คดีพลิก! ไฟช็อตเด็กชายวัย 12 ตายคากองไม้พะยูง เพื่อนสารภาพเข้าไปขโมย

คดีพลิก! ไฟช็อตเด็กชายวัย 12 ตายคากองไม้พะยูง เพื่อนสารภาพเข้าไปขโมย

คดีพลิก! ไฟช็อตเด็กชายวัย 12 ตายคากองไม้พะยูง เพื่อนสารภาพเข้าไปขโมย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีสองสามีภรรยา ชาวบ้านแก้งเรือง หมู่ 15 ตำบลนาจะหลวย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี เดินทางเข้าขอความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงและขอความเป็นธรรมในกรณีลูกชายอายุ 12 ปี ที่ถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตในบริเวณรั้วล้อมของกลางไม้พะยูง เขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อ.นาจะหลวย เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยร่างกายของเด็กยังมีร่องรอยคล้ายถูกทำร้าย แต่ไม่มีความคืบหน้าทางคดี และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางอุทยานฯ ซึ่งกลัวว่าเรื่องคดีความของลูกชายจะเงียบ จึงเข้ามาขอความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน

ครอบครัวเด็กชายวัย 12 เข้าร้องขอความเป็นธรรม

หลังจากที่เกิดเรื่องตนได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.นาจะหลวย และเข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะเกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเหตุเกิดที่เขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ของทางอุทยานได้นำพวงหรีด และเงินช่วยเหลืองานศพจำนวน 30,000 บาท และได้นัดเจรจาเงินเยียวยากับทางอุทยานฯหลายรอบ

นางอุไร ระบุว่าทางอุทยานฯ จะขอช่วยเหลือเยียวยารวมทั้ง 90,000 บาทเท่านั้น ซึ่งตนและครอบครัวบอกว่าเงินจำนวนนี้ มันไม่สามารถที่จะมาทดแทนกับชีวิตของลูกชายได้เลย ซึ่งตนขอให้ทางอุทยานฯ ช่วยเหลือมากกว่านั้นได้ไหม แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบอีกเลย ซึ่งผ่านมากว่าหนึ่งเดือน ก็ยังไม่มีความชัดเจน จึงมาขอความเป็นธรรมและขอให้ทางอุทยานฯ ได้เห็นใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย เพราะการที่อุทยานฯ ปล่อยกระแสไฟฟ้าในรั้วนั้นก็ไม่เคยแจ้งให้ชาวบ้านรู้มาก่อน และอีกอย่างจุดที่เกิดเหตุก็ติดกับสวนของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางนั้นเดินทางไปเล่นน้ำที่แก่งคลองหลวงเป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กๆในชุมชน

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี

ความคืบหน้าล่าสุด (24 พ.ย. 61) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า หลังเกิดเรื่องเด็กเข้าไปในพื้นที่ของอุทยานและถูกไฟช็อตเสียชีวิต ตนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า เด็กกลุ่มนี้รวมถึง ด.ช.เฟรม  (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ผู้เสียชีวิต เคยเข้ามาในพื้นที่เก็บไม้พะยูงมาแล้ว ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยได้ลักลอบนำท่อนไม้พะยูงออกไป 2 ท่อน ครั้งนั้นสามารถจับกุม ด.ช.จูเนียร์ (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ได้เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ซึ่งตามบันทึกจับกุมระบุไว้ชัดเจนว่า ด.ช.จูเนียร์ ให้การว่าเดินทางลักลอบเข้าไปในพื้นที่ ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน ในจำนวนนี้มีน้องเฟรมรวมอยู่ด้วย ส่วนพฤติการณ์คือ เด็กกลุ่มนี้ใช้อุปกรณ์ตัดลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ ทำให้เซฟตี้คัตทำงานจึงไม่เกิดไฟฟ้าดูด ก่อนจะลอบเข้าไปนำไม้พะยูงออกมา แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถตามนำของกลางกลับคืนมาได้

ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับเด็ก เนื่องจากมีการระบุไว้ท้ายบันทึกว่า เห็นแก่ผู้ก่อเหตุเป็นเด็กยังศึกษาอยู่ จึงไม่เอาเรื่องตามกฎหมาย ซึ่งตนถือว่ามีความเป็นผู้พิทักษ์ที่มีความเสียสละ หัวใจยิ่งใหญ่

นายชัยวัฒน์อธิบายลักษณะรั้วที่ล้อมพื้นที่เก็บไม้ว่า มีลักษณะล้อมพื้นที่ 2 ชั้น รั้วลวดหนามชั้นนอกจะไม่มีกระแสไฟฟ้า ถัดเข้าไปอีกประมาณ 6-7 เมตร จะเป็นกองไม้พะยูงที่ถูกพันไว้ด้วยลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นจุดที่ ด.ช.เฟรม ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ซึ่งช่วงเวลาขณะเกิดเหตุมีฝนตกหนัก ทำให้เซฟตี้คัตไม่ทำงาน เชื่อว่าหากได้สอบถาม ด.ช.จูเนียร์ ก็จะทราบว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร

สถานที่เก็บไม้พะยูง

อีกทั้ง จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ในวันเกิดเรื่อง ระบุว่าได้ยินเพียงเสียงหมาเห่า และไม่เห็นเด็ก เนื่องจากฝนตกหนัก เรื่องยิงปืนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่มาเห็นน้องเฟรมเสียชีวิตก็ในช่วงเช้าอีกวันหนึ่งแล้ว โดยสภาพเด็กคือนอนอยู่ใกล้กองไม้พะยูง ซึ่งบริเวณที่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้ามีติดป้ายบอก อีกทั้งชาวบ้านก็ทราบดี เนื่องจากเคยมีการประกาศเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ไว้ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมีใครที่ไม่รู้ แต่ตนเองไม่อยากตอบโต้ เพราะเข้าใจว่าเกิดความสูญเสียกับครอบครัวผู้ตายแล้ว พร้อมถามกลับว่าหากเด็กกลุ่มนี้เพียงผ่านไปเล่นน้ำจริง ทำไมเพื่อนๆ ไม่ร้องเรียกให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ ตนจึงมั่นใจว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องการลักลอบเข้าไปนำไม้พะยูงออกมา เนื่องจากเด็กได้ผ่านรั้วลวดหนามไปแล้วชั้นหนึ่ง

ส่วนเรื่องการทำร้ายเด็ก ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการทุบทำร้าย ตนอยากให้มองตามความเป็นจริงว่าหากเป็นเช่นนั้น เพื่อนผู้ตายที่ไปด้วยกันก็ต้องเห็น และบอกผู้ปกครองให้มาช่วยเหลือ ตนอยากให้คิดเพียงว่า คนที่ตั้งใจเข้าไปในพื้นที่ราชการ ที่มีรั้วล้อมรอบถึง 2 ชั้น และเข้าไปยามวิกาล ถามกลับว่าเข้าไปทำอะไร หากเด็กถูกไฟช็อตตายช่วงกลางวัน ตนจะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่อุทยานเอง แต่ขอถามกลับไปว่าเด็กเข้าไปเพื่ออะไร

อย่างไรก็ตาม ลวดพันไม้พะยูงดังกล่าว ไม่ได้มีการปล่อยกระแสไฟไว้ตลอดเวลา โดยจะพิจารณาปล่อยตามสถานการณ์ เช่น ช่วงฝนตก ช่วงเดินออกลาดตระเวนเพราะไม่มีเจ้าหน้าเฝ้าอยู่ เนื่องจากพื้นที่นี้มีการลอบเข้ามาลักลอบนำไม้ของกลางออกไปอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีเพียง 2 คนเท่านั้น แต่ต้องดูแลไม้ของกลาง รถจักรยานยนต์ 200 คัน รถยนต์ 68 คัน รถไถนา 12 คัน โดยไม้พะยูงที่มีนั้นมีมูลค่านับ 100 ล้านบาท เพียงลำพังเจ้าหน้าที่อย่างเดียว ดูแลไม่ไหวแน่นอน เพราะหากของกลางหาย เจ้าหน้าที่จะมีความผิดถึงขั้นให้ออกจากราชการ

ส่วนเรื่องคดีความ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความหลังจากเกิดเรื่องไว้แล้ว แต่ไม่ได้คิดเอาผิดผู้ปกครองของเด็ก ซึ่งการแจ้งความต้องดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนราชการ ส่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบ คาดว่าจะมีผลอีกใน 2 สัปดาห์

ด.ช.จูเนียร์ (นามสมมติ)

ด้าน ด.ช.จูเนียร์ (นามสมมติ)  อายุ 12 ปี ซึ่งเคยถูกเจ้าหน้าที่จับกุมภายในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย กล่าวว่า ในครั้งนั้นตนตั้งใจไปเอาไม้พะยูงออกมาขาย โดยไปกับเพื่อนรุ่นพี่จากหมู่บ้านอื่นประมาณ 3-4 คน ซึ่งคนอื่นรออยู่ข้างนอก ตนเป็นคนเข้าไปเอาไม้คนเดียว แต่ไม่ทันได้หยิบออกมาก็ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ตามยาย และผู้ใหญ่บ้านไปรับตน โดยตอนนั้นไม่ได้ถูกดำเนินคดีเพราะยังเป็นเด็ก แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าห้ามเข้ามาก่อเหตุอีก ซึ่งตนก็ไม่เคยกลับไปอีกเลยหลังจากนั้น

ซึ่งปกติไม้พะยูง 1 ท่อน หนักประมาณ 20 กิโลกรัม ตนสามารถยกด้วยตัวคนเดียว เนื่องจากเคยเข้าไปก่อเหตุมาแล้ว 1 ครั้ง โดยในครั้งแรกนั้น ตนไปกับน้องเฟรม และสามารถเอาไม้ออกมาได้ 2 ท่อน แต่ไม่ได้เอาไปขายเพราะไม้ผุก่อน ตนรู้ว่าจุดดังกล่าวมีการติดรั้วไฟฟ้า แต่ลองจับดูแล้วไม่มีกระแสไฟจึงสามารถนำไม้ออกมาได้ ส่วนรอบที่ถูกจับได้ น้องเฟรมไม่ได้ไปด้วย แต่เจ้าตัวก็ทราบว่าจุดดังกล่าวมีรั้วไฟฟ้า เพราะเคยไปด้วยกัน ทั้งนี้ รอบล่าสุดที่เฟรมไปกับเพื่อน ตนไม่ได้ไปด้วย และไม่ทราบว่าทั้งหมดเข้าไปทำไม โดยตนมาทราบเรื่องอีกทีตอนที่เจ้าตัวเสียชีวิตแล้ว

ทั้งนี้ ท่อนไม้พะยูงที่เป็นของกลาง เป็นท่อนไม้มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ทั้งไม้พะยูงท่อน กับไม้พะยูงแปรรูป เล็กสุดขนาดยาวประมาณ 120 เซนติเมตร หนา 4 นิ้ว น้ำหนักท่อนละประมาณ 20-25 กิโลกรัม โดยราคากิโลกรัมละ 400 บาท ซึ่งหากลอบนำไปขาย ก็อาจจะมีราคาท่อนละหลายหมื่นบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook