ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ กับ 5 สตรีที่มีบทบาทในการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ กับ 5 สตรีที่มีบทบาทในการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ กับ 5 สตรีที่มีบทบาทในการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ว่าการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกาจะผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ แต่ปรากฏการณ์ที่ตามมาหลังจากการเลือกตั้งก็น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “ปีแห่งสตรี” ที่มีผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีหน้า สภาคองเกรสจะมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 100 คน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่อพลังหญิงน่าจับตามองขนาดนี้ Sanook! News ก็อยากจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ 5 นักการเมืองหญิง ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ซึ่งไม่แน่ว่า พวกเธออาจจะมาพลิกโฉมประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทั่วโลกต่อไป

ผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดในสภาคองเกรส

อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซAFPอเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ

“อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เทซ” วัย 29 ปี ผู้สมัครเชื้อสายเปอร์โตริโก จากพรรคเดโมแครต ทำลายสถิติเป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุด ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาคองเกรส เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นแรงงานในย่านคนจนของนิวยอร์ก จบการศึกษาเกียรตินิยมด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน เคยทำงานเสริมเป็นพนักงานเสิร์ฟและบาร์เทนเดอร์ รวมทั้งสอนหนังสือให้หน่วยงานเอ็นจีโอ

โอคาซิโอ-คอร์เทซ มีประสบการณ์การทำงานด้านผู้อพยพ และเป็นอาสาสมัครทีมหาเสียงให้นายเบอร์นี แซนเดอร์ส เมื่อครั้งที่เขาเข้าชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยเดียวกับนางฮิลลารี คลินตัน นอกจากนี้ เธอยังทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการท่อส่งน้ำมัน Dakota Access Pipeline ที่จะตัดผ่านที่ดินของชนพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งนั่นก็ทำให้เธอได้เรียนรู้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ และเกิดแรงบันดาลใจในการก้าวเข้าสู่สังเวียนการเมือง โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเดโมแครต ในนครนิวยอร์ก พร้อมกับความตั้งใจที่จะเป็นผู้หญิงผิวสีรุ่นใหม่ ซึ่งทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนในนครนิวยอร์ก

สำหรับนโยบายของโอคาซิโอ-คอร์เทซ เธอมุ่งต่อสู้เพื่อบริการรักษาพยาบาลแบบถ้วนหน้า การศึกษาฟรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งในที่สุด เธอก็ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเกือบ 80% จากประชาชนในแถบควีนส์และบรองซ์ บ้านเกิดของเธอ

ส.ส. หญิงมุสลิมกลุ่มแรกในสภาคองเกรส

ราชิดา ทเลบRashida Tlaib for Congressราชิดา ทเลบ

“ราชิดา ทเลบ” ทนายความหญิงเชื้อสายปาเลสไตน์ วัย 42 ปี ตัวแทนพรรคเดโมแครต จากเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน เป็นหนึ่งในหญิงมุสลิมที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาคองเกรส เธอเป็นลูกสาวคนโตจากจำนวนพี่น้อง 14 คน ในครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ และได้เป็นสมาชิกหญิงชาวมุสลิมคนแรกของสภานิติบัญญัติของรัฐมิชิแกน เมื่อ 10 ปีก่อน โดยดำรงตำแหน่งนานถึง 3 สมัย

ด้วยภาพลักษณ์หัวก้าวหน้า ทเลบเป็นแกนนำในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเคยถูกจับกุมตัว เนื่องจากก่อกวนขณะที่ทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองดีทรอยต์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำหรับนโยบายที่ทำให้เธอได้รับเลือกตั้งก็ได้แก่ การสนับสนุนนโยบายบริการสุขภาพถ้วนหน้า ปฏิรูปกฎหมายการอพยพเข้าเมือง และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 15 เหรียญสหรัฐ

 อิลฮาน โอมาร์AFPอิลฮาน โอมาร์

นอกจากผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์อย่างทเลบแล้ว การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดตัว “อิลฮาน โอมาร์” ตัวแทนหญิงมุสลิมจากพรรคเดโมแครต วัย 36 ปี ที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาคองเกรส และยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ โดยที่ผ่านมา เธอเรียกร้องให้มีนโยบายควบคุมการใช้ปืน ระบบกองทุนสุขภาพรายเดียว (single-payer health care) และการให้สัญชาติแก่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารรับรอง

โอมาร์และครอบครัวอพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองในประเทศโซมาเลีย ในขณะที่เธอมีอายุเพียง 8 ปี ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศเคนยานาน 4 ปี ก่อนที่จะอพยพมายังสหรัฐฯ และตั้งรกรากอยู่ที่เมืองมินเนอาโปลิส รัฐมินเนโซตา โอมาร์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์และวิเทศศึกษา จากมหาวิทยาลัยนอร์ธ ดาโกตา สเตต เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time ว่า ในวัยเด็ก เธอได้ฉายา “เจ้าหนูจำไม” จากความช่างสงสัยและชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ นอกจากนี้ ครอบครัวของเธอยังปลูกฝังเรื่องความสำคัญของประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันทางเพศภายในครอบครัว และเชื่อว่าการอุทิศตนเพื่อสังคมเป็นภาระหน้าที่หนึ่งของมนุษย์

ชนพื้นเมืองอเมริกันหญิงกลุ่มแรกของสภาคองเกรส

 ชาริซ เดวิดส์AFPชาริซ เดวิดส์

นอกจากตัวแทนคนรุ่นใหม่และตัวแทนจากกลุ่มผู้ลี้ภัยจะได้มีที่นั่งในสภาแล้ว ชนพื้นเมืองอเมริกันเองก็ได้ส่งผู้แทนเข้าสู่สภาเช่นกัน ได้แก่ “ชาริซ เดวิดส์” ทนายความและนักสู้ศิลปะป้องกันตัว วัย 38 ปี ตัวแทนพรรคเดโมแครตจากรัฐแคนซัส และยังเป็นเลสเบียนชนพื้นเมืองคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งอีกด้วย

เดวิดส์เป็นสมาชิกชนเผ่าโฮ-ชังค์ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในวิสคอนซิน เธอเติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เคยเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี – แคนซัส ซิตี้ และศึกษาต่อในสาขานิติศาสตร์ที่คอร์แนล รวมทั้งทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ชนพื้นเมือง ร่วมมือกับพี่ชาย ก่อตั้งวิดีโอพอดแคสต์เกี่ยวกับผู้ประกอบการในเขต Greater Kansas City โดยเน้นที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง คนผิวสี และกลุ่ม LGBTQ นอกจากนี้ เธอยังมีไลฟ์สไตล์สุดเท่อย่างการฝึกศิลปะป้องกันตัวและเคยเข้าแข่งขันในรายการ Mixed Martial Arts (MMA) ทั้งประเภทสมัครเล่นและประเภทอาชีพด้วย

สำหรับนโยบายของเดวิดส์ เธอเรียกร้องให้มีการพิจารณาปัญหาความรุนแรงในการใช้ปืนเป็นวิกฤตสาธารณสุข สนับสนุนนโยบายประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการ (Medicaid) ให้ครอบคลุมถึงชาวอเมริกันทุกคน

เดบรา ฮาแลนด์AFPเดบรา ฮาแลนด์

ชนพื้นเมืองอเมริกันหญิงอีกคนหนึ่งที่ได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ “เดบรา ฮาแลนด์” ทนายความวัย 57 ปี และอดีตประธานพรรคเดโมแครตจากรัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งเป็นสมาชิกชนเผ่าปัวโบล พ่อของเธอเป็นอดีตนาวิกโยธินชาวอเมริกันเชื้อสายนอร์เวย์ ส่วนแม่เป็นชนพื้นเมืองที่ทำงานในกองทัพเรือสหรัฐฯ ฮาแลนด์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก และได้รับปริญญาด้านนิติศาสตร์ สาขาวิชากฎหมายเฉพาะของชนพื้นเมือง จากโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก

ในขณะที่ ส.ส. คนอื่นๆ ชูนโยบายด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ฮาแลนด์กลับให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการรับมือกับภาวะโลกร้อน ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดยมีสโลแกนประจำตัวว่า “ถ้าเราไม่มีโลก เราก็ไม่มีอะไรเลย”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook