ครม.ตีกลับรถเมล์ 4 พันคัน

ครม.ตีกลับรถเมล์ 4 พันคัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อมูลไม่ตรงกันโสภณชี้โปร่งใสเตรียมเคลียร์อีก

 

ฉาวอีกครั้งโครงการรถเมล์เช่ว 4,000 คันร ครม.ตีกลับหลังมีข้อมูลไม่ตรงกัน ส่วน อรรคพล เตรียมแจงนายกฯ ทราบข้อมูล ขสมก.แอบซุกตัวเลขอีกหลายตัว ทั้งค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรถร่วมบริการ 11,684 คัน รวมวงเง ิน 5,941 ล้านบาท แม้ยอมตัดออก แต่เสนอ ครม.ตัดออกไปเพียง 4,277 ล้านบาท ส่วนที่ยกเลิกค่าจัดหาอู่เสนอยกเลิก 4,161 ล้านบาท ทั้งที่ควรลดลงถึง 5,920 ล้านบาท ด้านโสภณ เตรียมเรียกหน่วยงานเคลียร์ตัวเลขค่าซ่อม-ค่าเช่า หลังเจอครม.ตีกลับ กัดฟันตอบ ไม่เกี่ยวปัญหาการเมือง ยันทำอย่างโปร่งใส

 

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. ได้ให้กระทรวงคมนาคมนำโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน กลับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ เพื่อเสนอให้พิจารณาอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากยังมีตัวเลขที่ยังเห็นไม่ตรงกันคือเรื่องของค่าซ่อมรถและอัตราดอกเบี้ย ที่พบว่ายังแตกต่างกันระหว่างข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมเสนอกับข้อมูลที่คณะทำงานชุดที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เคยเป็นประธาน และดำเนินการไว้ ซึ่งหลักที่รัฐบาลบอกว่าสามารถดำเนินการโครงการนี้ได้คือ ต้องเป็นการประกอบรถขึ้นในประเทศไม่น้อยกว่า 70% และให้มีการดูเรื่องของการปรับลดตัวเลขต่าง ๆ ตามที่คณะทำงานของ พล.ต.สนั่น ดำเนินการไว้

 

รมว.คมนาคมไม่ได้ว่าอะไร เพราะเข้าใจดีและบอกว่าเรื่องนี้ที่ส่งไปยัง พล.ต.สนั่น และปรับลดตัวเลข ซึ่งทาง ขสมก.ติดใจมาตั้งแต่ต้นว่าปรับได้ตามนั้นจริงหรือไม่ แต่เมื่อเสนอมา ครม.มีความเห็นว่าเมื่อยังไม่สามารถทำได้ และยังไม่มีความชัดเจนก็ต้องกลับไปดูร่วมกัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ได้ติดใจอะไร

 

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบในหลักการให้จัดทำโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน แต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องตัวเลขค่าซ่อมที่สถาบันพระปกเกล้าศึกษา คิดค่าซ่อม กม. ละ 4.50 บาท และอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินมาลงทุนคิด 9.875% แต่ที่คณะกรรมการทีโออาร์ของ ขสมก. เสนอในครั้งนี้ คิดค่าซ่อม กม.ละ 7.50 บาท และอัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินมาลงทุนคิด 10.25% ดังนั้น ครม. จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ไปพิจารณาประเด็นที่แตกต่างกันและนำเสนอ ครม. อีกครั้งใน 2 สัปดาห์

 

ส่วน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ไปดูเรื่องวงเงินเป็นหลัก หลักการก็ให้แก้ไขทุกอย่างตามที่คณะทำงานที่ตนเป็นประธานได้กำหนดไป ส่วนวงเงินที่แตกต่างกันขอกลับไปดูตัวเลขให้ชัดเจนอีกครั้ง

 

ขณะที่ นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงตัวเลขที่แตกต่างกันเพื่อให้นายกฯ เก็บไว้ใช้เป็นดุลพินิจ และ เปรียบเทียบกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการที่ ครม. ตั้งขึ้นในครั้งนี้ โดยตัวเลขที่แตกต่างกันยังรวมไปถึงการหักค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะของรถร่วม 11,684 คัน ซึ่งคณะทำงานของ พล.ต.สนั่น เคยท้วงติงไม่ให้นำวงเงินมาร่วมกับโครงการนี้ 5,941.67 ล้านบาท แต่ ขสมก. ได้ยอมหักวงเงินนี้ลง แต่กลับปรับลดลงเพียง 4,277.80 ล้านบาท รวม ทั้งการปรับลดค่าจัดหาอู่ 5,920 ล้านบาท แต่ ขสมก. เสนอปรับลดลงเพียง 4,161 ล้านบาท

 

กรณีค่าซ่อมรถที่คิด กม.ละ 4.50 บาท รวมเป็นเงิน 19,841 ล้านบาทนั้น แต่เดิมตนไม่เคยไปแตะ และสับสนที่ข้อเสนอของ ขสมก. ในครั้งนี้เพิ่มเป็น กม.ละ 7.50 บาท รวมเป็นเงินถึง 32,850 ล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็น่าสงสัยเพราะการพิจารณาครั้งก่อนช่วงเดือน ก.ย. 2551 เมื่อเทียบกับภาวะปัจจุบันเป็นสถานการณ์ดอกเบี้ยขาลง ข้อเสนอเพิ่มดอกเบี้ยไม่น่าเป็นไปได้ ทำให้มูลค่าโครงการร่วมเพิ่มขึ้นจาก 66,021 ล้านบาท เป็น 69,788 ล้านบาท

 

นายอรรคพล กล่าวต่อว่า ผมไม่เข้าใจว่า ขสมก. ใส่ตัวเลขค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์เฉพาะของรถร่วม 11,684 คัน วงเงิน 5,941.67 ล้านบาท มารวมกับโครงการนี้ได้อย่างไร และ เป็นเอกสารที่ผมไปค้นหามาได้ด้วยตัวเองและ ขสมก. ยอมรับภายหลังว่าเป็นเอกสารของ ขสมก. จริง จึงตกลงให้ตัดวงเงินนี้ออกไปและยืนยันว่าข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้าไม่เคยได้ยินหรือเห็นมาก่อนถือเป็นครั้งแรก

 

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อไปพิจารณารายละเอียดกรณีที่ ครม.ท้วงติง เรื่องค่าซ่อม และค่าเช่าของ ขสมก. โดยจะหารือในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ซึ่งยอมรับว่าได้ใส่ตัวเลขรายละเอียดเยอะ เพื่อให้โปร่งใสมากที่สุด แต่ ครม. ชุดนี้ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน เลยสอบถาม และต้องอธิบายกันค่อนข้างมาก ซึ่งบางครั้งการอธิบายไม่ครอบคลุมรายละเอียดทั้งหมด และยินดีให้ทุกฝ่ายตรวจสอบว่ามีการดำเนินการอย่างโปร่งใส จริง ๆ และเชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่ได้เกิดจากปัญหาการเมืองแต่อย่างใด

 

สำหรับตัวเลขค่าซ่อมที่นำเสนอนั้นอยู่ที่ประมาณ 7.50 บาทต่อกิโลเมตรต่อคัน และเมื่อนำมารวมระยะทางแล้วทำให้ตัวเลขค่าซ่อมอยู่ที่ 2,250 บาทต่อคันต่อวัน สูงกว่าค่าเช่าตัวรถ ซึ่งอยู่ที่ 2,195 บาท จึงทำให้มีการสงสัย โดยที่ประชุม ครม. ได้นำตัวเลขผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ที่เคยศึกษาในปี 51 ว่า ค่าซ่อมควรอยู่ที่ 4.50 บาทต่อคันต่อกิโลเมตร แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ค่าซ่อมเฉลี่ยของ ขสมก. ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 7.60-9 บาท ต่อกิโลเมตรต่อคัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่ ขสมก.เสนอเข้า ครม.ครั้งนี้ เป็นค่าเช่าคันละ 4,780 บาทต่อคันต่อวัน วงเงินรวมทั้งโครงการ 69,788 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตัวรถ 2,195 บาทต่อคันต่อวัน หรือทั้งโครงการ 32,047 ล้านบาท ค่าซ่อมรถ 2,250 บาทต่อคันต่อวัน รวมทั้งโครงการ 32,850 ล้านบาท ค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 157 บาทต่อคันต่อวัน รวม 2,292 ล้านบาท ค่าประกันภัย 31 บาทต่อคันต่อวัน รวม 453 ล้านบาท ค่าภาษี 8 บาทต่อคันต่อวัน รวม 117 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 139 บาทต่อคันต่อวัน รวม 2,029 ล้านบาท

 

ส่วนที่คณะทำงานที่ พล.ต.สนั่น เสนอ รวมค่าเช่าวันละ 4,522 บาทต่อคันต่อวัน วงเงินรวมทั้งโครงการ 66,021 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าตัวรถ 2,537 บาทต่อคันต่อวัน หรือทั้งโครงการ 37,040 ล้านบาท ค่าซ่อมรถ 1,359 บาทต่อคันต่อวัน รวมทั้งโครงการ 19,841 ล้านบาท ค่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ 170 บาทต่อคันต่อวัน รวม 2,482 ล้านบาท ค่าประกันภัย 31 บาทต่อคันต่อวัน รวม 453 ล้านบาท ค่าภาษี 8 บาทต่อคันต่อวัน รวม 117 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 417 บาทต่อคันต่อวัน รวม 6,088 ล้านบาท.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook