ย้อนรอย “ประเทศกูมี” สู่ “ศิลปะของประชาชน” ที่ถูกปิดปาก

ย้อนรอย “ประเทศกูมี” สู่ “ศิลปะของประชาชน” ที่ถูกปิดปาก

ย้อนรอย “ประเทศกูมี” สู่ “ศิลปะของประชาชน” ที่ถูกปิดปาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งขณะนี้ กระแสศิลปะที่เสียดสีการเมืองและสังคมนับว่ามีสีสันมากทีเดียว จากการผงาดของเพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่มแร็ปเปอร์ “Rap Against Dictatorship” ในโลกออนไลน์ ซึ่งสั่นสะเทือนทั้งวงการเพลงและวงการการเมือง ตามด้วยนิทรรศการศิลปะของ “ไข่แมวX” นักเขียนการ์ตูนเสียดสีการเมืองชาวไทย และนิทรรศการศิลปะ “HAPPY ENDINGS” ของนักเขียนการ์ตูนตลกร้ายสัญชาติสเปนอย่าง Joan Cornellà ที่มาแสดงผลงานในกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

>> จาก “ประเทศกูมี” สู่บทวิพากษ์ “อิสรภาพแห่งศิลปะในเมืองไทย” โดย “Rap Against Dictatorship”
>> เปิดใจ 2 แร็ปเปอร์ “ประเทศกูมี” โต้ไม่รักชาติ แต่งเพลงหวังสะท้อนสังคมให้แก้ไข
>> เปิดใจ ผกก. MV ประเทศกูมี ปัดรับงานใส่ร้ายรัฐ ใจสู้ไม่ถอยถ้าถูกจับ

อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเหมือนว่าเหล่าศิลปินมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคม แต่นอกเหนือจากผลงานที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ ประเทศไทยยังมีงานศิลปะอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกรัฐจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะที่รัฐเองกลับสามารถใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างคะแนนนิยมได้อย่างเต็มที่และยาวนาน

ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัย ศิลปะในไทยก็ยังถูกปิดปาก?

ศิลปะกับอารยะขัดขืน

ในงานเสวนา "ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ. สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศิลปะมีอำนาจ เป็นเหมือนกล่องสำหรับใส่ข้อมูลที่เข้าใจยากลงไป แล้วศิลปินก็ปรุงแต่ง ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เข้าใจง่าย จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ดังนั้น รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่ใจไม่กว้างพอก็จะรู้สึกว่าอำนาจถูกกระทบ เพราะคนจำนวนมากสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ พร้อมทั้งระบุว่าการใช้ศิลปะในการต่อต้านอำนาจรัฐกับอารยะขัดขืนมีแนวคิดเหมือนกัน

“คอนเซ็ปต์ของการใช้ศิลปะกับคอนเซ็ปต์ของการใช้อารยะขัดขืนในการต่อต้านอำนาจรัฐ เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกัน ก็คือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐที่ไม่เป็นธรรม ไม่จำเป็นต้องต่อต้านโดยใช้กำลัง ไม่จำเป็นต้องต่อต้านโดยใช้ความรุนแรง แต่เราสามารถสื่อสารหรือต่อต้านในลักษณะของอารยะขัดขืนได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ศิลปะในการต่อต้านอำนาจรัฐ มันมีความเบาและเนียนกว่าการใช้อารยะขัดขืน ที่บางครั้งก็สร้างความยุ่งยาก อึดอัดใจให้กับผู้ปกครองประเทศมากกว่าการใช้ศิลปะ” ผศ. สาวตรีกล่าว

ดนตรีในการเมืองไทย

ในบรรดาศิลปะแขนงต่างๆ ดนตรีน่าจะเป็นศิลปะที่ถูกนำมาใช้ในการเมืองอย่างแพร่หลายมากที่สุด ทั้งในฐานะเครื่องมือในการสร้างโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล และเครื่องมือของประชาชนในการต่อต้านอำนาจรัฐ ด้วยคุณสมบัติที่ละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อ แต่สามารถจับใจของผู้ฟังได้อย่างอยู่หมัด ซึ่ง รศ.ดร.สุชาติ แสงทอง อาจารย์จากสาขาวิชาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้ให้ความเห็นว่า ดนตรีการเมืองบางอย่างอาจรับเข้ามาโดยผู้รับเข้ามาอาจจะไม่รู้ว่ามีนัยสำคัญทางการเมือง เช่น การรับเพลง God Save the Queen ที่เป็นเพลงชาติของอังกฤษเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 และนำมาแต่งเป็นเพลงจอมราชจงเจริญ ซึ่งเป็นเพลงสำหรับพระมหากษัตริย์ ทว่าในอีกทางหนึ่ง เพลงนี้ก็สะท้อนถึงการเมืองในยุคล่าอาณานิคม ทำให้ยังไม่มีความพยายามต่อต้านเพลงลักษณะนี้มากนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเพลงกับการเมืองของไทย เราคงมองข้ามยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นยุคสมัยที่บทเพลงทางการเมืองโดดเด่นมากที่สุด ทั้งการใช้เพลงปลุกใจให้รักชาติ การรณรงค์ให้ประชาชนทำตามนโยบายรัฐนิยมต่างๆ เช่น เพลงสวมหมวก ที่เชิญชวนให้ประชาชนหันมาสวมหมวกเพื่อให้ดูมีอารยะ หรือเพลงก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเชิญชวนให้ประชาชนประหยัดโดยการรับประทานก๋วยเตี๋ยว ที่ใช้พืชผักในประเทศไทย และมีคุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตาม บทเพลงรัฐนิยมในยุคนี้ ก็ยังถูกต่อต้านเช่นกัน โดย ผศ. สาวตรีเล่าว่า

“คุณเสน่ห์ โกมารชุน เคยแต่งเพลงเสียดสีนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ห้ามสามล้อเข้ามาขี่ในเขตพระนคร ชื่อว่าเพลง “สามล้อแค้น” คู่กับเพลง “ผู้แทนควาย” ปรากฏว่าถูกแบนค่ะ ห้ามเผยแพร่ในวิทยุกระจายเสียง เผด็จการจะแบนสิ่งเหล่านี้ โดยใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการบอกว่าสิ่งเหล่านี้ขัดต่อความมั่นคง สิ่งเหล่านี้มันกระทบต่อศีลธรรมอันดี เพราะฉะนั้น ลักษณะการแบนของผู้ใช้อำนาจมันก็สะท้อนให้เราเห็นได้ว่าศิลปะมันเข้าถึงคนง่ายจริงๆ” ผศ. สาวตรีกล่าว

นอกเหนือจากการใช้เพลงเพื่อต่อต้านนโยบายรัฐแล้ว รศ.ดร.สุชาติ ระบุว่าอุดมการณ์ทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามา “งัดข้อ” กับรัฐไทย โดยในยุคนั้นมีการรับเอาเพลงจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยมีเนื้อหาคล้ายการปลุกระดมเพื่อจะต่อต้านอำนาจรัฐ ขณะเดียวกัน นักปฏิวัติหลายคนที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้รับอิทธิพลจากเพลงเหล่านี้มาพพอสมควร ก่อนที่เพลงจีนจะเริ่มเสื่อมความนิยม และบรรดานักปฏิวัติก็สร้างสรรค์เพลงแนวใหม่ที่มีเพียงแนวคิด บทกวี และกีตาร์ อย่างบทเพลงปฏิวัติขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สุชาติได้กล่าวถึงลักษณะเด่นของบทเพลงปฏิวัติว่า “บทเพลงของรัฐ คนปฏิวัติไม่ได้แต่ง คนแต่งไม่ได้ปฏิวัติ แต่ในภาคประชาชน คนแต่งเป็นคนปฏิวัติ จะมีความเข้าอกเข้าใจในเชิงอุดมการณ์นี้มากกว่า”

แต่ในขณะที่เราพุ่งความสนใจไปที่ดนตรีกับการเมืองในศูนย์กลางการปกครองอย่างกรุงเทพฯ เสียงดนตรีที่ถูกลืมไปคือเสียงดนตรีของ “คนต่างจังหวัด” ที่พยายามสื่อสารถึงความทุกข์ยาก และการต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจารย์ ดร.ถนอม ชาภักดี จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวถึง “หมอลำ” ในฐานะเพลงกบฏที่ไม่เคยถูกนับเป็นกบฏ แม้จะมีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านอำนาจรัฐในอดีต นอกจากนี้ หมอลำยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งของรัฐไทยและพรรคคอมมิวนิสต์ ในการต่อสู้ช่วงสงครามเย็นด้วย โดย อาจารย์ ดร.ถนอม เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า

“CIA เคยพาหมอลำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แล้วก็ลำบนอากาศให้คนได้ฟัง เพราะฉะนั้น กลอนลำในช่วงสงครามเย็นจึงมีทั้งกลอนลำของคอมมิวนิสต์ มีทั้งกลอนลำของกองทัพสหรัฐฯ สู้กัน แต่งกลอนสู้กันแบบหมัดต่อหมัด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในแง่ที่ว่า กระบวนการต่อสู้โดยใช้ soft power มันมีมาตลอด แต่ปัญหาก็คือ ในช่วงที่ผ่านมา โครงสร้างของเผด็จการทหารมันมีความแยบยลมากกว่า มันสามารถปลุกเร้ากล่อมเกลาให้กระบวนการทางศิลปะตกเป็นเครื่องมือของเขา มากกว่าที่เราจะเอามาใช้

จากบทเพลงทางการเมืองที่เป็นเครื่องมือต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างเข้มข้นในยุคสมัยต่างๆ สู่บทเพลงร่วมสมัยอย่าง “ประเทศกูมี” ที่ผู้สร้างออกตัวว่าเป็นเพียงงานศิลปะสะท้อนสังคมมากกว่าปลุกระดมให้ประชาชนสู้กับรัฐบาล แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านดนตรีอย่าง รศ.ดร.สุชาติ กลับมองว่า เพลงนี้เป็น “เพลงปลุกใจของภาคประชาชนที่เบื่อรัฐ” ส่วน อาจารย์ ดร.ถนอม ก็มองว่าเพลงประเทศกูมีเปิดตัวมาในช่วงที่ผู้คนกำลังกระหายที่จะหาทางออกจากปัญหา และรอคอยคนที่จะมาพูดแทนตัวเอง แทนที่จะร่วมร้องเพลงเพื่อต่อสู้ไปด้วยกัน

ประเทศกูมีก็ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมแต่ในกลุ่มประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงบรรดาผู้ใช้กฎหมายด้วย เพราะทันทีที่มิวสิกวิดีวีดิโอแพร่กระจายไปในโลกออนไลน์ ตำรวจก็ออกมา “ใช้กฎหมาย” ทันควัน โดยอ้างว่าเพลงดังกล่าวผิดกฎหมายมาตรา 14 (2) และมาตรา 14 (5) ใน พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แต่สุดท้ายก็ต้องล่าถอยไป จากยอดไลก์และยอดแชร์หลายสิบล้านครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องนี้ “ยิ่งปิดปาก คนยิ่งอยากพูด ยิ่งปิดหู คนยิ่งอยากฟัง”

ที่จริงแล้ว เพลงประเทศกูมี ผิดกฎหมายหรือไม่ ผศ. สาวตรี ในฐานะนักวิชาการฝ่ายกฎหมาย ได้วิเคราะห์ว่า ในมาตรา 14 (2) ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกให้กับประชาชน...” หมายความว่าข้อมูลที่นำเข้านั้นจะต้องมีองค์ประกอบคือ เป็นเท็จ และน่าจะสร้างความเสียหาย

“ข้อความอันเป็นเท็จ คือข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบันที่ไม่ตรงกับความจริง ในเนื้อร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือมีอยู่จริงในประเทศไทย เพราะฉะนั้น การแต่งเพลงที่มีเรื่องราวเหล่านี้จึงไม่มีลักษณะการใส่ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ แม้จะมีถ้อยคำที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่อยู่ในเพลงดูรุนแรง เช่น อาชญากรรมสูงกว่าหอไอเฟล ดูรุนแรงเกินจริง แต่มันเป็นลักษณะของการเปรียบเปรย เพื่อให้ได้อรรถรส มันคือความคิดเห็น เพราะฉะนั้น ความคิดเห็นของผู้แต่งเพลงที่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจริงหรือเท็จ มันไม่สามารถเข้าองค์ประกอบความผิดได้ กฎหมายไม่ได้ห้ามประชาชนพูดความจริง ที่แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี ไม่อย่างนั้นกฎหมายคงบัญญัติไปแล้วค่ะ” ผศ. สาวตรีระบุ

สำหรับประเด็นเรื่องการสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ผศ. สาวตรี อธิบายว่า ประเทศหมายถึง ชาติ รัฐ บ้านเมือง แว่นแคว้น ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากรัฐบาลและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น ประเทศจึงไม่เท่ากับรัฐบาล หรือ คสช. และเนื้อร้องวิพากษ์วิจารณ์การทำงานและพฤติกรรมของ คสช. เจ้าหน้าที่รัฐ และศาล ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ประเทศ เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า กฎหมายคุ้มครองความมั่นคงของประเทศ ไม่ได้คุ้มครองความมั่นคงของรัฐบาลหรือ คสช.

“กฎหมายชัด แต่ผู้ใช้กฎหมายทำให้มันไม่ชัด นี่คือปัญหาของผู้บังคับใช้กฎหมาย การพูดถึงปัญหาของรัฐบาล องค์กรผู้ใช้อำนาจ ไม่ได้ทำให้ประเทศไม่มั่นคง แต่กลับกัน การกระตุ้นให้ประชาชนรับรู้ เกิดการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเหล่านั้น และปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขจริงๆ นี่ต่างหากที่จะทำให้ประเทศมั่นคง ส่วนมาตรา 14 (5) ผู้ใดเผยแพร่ส่งต่อโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลตาม 14 (1) (2) (3) (4) ก็คือ 14 (2) เมื่อกี้นี้ ก็จะมีความผิด เพราะฉะนั้น ถ้ามันไม่เข้ากับ 14 (2) แล้ว การแชร์จึงไม่มีทางที่จะเป็นความผิด ก็จบ” ผศ.สาวตรี อธิบาย

>> "ศรีวราห์" สั่งสอบเพลงแร็ป "ประเทศกูมี" กังวลเนื้อหาสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
>> ปอท.เร่งสอบแร็ป "ประเทศกูมี" ส่อผิด พรบ.คอมฯ คาดอีก 1-2 วัน รู้ผลชัด
>> "บิ๊กโจ๊ก" ยืนยันยังไม่เอาผิดเพลง "ประเทศกูมี" ระบุคิดต่างได้แต่ขอให้อยู่ในกรอบกฎหมาย

นอกจาก พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แล้ว ข้อกฎหมายอีกมาตราหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาเพื่อเอาผิดกลุ่ม Rap Against Dictatorship ก็คือ มาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุถึงการปลุกปั่นยั่วยุให้ประเทศชาติไม่สงบ กรณีนี้ ผศ.สาวตรีระบุว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจปกครอง เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการแสดงออก

“Khonkaen Manifesto” ทัศนศิลป์ที่ถูกปิดปาก

แม้ว่าทัศนศิลป์จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับดนตรี แต่การเคลื่อนไหวของศิลปินด้านทัศนศิลป์ก็ยังไม่วายถูกจับตามองจากภาครัฐ โดยกรณีล่าสุดคือการจัดนิทรรศการศิลปะ “Khonkaen Manifesto 2018” ของอาจารย์ ดร.ถนอม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561ในตึกร้างของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ GF ใน จ.ขอนแก่น ภายใต้แนวคิด “สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน” (Aesthetic of Resistance) เพื่อสะกิดต่อมความกบฏของคนต่างจังหวัด และสร้างการรวมพลังของคนกลุ่มนี้

“ตึกร้างนั้นเป็นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ GF ซึ่งเคยดูดเงินของคนอีสานจำนวนมหาศาล ในช่วงทศวรรษ 2530 จนถึงช่วงฟองสบู่แตก พ.ศ. 2540 พวกผมก็ไปจัดนิทรรศการศิลปะ ชื่อว่า ‘เทศกาลศิลปะขอนแก่นแม่นอีหลี : เหลื่อม มาบ มาบ #1’ ผมอยากย้อนรอยว่า การเปิดให้ภูมิภาคมีความเจริญ น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก ในทศวรรษ 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ขึ้นใน พ.ศ.ปี 2510 ขอนแก่นกลายเป็นโมเดลสำคัญที่ทำให้ส่วนกลางเข้าไปคุกคาม ทำลายโครงสร้างของวิถีความเป็นสามัญของชาวบ้าน” อาจารย์ ดร.ถนอมอธิบาย พร้อมเล่าถึงประสบการณ์การถูกควบคุมงานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการยกเลิกกิจกรรม การเซนเซอร์ผลงานบางหัวข้อ โดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน

อาจารย์ ดร.ถนอม ชาภักดี กับบรรยากาศภายในนิทรรศการศิลปะ Khonkaen Manifesto 2018Thanom Chapakdeeอาจารย์ ดร.ถนอม ชาภักดี กับบรรยากาศภายในนิทรรศการศิลปะ Khonkaen Manifesto 2018

“เราทำงานบนความเสี่ยง แต่ถ้าไม่เสี่ยง เราก็ไม่สามารถขัดขืนได้ ทหารถามว่าทำไมอาจารย์ไม่ไปจัดงานที่หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ผมตอบว่างานที่ด่ารัฐบาล เขาไม่ให้จัดอยู่แล้ว เราก็ต้องอาศัยแบบนี้ ดูไป แสดงไปพร้อมกับดมขี้ไก่ไป ผมคิดว่าพื้นที่การแสดงออกทางศิลปะอย่าไปเลือก ทำได้หมด เพราะการต่อต้านมันไม่เลือกวิธีการ ประเทศนี้มีพื้นที่การต่อต้านทุกหย่อมหญ้า จ.ขอนแก่นไม่เคยได้แสดงสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้น ช่วงระยะเวลาจัดงาน 3 อาทิตย์เต็มๆ ที่นี่กลายเป็นพื้นที่รองรับอารมณ์ของคนขอนแก่น ผมบอกว่าใครอยากพ่นกราฟิตี มาเลย ใครอยากร้องรำ ใครอยากเป่าแคน มาเลย ฉายหนังทุกวัน ทุกวันจะมีคนดู 4 คน ตำรวจ 2 คน เจ้าหน้าที่ความมั่นคง 2 คน”

ศิลปะทุกแขนงสามารถหยิบยื่นความน่าละอายให้กับเผด็จการได้ นั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการ อะไรที่ล้อได้ อะไรที่ทำให้สนุกได้ ทำให้ตรง ฉะนั้น การแสดงที่ตึกร้างเป็นการเยาะเย้ยว่าหอศิลป์ที่มีอยู่ทั่วประเทศมันไม่มีผลอะไรต่อประชาชน งานศิลปะที่นี่สามารถถ่ายรูปเซลฟีได้ ปฏิสัมพันธ์กับคนได้ ศิลปะไม่สามารถที่จะเอาไปแขวนบนเพดานเพื่อให้คนแหงนดู หรือเพื่อให้คนกราบไหว้ ศิลปะคือสิ่งที่คนสัมผัสได้” อาจารย์ ดร.ถนอมสรุป

“การละคร” ศิลปะที่ไม่ได้มีแค่บันเทิง

ในขณะที่ศิลปะแขนงอื่นๆ ถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐ ศิลปะการละครกลับไม่ได้ถูกควบคุมอย่างรุนแรงเท่ากับศิลปะประเภทอื่น อาจเป็นเพราะการละครถูกมองว่าเป็นความบันเทิงมากกว่าช่องทางในการวิพากษ์การเมือง แต่ที่จริงแล้ว ประเทศไทยยังมีกลุ่มละครที่พยายามต่อต้านอำนาจรัฐ โดยการนำเสนอประเด็นทางการเมืองและสังคมด้วย และไม่เพียงแต่การนำเสนอประเด็นเท่านั้น ละครเหล่านี้ยังใช้ “รูปแบบ” ในการแสดงออกเพื่อต่อต้านขัดขืนอำนาจรัฐด้วย

“ในทางการละครจะมีละครแบบสมจริง ที่เรียกว่า Realistic เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 แต่วันหนึ่งก็มีนักการละครอีกกลุ่มลุกขึ้นมาต่อต้านว่า รูปแบบที่สมจริงมันไม่ทำให้คนคิดหรือตั้งคำถาม นักการละครกลุ่มนี้ก็เลยคิดรูปแบบที่เรียกว่า Anti-realism คือปฏิเสธความสมจริง โดยบอกว่าความสมจริงทั้งหลายทั้งปวงไม่สามารถพูดถึงความเป็นจริงของมนุษย์ในสังคมได้มากเท่าความไม่สมจริง เพราะความไม่สมจริงมันมีพื้นที่ให้กับความสร้างสรรค์อีกมากมายอาจารย์ ดร.ภาสกร อินทุมาร จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเกี่ยวกับรูปแบบละครใหม่ๆ ที่สร้างพื้นที่ในการสื่อสารความคิดของนักละคร พร้อมยกตัวอย่างละครเวทีของกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว ที่ดัดแปลงบทละครจากต่างประเทศ มาเป็นบทละครเวทีที่ระลึกถึง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และจัดแสดงใน พ.ศ.ปี 2559 หรือครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

“เราไปเอาบทละครชื่อ ‘Death and the Maiden’ ของชิลี ซึ่งเป็นละครที่สะท้อนเหตุการณ์ที่นายพลปิโนเชต์ทำรัฐประหารและอยู่ในอำนาจนาน 10 กว่าปี แล้วก็มีการทำร้าย ทารุณกรรม ข่มขืนนักกิจกรรมที่ต่อต้าน นักกิจกรรมคนหนึ่งหนีไปได้ และเมื่อนายพลปิโนเชต์ลงจากอำนาจ นักกิจกรรมผู้นี้จึงเขียนบทละครขึ้นมา เพื่อตั้งคำถามว่าความจริงในช่วงเวลานั้นคืออะไร แล้วรัฐบาลจะออกมาขอโทษไหม จากการกระทำความรุนแรงต่อประชาชน กลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยวจึงเอาละครเรื่องนี้มารื้อและเล่าใหม่ แล้วเสียบเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เข้าไปบ้าง เพื่อที่จะตั้งคำถามต่อสังคมไทย ต่อรัฐไทย ต่อชนชั้นนำไทย ตั้งคำถามต่อความจริงที่ถูกปกปิดมาตลอด” อาจารย์ ดร.ภาสกรกล่าว

บรรยากาศในการแสดงละครเวทีเรื่องบางละเมิดB-floorบรรยากาศในการแสดงละครเวทีเรื่องบางละเมิด

และแม้ว่าการละครจะยังไม่ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐมากนัก ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูเป็นความบันเทิง แต่ก็ยังมีกลุ่มละครบางกลุ่มที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองและสังคม จนทำให้ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มละครบีฟลอร์ เจ้าของผลงานละครเวทีเรื่อง “บางละเมิด”

“กลุ่มละครบีฟลอร์เป็นกลุ่มละครที่ทำประเด็นทางสังคมและการเมืองมาตลอด อย่างละครที่ชื่อบางละเมิดก็ถูกคุกคาม ตั้งแต่การขอดูบท และแต่ละรอบของการแสดงก็มีทหารมานั่งดูทุกรอบ ถ่ายวิดีวีดิโอ แต่การแสดงเรื่องนี้มันไม่ใช่การแสดงแบบสมจริง ถ้าคนที่ไม่ได้ติดตามประเด็นทางสังคมก็อาจจะงง ว่าเล่นอะไร เป็นสัญลักษณ์บ้างอะไรบ้าง ทหารที่มาดูก็อาจจะไม่รู้เรื่องเช่นกัน ก็โดนนักแสดงกลั่นแกล้งบ้างก็มี เอามาเล่นด้วยเลย แสดงว่าศิลปะมันกำลังสำแดงฤทธิ์อะไรบางอย่างอยู่ ทั้งที่เมื่อก่อนมันอาจจะไม่ถูกกล่าวถึงเท่าไร” อาจารย์ ดร.ภาสกรเล่า

นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.ภาสกรยังระบุว่า ในบางกรณี ละครเวทีก็เป็นเพียงช่องทางเดียวในการแสดงออกของประชาชน ด้วยขนาดที่เล็กและไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มากมาย อย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ช่วงที่ขับไล่ผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส สื่อทั้งหมดถูกปิดกั้น ทว่ากลุ่มการละครกว่าร้อยกลุ่มกลับพากันกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อแสดงละครเกี่ยวกับภาวะที่ถูกกดขี่โดยมาร์กอสให้ประชาชนชม โดยใช้เพียงร่างกายและเสียง จนสุดท้ายก็สามารถขับไล่มาร์กอสได้สำเร็จ แม้จะมีนักการละครถูกฆาตกรรมเป็นจำนวนมากก็ตาม

ศิลปินและประชาชนจะอยู่อย่างไร

ในภาวะที่กฎหมายยังคลุมเครือและสามารถเอาผิดผู้ที่เห็นต่างได้อย่างง่ายดาย ศิลปินและประชาชนจึงจำเป็นต้อง “อยู่เป็น” เพื่อความปลอดภัย นั่นหมายความว่าประชาชนจะไม่สามารถใช้ศิลปะในการส่งเสียงของตัวเอง ทว่าการมาถึงของเพลงประเทศกูมีอาจเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนที่กำลังอึดอัดคับข้องใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในบ้านเมือง และอาจเป็นสัญญาณการต่อสู้ครั้งใหม่ของประชาชนก็เป็นได้

“เพลงนี้คือการส่งสัญญาณเพื่อบอกว่า จริงๆ แล้วเราควรสร้างรสนิยม สร้างศิลปะโดยฐานของเราเอง ซึ่งตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา เราไม่เคยสร้างศิลปะด้วยกระบวนการของประชาชนเลย ใน ค.ศ.ปี 1930 ฮิตเลอร์เคยดูถูกงานศิลปะว่าเป็นศิลปะเสื่อมทราม ทั้งๆ ที่เป็นศิลปะที่พูดถึงความยากจนข้นแค้นของชาวเยอรมัน พ.ศ. ปี 2561 ในประเทศไทย รัฐบอกว่านี่คือเพลงที่ไม่มีรสนิยม นี่คือรสนิยมของประชาชนที่เราต้องพูดออกมาผ่านกระบวนการทางศิลปะ ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม ผมว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องยกธงขึ้นมาพร้อมกัน เพื่อปลุกปลอบและเป็นตัวสะท้อนเรื่องราวการต่อสู้ของผู้คนที่ถูกทับถมอยู่ตลอดเวลา” อาจารย์ ดร.ถนอมสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook