ผวจ.นครศรีฯ หารือมาตรทุกฝ่าย ดูแล "ช้างคชลักษณ์" ตามตำรา-รอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หารือมาตรการดูแลช้างป่าร่วมหลายฝ่าย เผยเป็นเรื่องมงคลรอผู้เชี่ยวชาญสถาบันคชบาลแห่งชาติ-กรมอุทยานพิสูจน์ ขณะที่ควาญช้างอาสุโสมั่นใจเข้าลักษณะช้างสำคัญตามตำราคชลักษณ์โบราณ
8 พ.ย. 2561 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เรียกนายวิกรานต์ ทั่วด้าว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาหลวง นายสัตวแพทย์พรภิรมย์ ฟุ้งตระกูล ปศุสัตว์อำเภอร่อนพิบูลย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสัตวแพทย์อาสามูลนิธิเพื่อนช้างภาคใต้ และนายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช
เข้าร่วมหารือและติดตามข้อมูลหลังจากที่พบช้างป่าคชลักษณ์งดงามเข้าข่ายลักษณ์ช้างมงคลในตระกูลวิษณุพงศ์ ตามรูปพรรณมีนามตามคชลักษณ์คือ "สังข์ทันต์" โดยผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการดูแลช้างอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากหากเป็นช้างลักษณะมงคลตามโบราณนั้นย่อมถือเป็นสิ่งที่ดีกับบ้านเมือง ซึ่งระหว่างนี้ต้องรอผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบอย่างละเอียด
ขณะที่นายวิกรานต์ ทั่วด้าว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ระบุว่าช้างตัวนี้ไม่เคยปรากฏตัวมาก่อนมีลักษณะเพิ่งรู้จักกลิ่นมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน
โดยเฉพาะในแปลงเกษตรที่ถูกกัดกินผลอาสิน การป้องกันจะต้องไม่ใช้เสียงดังเช่นการจุดระเบิดปิงปองเนื่องจากจะทำให้ช้างเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นช้างที่ก้าวร้าว
อย่างไรก็ตามช้างป่าโขลงที่อยู่ใกล้เคียงกับช้างตัวผู้ที่มีลักษณะงดงามเป็นพิเศษนั้นมีอยู่ประมาณ 10 ตัว วนเวียนหากินอยู่แถบอำเภอพรหมคีรี อำเภอนบพิตำ และอำเภอพิปูน
โดยวันนี้พบว่าช้างอยู่ในพื้นที่ป่าในเขตอุทยานน้ำตกยอดเหลืองระหว่างบ้านยอดเหลือง และระหว่างหมู่ 1, 2, 4, ต.ทอนหงส์ อำเภอพรหมคีรี โดยชาวบ้านพยายามช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากต่างหวังว่าช้างตัวนี้จะเป็นช้างสำคัญของประเทศไทย ทั้งยังเชื่อว่าเป็นช้างในสายพันธุกรรมเดียวกันกับคุณพระเศวต ซึ่งเป็นช้างสำคัญประจำรัชกาลที่ 9
ขณะที่นายสมชัย หยู่ทองคำ ควาญช้างอาวุโสของอำเภอพรหมคีรี ซึ่งสืบทอดวิชาการเลี้ยงช้างมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ได้ออกติดตามเฝ้าดูช้างที่มีคชลักษณ์งดงามตัวนี้มาเป็นเวลาหลายวันแล้ว
ยืนยันว่าเป็นช้างที่มีลักษณะพิเศษมาก ควาญช้างทั้งหลายจะเรียกว่าช้างก้านกล้วย และมั่นใจว่าเข้าข่ายเป็นช้างมงคล หรือที่เรียกว่าช้างเผือกตามแบบโบราณ
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ