยๆ จากที่ควรจะเป็น ถามว่ามีความเสี่ยงไหม ถ้ามองในแง่ของความกลัวมันก็มีจริงๆ แต่มันเป็นความเสี่ยงที่เราไม่ควรไปกลัว เพราะว่ามันไม่เคยไม่เสี่ยงมาก่อน” เจ้าของเพลง “Capitalism” และ “Oc(t)ygen” ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่นักฟังเพลงฮิปฮอปใต้ดินเผย ซึ่ง Jacoboi ก็เน้นย้ำกับเราอีกแรงว่า “มันเป็นสิ่งที่ควรจะทำ”

คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย แล้วถ้ามาพร้อมกัน 10 คนล่ะ Liberate P เชื่อว่าพลังของแร็ปเปอร์ 10 คนในการส่งสารบางอย่างถึงคนฟังนั้นมีมากกว่าตัวเขาคนเดียวเป็นแน่แท้ ซึ่งนอกจากพลังจากแร็ปเปอร์แต่ละคน มิวสิควิดีโอยังต่อยอดกระแสการพูดถึงอย่างหนักหน่วง ด้วยภาพเหตุการณ์ … ภาพนั้น

Liberate P อธิบายว่า พวกเขาและทีมทำเอ็มวีอยากใส่เหตุการณ์ทางการเมืองเข้ามา พยายามเอาเหตุการณ์ที่ชนชั้นกลางเคยต่อต้านทหารออกมาสื่อสาร ซึ่งค่อนข้างมีหลายตัวเลือก และท้ายที่สุดพวกเขาก็รู้สึกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นมีแมสเสจที่แข็งแรง และชัดเจนที่สุด

>> “Rap Against Dictatorship” แก๊งฮิปฮอปกลุ่มใหม่ สาดใส่ความรู้สึกต่อสังคมกับ “ประเทศกูมี”

หากยังพอจดจำกันได้ ในยุคหนึ่งที่บ้านเราเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ศิลปินเพลงหลายต่อหลายท่านได้สร้างสรรค์เพลงที่ซ่อนนัยทางการเมืองไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะในแนวทางของดนตรีเพื่อชีวิต อาทิ คาราบาว หรือแม้แต่ หงา คาราวาน (สุรชัย จันทิมาธร) แต่หากจะว่ากันตามจริง เพลงลักษณะนี้ค่อนข้างหายหน้าหายตาไปจากสารบบแวดวงดนตรีเมืองไทยอยู่นานพอสมควร ต่างจากเมืองนอกเมืองนาที่บทเพลงยังทำหน้าที่ขยายและสะท้อนข้อเท็จจริงบางอย่างของสังคมเอาไว้อย่างต่อเนื่อง

“เราแค่อยากสื่อสารด้วยวิธีที่เราทำได้ แค่นั้นเอง” Liberate P กล่าวนำก่อนจะเล่าต่อว่า “เราแค่ต้องการให้คนออกมาวิพากษ์สังคมการเมืองกันมากขึ้น อย่างน้อยก็ตื่นตัวมานั่งเถียงกัน คอมเมนต์กันในยูทูปก็เกิดประโยชน์แล้ว” ในขณะที่ Jacoboi ก็ขอเสริมอย่างตรงไปตรงมาว่า “เราไม่ได้ต้องการเป็นคาราบาวในยุคนี้ คือคนที่กล้าพูดเรื่องนี้ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง คนที่ไม่กล้าก็อีกจำนวนหนึ่ง แต่จะมีอีกกลุ่มที่เขาไม่สามารถเริ่มได้ด้วยตัวเอง ต้องมีอะไรสักอย่างมาผลักดันให้เขาทำออกมา”

คุยกันมาได้สักพัก เราเริ่มอยากรู้ความเห็นของศิลปินกลุ่มนี้ กลุ่มที่ตีแผ่ความรู้สึกนึกคิดผ่านบทเพลงของพวกเขาอย่างชัดเจนว่า โอกาสที่อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นของศิลปินในเมืองไทย จะสามารถก้าวออกไปสู่กรอบเดิมๆ ที่เป็นมานั้นเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

“ผมไม่รู้ว่ะ” คำตอบจาก Jacoboi ที่มาพร้อมเสียงหัวเราะในลำคอ ในขณะที่ Liberate P มองย้อนกลับไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ว่า “ตอนนั้นเป็นช่วงที่รุ่งเรืองของศิลปิน คนทำงานอาร์ตหรืองานเพลงเลยนะ ผมว่ามันเป็นเรื่องดีที่พยายามเอาสิ่งที่ตัวเองถนัดออกมาพูด ถูกผิดว่ากันทีหลัง แต่ในพักหลังศิลปินเขาอาจจะเบื่อที่จะมาพูดเรื่องพวกนี้ พูดแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือดีขึ้น เหมือนเขาเริ่มมองว่าตัวเองสเกลเล็กเกินไปที่จะแตะต้องสิ่งใหญ่ๆ แล้วสามารถเปลี่ยนมันได้ ซึ่งเขาไม่สามารถทำได้”

ทางด้าน HOCKHACKER ที่เติบโตมากับยุคสมัยออนไลน์โดยแท้จริงกลับมองเห็นข้อดีบางอย่างในยุคนี้ “ผมว่างานศิลปะยุคนี้ได้เปรียบตรงที่มีอินเทอร์เน็ต สมมติมีศิลปินไปพ่นกราฟฟิตี้ ตอนพ่นอาจไม่มีใครเห็นเลยก็ได้นะ แต่พอเอารูปลงเฟซบุ๊กมันกลับกลายเป็นไวรัล” ซึ่งก็ต่อยอดไปถึง “วิธีการนำเสนอ” ที่ Liberate P มองว่ามีหลากหลาย และศิลปินควรจะปรับตัวให้เข้ากับวิธีการของยุคสมัยให้ทัน “ในอนาคตอาจจะมีการพ่นงานศิลปะแล้วต้องใส่ VR หรือ Virtual Reality ดูก็ได้นะ”

และหากอิสรภาพในการแสดงออกทางความคิดของศิลปินที่อาจเป็นภาพชัดเจนมากขึ้น อิสรภาพในการวิพากษ์และแลกเปลี่ยน ก็คงจะมีทิศทางที่ดีขึ้นไม่ต่างกัน … จริงไหม?

>> ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ศิลปะในไทยก็ยังถูกปิดปาก?

ในขณะที่วงการเพลงโลกมี Bob Marley และ John Lennon รวมถึงอีกหลายศิลปินที่นักฟังเพลงต่างยกย่องบทเพลงของพวกเขาว่าสามารถ “เปลี่ยนโลกได้” โดยเฉพาะเรื่องสันติภาพและเสรีภาพ แล้วพวกเขาล่ะ คิดว่า เพลงสามารถเปลี่ยนโลกได้ไหม?

“ผมคิดว่าเพลงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลก แต่ไม่คิดว่าเพลงจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกได้ด้วยตัวของมันเอง” Jacoboi กล่าวในสิ่งที่เขาคิด ในขณะที่ HOCKHACKER มองว่า บทเพลงเป็นเครื่องมือทางศิลปะที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารออกไป ทว่าคนจะไม่เปลี่ยนความคิด หรือโลกจะเปลี่ยนไป คงไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดเจนนัก

แล้วเพลงของ Rap Against Dictatorship ล่ะ จะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมไทยได้บ้าง? เราถาม…

ในฐานะของนักวางกลยุทธ์ของกลุ่ม HOCKHACKER ตอบอย่างชัดเจนว่า “เปลี่ยนได้” เนื่องด้วยแต่ละสเต็ปที่เขาวางเอาไว้ ไม่ใช่วิธีการแบบโป้งเดียวจบ “เราปล่อยเพลง ปล่อยมิวสิควิดีโอ ปล่อยกิจกรรม ประเทศกูมี 8 Bars Challenge เพื่อให้เด็กในวงการแร็ปทั้งหมดที่กำลังอินกับการแร็ปได้เข้ากล้าที่จะพูดแมสเสจที่เขาอยากจะพูด หรืออย่างบางคนบอกว่าแร็ปไม่เป็น แต่เขาก็กล้าที่จะคิดออกมาเป็นคำกลอน หรือแม้กระทั่งแค่เขียนมาเป็นตัวหนังสือ เป็นคอมเมนต์ อย่างน้อยเขาก็ได้แสดงออกแล้ว” เขาเผย และที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้วางเอาไว้ว่าจะปล่อยเพียงแค่ “เพลงๆ เดียว”

Jacoboi ยอมรับว่า โดยพื้นฐานพวกเขาไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือสังคมเต็มตัว แต่พวกเขาคือคนทำงานเพลง แต่เผอิญว่าความสนใจที่สื่อสารผ่านงานเพลง มันไปตรงกับประเด็นเหล่านั้นเท่านั้นเอง อีกทั้ง HOCKHACKER ก็เสริมว่า ความหมายของ Rap Against Dictatorship นั้นกว้างมาก อยู่ในทุกซอกทุกมุมโดยไม่ใช่แค่เรื่องรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

“ต่อให้เป็นรัฐบาลที่เลือกตั้งเข้ามา แต่มีความเผด็จการในแง่ของนโยบาย หรือกฎหมายที่ออกมาใหม่ ทางเราก็ไม่เห็นด้วย นี่คือจุดยืนที่ชัดเจนของพวกเรา” Liberate P ทิ้งท้าย

และสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับ 3 ตัวแทนจาก Rap Against Dictatorship ก็คือ การมานั่งถกเถียง แลกเปลี่ยน สนทนา และยอมรับในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อาจเป็นหนทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ดีที่สุด และอิสรภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะหรืออื่นใดก็ตาม ก็คงงอกเงยเบ่งบาน และเห็นเป็นภาพชัดเจนขึ้นในสักวัน

 

Story by: Chanon B.
Photos by: Ditsapong K.

ขอขอบคุณ ร้าน PLAY YARD by Studio Bar ลาดพร้าวซอย 8 เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ จาก “ประเทศกูมี” สู่บทวิพากษ์ “อิสรภาพแห่งศิลปะในเมืองไทย” โดย “Rap Against Dictatorship”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook