คดีข่มขืน "บ้านเกาะแรด" กับบทเรียนที่สังคมควรรู้
เดือนกันยายน 2560 สังคมไทยได้รับรู้ข่าวอันน่าสะเทือนใจ เกี่ยวกับชะตากรรมของเด็กผู้หญิงวัย 15 ปี ที่ถูกผู้ชายจำนวน 40 คน ในชุมชนบ้านเกาะแรด อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง โดยเหตุสลดใจดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 ขณะที่เด็กหญิงอายุ 14 ปี ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรื่องราวของเธอกลายเป็นคดีความ เด็กหญิงและครอบครัวของเธอต้องตกเป็นเป้าโจมตีจากคนในชุมชน ทั้งการถูกข่มขู่ และถูกกล่าวหาว่ากุเรื่องเพราะต้องการเงินจากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ ส่วนญาติพี่น้องก็ได้รับผลกระทบจากความเกลียดชังนี้ไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งหมด 11 คน และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา
>> จำคุกตลอดชีวิต 7 ชายหื่นรุมโทรมเด็ก 14 ปี อีก 4 โทษจองจำ 15-45 ปี
สำหรับคนนอกชุมชนที่เสพข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะดูเหมือนภาพยนตร์ดราม่าบีบคั้นจิตใจสักเรื่อง แต่ขอบอกว่าเรื่องราวของคดีนี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุจนกระทั่งมีคำพิพากษาจากศาลนั้นดราม่ายิ่งกว่าภาพยนตร์เสียอีก แต่อย่างไรก็ตาม คดีบ้านเกาะแรดนี้กลับสะท้อนถึงความกล้าหาญของผู้เสียหาย ขณะเดียวกันก็ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับคนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์และกฎหมาย รวมทั้งอาจจะเป็นกรณีตัวอย่างของสังคมในการป้องกันไม่ให้เกิดคดีล่วงละเมิดทางเพศด้วย
ความร่วมมือเพื่อผู้เสียหาย
แม้จะเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินคดีครั้งนี้เป็นชัยชนะของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้มาจากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ผู้เสียหาย ตั้งแต่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.พังงา มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ จ.ภูเก็ต กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
คุณดารารัตน์ สุเทศ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.พังงา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานในคดีบ้านเกาะแรด ในงานเสวนา “มองรอบด้าน บทเรียนหลังคำพิพากษา คดีบ้านเกาะแรด พังงา” ว่าภารกิจครั้งนี้ถือว่ากดดันพอสมควร เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริง ขณะเดียวกัน การเข้าถึงตัวเด็กเพื่อสอบถามข้อมูลก็เป็นเรื่องยาก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ชาวมุสลิมจากมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ จ.ภูเก็ต ที่เข้ามาช่วยเก็บข้อมูล ทำให้ได้ทราบว่าที่จริงแล้วผู้ก่อเหตุอาจมีมากกว่า 3 คน และทำให้เธอตัดสินใจพาเด็กหญิงผู้เสียหายออกจากชุมชน เพื่อความปลอดภัย
“สิ่งที่ถือว่าเป็นความลำบากก็คือ น้องบอกว่า ถ้าน้องจะออกจากชุมชน ต้องเอาพ่อแม่และเด็กที่เป็นพยานออกมาด้วย ข้อที่ 2 คือ น้องบอกว่าน้องเรียนหนังสือดี ได้ทุนการศึกษาจากโรงเรียน และครอบครัวน้องยากจน ถ้าเกิดน้องออกมา ต้องได้เรียนหนังสือ ข้อที่ 3 คือ น้องและครอบครัวเป็นห่วงแปลงข้าวโพดที่กำลังงอกงาม โชคดีที่เราไม่ได้ทำงานคนเดียว ยังมี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัด มีท่านอัยการ มานั่งคุยถกเถียงกันว่าจะเอาอย่างไร” คุณดารารัตน์เล่าถึงเงื่อนไขที่เกือบจะเป็นข้อจำกัดในการพาผู้เสียหายออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะเงื่อนไขข้อแรก เนื่องจากทางบ้านพักเด็กไม่สามารถรับผู้ชายเข้ามาอยู่ในบ้านได้ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจจ้างพ่อและแม่ของเด็กเข้าทำงานในบ้านพักเด็ก และ “แอบ” พาทั้งครอบครัวออกมาได้ในเย็นวันต่อมา
“พอเข้ามาที่บ้านได้ 2 – 3 วัน น้องก็เชื่อมั่นว่าหน่วยงานราชการสามารถช่วยเขาได้ เขาก็เริ่มคายข้อมูล จาก 3 คน กลายเป็น 11 คน จาก 11 คน กลายเป็น 30 กว่า เกือบ 40 คน แล้วเราก็เอามาสรุป หลังจากนั้น จังหวัดก็ประชุมใหญ่ โดยเชิญคณะกรรมการคุ้มครองเด็กระดับจังหวัดมา แล้วก็แจกเอกสารที่ว่านั้น แต่เราลืมเก็บเอกสารลับนั้น ดังนั้น เอกสารฉบับนั้นก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วจังหวัด อันนี้คืออีกหนึ่งบทเรียนในการทำงานที่ว่า ‘ส่งผิด ชีวิตเปลี่ยน’” คุณดารารัตน์เล่าถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จนเหตุการณ์ครั้งนี้แพร่กระจายถึงหูประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชน ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีในวันรุ่งขึ้นทันที
เมื่อสถานการณ์ผลักให้คดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเร็วกว่าที่คิด ความท้าทายครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ในคดีทางเพศ จะมีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้หญิง พนักงานสอบสวนผู้หญิง อัยการผู้หญิง รวมถึงผู้พิพากษาหญิง เป็นผู้ดำเนินการ ทว่าสำนักงานอัยการจังหวัดพังงาไม่มีอัยการที่เป็นผู้หญิง จึงกลายเป็นหน้าที่ของคุณจิรวัฒน์ สวัสดิชัย อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดพังงา ที่จะทำงานร่วมกับผู้เสียหายต่อไป โดยจากสำนวนครั้งแรก มีการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 คน จากคำให้การของผู้เสียหาย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม 2561
>> นัดแรกพบ! ศาลพังงาไต่สวนพยานคดีรุมโทรมเด็กหญิงวัย 14 บ้านเกาะแรด
“ในช่วงสืบพยานคดีทางเพศมันยากตรงที่ว่า อัยการเป็นผู้ชาย ผู้เสียหายเป็นผู้หญิง เขาจะไว้ใจเราไหม เขาจะกล้าพูดไหม ซึ่งการนำเสนอของพยานฝ่ายโจทก์ต้องสื่อให้ศาลเห็นเลยนะครับว่ามีการกระทำจริงๆ ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องหยาบคายในทางกฎหมาย ฉะนั้น ถ้าผมถามแบบนี้กับเด็ก เด็กจะกล้าตอบไหม เพราะผมไม่ได้คลุกคลีกับเด็กเลย มาเจอกันวันที่สืบพยาน ผมก็บอกว่า ให้น้องเบิกความครั้งเดียวจบนะ แล้วมันจะจบเลย จะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีก เพราะฉะนั้น เอาให้ชัด อย่าไม่กล้าหรือเก็บไว้จนมันไม่จบ” คุณจิรวัฒน์เล่าถึงความท้าทายในการสืบพยานแบบ “เจ็บแต่จบ” ในคดีที่ละเอียดอ่อนและกินเวลานานวันละหลายชั่วโมง แต่ในที่สุดก็ผ่านไปได้ด้วยดี
แม้ว่าการสืบพยานที่ต้องซักถามผู้เสียหายอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังต้องนำตัวผู้เสียหายขึ้นศาลและเผชิญหน้ากับฝ่ายจำเลย จะดูเหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย แต่หากมองในมุมกลับ การที่ผู้เสียหายปรากฏตัวในศาลต่อหน้าผู้พิพากษา ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ศาลและทนายฝ่ายจำเลยได้เห็นความทุกข์และความเจ็บปวดของผู้เสียหาย ซึ่งมีผลต่อคำพิพากษาในที่สุด
พลังของผู้เสียหาย
“นี่คือการต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้สมการที่เรียกว่า Powerful ปะทะกับ Powerless” คุณทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในคณะทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายคดีบ้านเกาะแรด ให้คำจำกัดความของคดีนี้ ซึ่งหมายถึงการปะทะกันระหว่างผู้เสียหายที่เป็นเพียงเด็กผู้หญิงธรรมดา กับผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ และมีอำนาจทางเพศในชุมชนมาอย่างยาวนานจนยากที่จะโค่นล้มลงได้
“หน้าที่ของเราก็คือเสริมพลังให้กับคนที่มีอำนาจในการต่อรองน้อยกว่า ไม่ใช่ว่าเราเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหา แต่เมื่อเราพบว่ามีคนที่มีอำนาจน้อยกว่า หน้าที่ของเราก็คือปรับสมดุลทางอำนาจด้วยการหาสิ่งที่ไปเพิ่ม ทำให้ความสามารถในการต่อสู้มันไปด้วยกันได้” คุณทิชาอธิบายแนวคิดในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ให้สามารถเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต และบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินคดีได้ในที่สุด
ด้านคุณดารารัตน์ ที่ทำงานกับผู้เสียหายมาตั้งแต่ต้นก็ระบุว่า เธอเชื่อมาตลอดว่าการให้ผู้เสียหายพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เหมือนกับการกระทำซ้ำต่อเด็ก แต่เมื่อได้รู้จักกับคุณทิชาและคุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง จากมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เธอก็ได้รู้ว่า การให้เด็กได้เผชิญหน้ากับความกลัว และบอกเล่าเรื่องราวผ่านการเขียนจดหมายโต้ตอบ เป็นการเปิดแผลเพื่อกรีดเอาหนองออก และเมื่อเวลาผ่านไป แผลก็จะตกสะเก็ด และไม่มีอาการอักเสบอีกต่อไป
เช่นเดียวกับคุณอรวรรณ วิมลรังครัตน์ ทนายโจทก์ร่วม ที่ใช้แนวคิดนี้ในการทำงานกับผู้เสียหาย ก่อนเบิกความในศาล
“ก่อนที่เด็กจะขึ้นศาล เราก็ทำการบ้านโดยการไปพบเด็ก พูดคุยกับเด็ก ให้เด็กกล้า เหมือนกับว่าถ้าเด็กขึ้นศาล เจออัยการ เจอผู้พิพากษา เจอจำเลย แล้วเด็กจะไม่กล้าเบิกความ ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์บางคนบอกว่าเป็นการซ้ำเติมเด็กหรือเปล่า แต่ในความเป็นทนาย เรารู้สึกว่าเมื่อเด็กได้พูดแล้ว มันเหมือนเด็กได้ปลดปล่อย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็หลายครั้ง ให้เขาค่อยๆ ย้อนเหตุการณ์ไป ช่วงจังหวะหนึ่งเขาก็ค่อยๆ ระลึกเหตุการณ์ได้ ช่วยให้อัยการทำงานได้สบายขึ้น” คุณอรวรรณกล่าว
นอกจากการเสริมพลังโดยนักสังคมสงเคราะห์และนักกฎหมายแล้ว ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยให้คดีนี้ประสบความสำเร็จ คือความสามารถของผู้เสียหายในการจดจำและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะผ่านมานานเป็นปีแล้ว ซึ่งคุณจิรวัฒน์ก็ยอมรับว่าเด็กหญิงผู้เสียหายนั้นเก่งมาก
“โชคดีอย่างหนึ่งในคดีนี้ คือตัวเด็กเองสามารถจดจำ ลำดับเหตุการณ์ได้ว่าใครทำอะไรเขา เด็กจำวันได้เป๊ะๆ เลย ในขณะที่ผู้ใหญ่จำไม่ได้เลย เขาสามารถผูกโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ เช่น คืนนี้ตรงกับช่วงนี้ คืนนี้หลังเปิดเทอม 1 วัน คืนนี้มีเทศกาลชุมชน ทำให้เราสะดวกในการร่างฟ้อง แล้วก็จำหน้าคนร้ายได้ ก็แน่นอน เป็นคนในชุมชน เป็นคนหมู่บ้านข้างเคียงที่เขาเคยเห็น” คุณจิรวัฒน์เล่า
แต่ไม่ว่าจะเสริมพลังด้วยวิธีการใดก็ตาม หากพื้นฐานจิตใจและครอบครัวของผู้เสียหายไม่เข้มแข็ง การดำเนินคดีครั้งนี้ก็อาจจะยากยิ่งกว่า ซึ่งในงานเสวนาได้มีการเปิดคลิปสัมภาษณ์แม่ของผู้เสียหาย ที่ลุกขึ้นมาสู้พร้อมกับลูกสาว แม้ว่าสุดท้ายจะต้องออกจากชุมชน และพลัดพรากจากญาติพี่น้องก็ตาม โดยแม่ได้กล่าวว่า เธอและลูกสาวจะต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อความยุติธรรม และการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อลูกสาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้เพื่อเด็กผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ แม่ยังระบุว่าเธอและลูกไม่ได้โดดเดี่ยวเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีหลายคนเข้ามาช่วยเหลือ ขอเพียงให้ลูกตั้งใจเรียน และปล่อยให้อดีตผ่านไป
“ถ้าแม่เด็กไม่เข้มแข็งและลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับลูก มันก็คงจบลงด้วยการเจรจาในชุมชนแค่นั้น แต่นี่แม่เขาปกป้องลูก รักลูกมาก และปกป้องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นกับลูก” คุณอรวรรณยืนยัน พร้อมระบุว่า ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการบังคับคดี ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครอบครัวของผู้เสียหาย และในขณะที่ครอบครัวนี้ต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ สังคมใหม่ หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ก็มีการบ้านที่จะต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย
คดีบ้านเกาะแรดบอกอะไรกับสังคม
ในขณะที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ จนชีวิตต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล ความสูญเสียนั้นไม่ได้เกิดกับเธอและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีครอบครัวของจำเลยอีกหลายครอบครัวต้องสูญเสียเช่นกัน ซึ่งคุณทิชามองว่าเรื่องนี้มีสาเหตุจากการปล่อยให้ผู้ชายใช้อำนาจทางเพศอย่างไร้ขอบเขต จนนำไปสู่บทเรียนราคาแพงในที่สุด
“ถ้าชุมชนใดก็ตามตระหนักในพฤติกรรมทางเพศของผู้ชาย แล้วลุกขึ้นมาถ่วงดุลกัน ตักเตือนกัน ไม่อนุญาตให้มันเกิดขึ้น เราเชื่อว่าเคสนี้จะไม่เลยเถิดมาจนถึงวันนี้ วันที่ศาลพิพากษาให้จำเลยผิดทุกคน และหลายคนก็เป็นผู้สูงอายุ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตมาสัมผัสกับเสรีภาพอีกหรือไม่ เขาอาจจะเป็นพ่อหรือปู่ของเด็กสักคน ทุกคนมีวงจรชีวิตที่ใหญ่โตเยอะแยะไปหมด แต่เขาต้องมาอยู่ในศาลเพื่อถูกดำเนินคดี เพราะสังคมไทยอ่อนแอใช่หรือไม่ เราปล่อยให้พฤติกรรมอย่างนี้มันเกิดขึ้นอย่างไร้ขอบเขต ถ้าสังคมเข้มแข็ง และไม่ยินยอมให้ใครก็ตามใช้อำนาจทางเพศของตัวเองกับคนที่อ่อนด้อยกว่า เราจะไม่เห็นมนุษย์เหล่านี้มานั่งอยู่ในศาล” คุณทิชากล่าว
>> เหยื่อข่มขืนพังงาเครียด ถูกส่งโรงพยาบาลพร้อมแม่
>> คนเกาะแรดเครียด เจอสังคมกดดัน-รังเกียจ ปมฉาวรุมโทรม 40 คน
>> คดีข่มขืนรุมโทรมเด็ก 14 กระทบธุรกิจท่องเที่ยวเกาะแรด
ด้านคุณจิรวัฒน์ก็มีความเห็นไปในทางเดียวกับคุณทิชา โดยเฉพาะการห้ามปรามผู้ที่จะกระทำผิด หรือช่วยเหลือเหยื่อโดยการแจ้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะนิ่งเฉย
“เคสนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หรืออาจจะเกิดขึ้นแต่ไม่รุนแรงเท่านี้ ถ้าคนในสังคมนั้น พอรู้เรื่องว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น คอยห้ามปรามบุคคลที่จะไปร่วมกระทำต่อ หรือช่วยเหลือเหยื่อโดยการไปแจ้งความต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ความเป็นธรรมมันก็ต้องเกิดขึ้นกับตัวเองก่อน เราต้องให้ความเป็นธรรมกับตัวเองและคนอื่นก่อน อย่าไปคาดหวังว่า ถึงแม้ฉันจะไม่ให้ความเป็นธรรม ไม่สนใจ แต่ตำรวจกับหน่วยงานรัฐก็ต้องเข้ามา เราต้องหาทางป้องกันมากกว่า เพราะว่าผลเสียที่เกิดขึ้น ถ้ามันไม่เกิดกับตัวคุณหรือลูกหลาน คุณไม่รู้หรอกครับ”
ส่วนคุณดารารัตน์ก็มองว่า จากคดีนี้ คนไทยไม่ควรจะสนใจเฉพาะความปลอดภัยภายในบ้านของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องคอยเป็นหูเป็นตา ดูแลสังคมรอบข้างด้วย เพราะปัญหาสังคมต่างๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด และมันอาจจะเข้ามาคุกคามความปลอดภัยในบ้านได้เช่นกัน