เตือนชายไทยระวังถูกหลอก ผลิตภัณฑ์ I-RD อวดอ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ
อย. เตือนชายไทยระวังถูกหลอก โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร I-RD ทางสื่อออนไลน์อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในทำนองช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ย้ำไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดช่วยเพิ่มขนาดหรือรักษาผู้ที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศให้หายได้ อย่าหลงเชื่อซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด อาจสูญเสียเงินและเป็นอันตรายได้ ผู้ที่มีปัญหาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาและฟื้นฟูเท่านั้น เตือนผู้ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร I-RD ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านทางสื่อเฟซบุ๊กชื่อ “Wipavadee Choopong” นั้น อย. ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามเรื่องร้องเรียนพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงข้อความในทำนองช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ...คุณค่าที่ชายไทยคู่ควร I-RD #ชายท่านใดที่มีปัญหาเรื่องบนเตียงไอเรทช่วยคุณได้
ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิดเป็นเพียงอาหารชนิดหนึ่ง ไม่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ และไม่ได้ช่วยเพิ่มขนาดหรือรักษาผู้ที่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศให้หายขาดได้
ขอให้ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยไม่มีความจำเป็นแล้ว หากมีโรคประจำตัวอาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึงได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาและฟื้นฟูเท่านั้น เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ตรงจุด
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนผู้ขายที่โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโอ้อวดเกินจริงผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยที่ผ่านมา อย. ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดเฝ้าระวัง และมีการตรวจจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณสารพัดในรูปแบบต่างๆ ที่แฝงมาโดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นตัวแทนรีวิวสรรพคุณสินค้า ส่วนมากจะพบโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ เคเบิลทีวี วิทยุหรือตามหนังสือพิมพ์
อย. จะเรียกตัวผู้ที่กระทำความผิดมาดำเนินการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ขอให้บริษัทระมัดระวัง อย่าปล่อยให้ผู้ขายที่เป็นลูกข่ายทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดเกินจริง ซึ่งจะมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแสกับ อย. ที่สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @Fdathai หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด