“เจ้าสาววัยเด็ก” ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

“เจ้าสาววัยเด็ก” ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง

“เจ้าสาววัยเด็ก” ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ข่าวคราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการทำร้ายร่างกาย ปรากฏในสื่ออยู่บ่อยครั้ง และเป็นประเด็นให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอ แต่ประเด็นอย่าง “การแต่งงานในวัยเด็ก” หรือ “เจ้าสาววัยเด็ก” กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก แม้จะมีข่าวชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปี ต้องการแต่งงานกับเด็กหญิงไทยรุ่นลูก อายุเพียง 11 ปี ในจังหวัดทางภาคใต้เกิดขึ้น แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความสนใจของสังคมอยู่ดี ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่คนไทยอาจลืมไปก็คือ ปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น แต่ยังฝังรากลึกอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยด้วย

>> วิจารณ์หนัก หนุ่มมาเลย์วัย 41 แต่ง ด.ญ.ไทย 11 ขวบเป็นเมียคนที่ 3
>> สื่อนอกตีแผ่ ด้านมืดชายแดนใต้ บังคับเด็กหญิงแต่งงานหนุ่มมาเลย์ "แลกเงิน"

เพราะฉะนั้น เนื่องในช่วง 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (16 Days of Activism against Gender-Based Violence) ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561 Sanook! News จึงอยากหยิบประเด็นเจ้าสาววัยเด็กมานำเสนอถึงที่มาที่ไปของปัญหา ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงและสังคม รวมทั้งทางออกสำหรับปัญหานี้

ทำไมเด็กต้องรีบแต่งงาน

หากมองในภาพรวม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง ส่วนใหญ่จะมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม แต่สำหรับปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กนั้น มีความละเอียดอ่อนกว่าที่เราคิด โดยในงานเสวนา “การแต่งงานในวัยเด็ก ภาวะจำยอม และสิทธิของเด็กผู้หญิง” ซึ่งจัดโดยองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้มีการเสนอมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับประเด็นนี้

คุณจิรานุช กองเงิน ผู้จัดการโครงการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก องค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ระบุว่า จากการสำรวจใน 166 หมู่บ้าน จาก 9 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนประมาณ 13,000 คน พบว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่แต่งงานมีสัดส่วนถึง 65.1% และช่วงอายุที่น้อยที่สุดที่แต่งงานคือ 11 ปี ซึ่งมีทั้งการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็กและเด็กกับผู้ใหญ่ สาเหตุโดยทั่วไปก็มาจากการที่เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และผู้ใหญ่ก็แก้ปัญหาโดยการให้เด็กแต่งงานกันตามประเพณี รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่กระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก และจบปัญหาด้วยการแต่งงาน

นอกจากนี้ คุณจิรานุชยังกล่าวอีกว่า การแต่งงานในวัยเด็กในพื้นที่เหล่านี้ยังมีปัจจัยร่วมอีกหลายประการ ได้แก่ วัฒนธรรมในชุมชน ที่เชื่อว่าผู้หญิงต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีลูกทันใช้ และหากอายุเกิน 18 ปีแล้วยังไม่ได้แต่งงานจะถือว่าผิดปกติ เป็นสาวแก่ ไม่มีใครอยากแต่งงานด้วย รวมทั้งความเชื่อเรื่องการ “ผิดผี” คือการที่ชายและหญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ต้องแก้ไขโดยการแต่งงานหรือเสียค่าปรับให้แก่ผู้นำชุมชน หรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แล้วไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นพ่อเด็ก ก็จะถูกบังคับให้หาผู้ชายมารับผิดชอบโดยการแต่งงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่มีต่อเพศหญิงอีกด้วย

ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ผู้หญิงก็จะถูกโจมตีมากกว่าผู้ชาย อย่างเช่นเคสน้องที่ท้องแล้วก็เอาลูกไปทิ้ง แล้วก็โดนแรงกดดันจากชุมชนว่าเป็นเด็กผู้หญิงที่ไม่ดี ท้องแล้วยังฆ่าลูกตัวเองอีก แต่สังคมไม่ได้มองว่าก่อนที่เขาจะมาถึงจุดที่จะเอาลูกไปทิ้ง มันเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง ชุมชนไม่ได้ช่วยเยียวยาเด็กคนนี้ แต่ยังโจมตีเด็กจนไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้ สิ่งที่เราทำได้คือพยายามช่วยเหลือให้เด็กได้อยู่ในสถานที่ที่เขาพอใจ ก่อนที่เขาจะไปต่อ เพราะไม่อย่างนั้นชีวิตเขาจะจบอยู่ตรงนี้เลย คือฉันเป็นคนผิด ฉันเป็นคนบาปที่ตัดสินใจทำแบบนี้” คุณจิรานุชเล่ากรณีตัวอย่างที่พบในการสำรวจ

ด้าน สจ.อมรรัตน์ รัตนาชัย ชาวเขาเผ่าลาหู่ หนึ่งในสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ระบุว่า โดยทั่วไป สังคมชนเผ่ามักจะมองว่าผู้ชายอยู่เหนือกว่าผู้หญิงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ และวิถีชีวิต นอกจากนี้ สภาพสังคมที่อยู่กันแบบพี่น้อง ก็ยังบีบบังคับให้เกิดการแต่งงานในวัยเด็กด้วย

“บนดอย ถ้ารู้ว่าท้อง ต้องให้แต่งงาน เพราะถ้าท้องไม่มีพ่อก็จะอับอายขายหน้าชาวบ้าน แล้วบนดอยก็อยู่กันแบบพี่น้อง บ้านไหนมีเรื่องอะไรก็รู้กันหมด และไม่ใช่รู้แค่หมู่บ้านเดียวนะ รู้ทั้งดอยค่ะ เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมก็บังคับไปในตัวว่า ถ้าเด็กมีอะไรกับคนอื่น เขาก็รู้กันทั้งหมู่บ้าน และยิ่งถ้าท้องด้วย ต้องรีบแต่งงานอย่างเดียว ถ้าไม่แต่งจะถูกประณามในสังคม” สจ.อมรรัตน์กล่าว และเสริมว่า ในบางพื้นที่ ประเพณีและวัฒนธรรมในชุมชนก็มีอิทธิพลเหนือกฎหมาย ซึ่งหากเกิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศและมีการแจ้งความ ตำรวจมักจะให้ชุมชนดำเนินการตามประเพณี มากกว่าดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับอุปสรรคที่พบในการทำงานของคุณจิรานุชเช่นกัน

“ชุมชนเชื่อในกฎระเบียบทางวัฒนธรรมหรือกฎของชุมชนมากกว่ากฎหมาย ถ้ามีเด็กถูกกระทำความรุนแรงแล้วมีคนแจ้งความ แล้วเราเข้าไปดำเนินงาน กลายเป็นว่าคนแจ้งความเป็นคนสร้างปัญหาให้ชุมชน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เราเจอ แทนที่เขาจะโจมตีไปที่ผู้กระทำ เขาโจมตีคนที่ร้องขอความช่วยเหลือให้เด็ก” คุณจิรานุชกล่าวเสริม

ปัจจัยอีกประการที่นำไปสู่การแต่งงานในวัยเด็กก็คือ ความยากจนและการไร้สัญชาติ เนื่องจากชาวเขาส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในระดับชั้นสูงๆ ได้ เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนหรือไม่ได้ทำงาน ในที่สุดก็ต้องแต่งงานกับผู้ชายที่มีฐานะดี เพื่อแลกกับความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ปัญหาที่ตามมาก็คือการหย่าร้าง หรือในบางกรณีที่เด็กอยากเรียนต่อ แต่พ่อแม่ไม่สนับสนุน ก็สามารถนำไปสู่การแต่งงานในวัยเด็กได้เช่นกัน

“บางเคสเด็กไม่ใช่ไม่อยากเรียน แต่พ่อแม่ไม่สนับสนุน เกิดการทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรง เด็กก็หนีออกจากบ้าน ซึ่งเด็กก็ต้องการที่พึ่ง ก็ไปหาแฟน ก็กลับมาที่หมู่บ้านไม่ได้ เพราะตามประเพณี ถ้าทำแบบนี้ไม่ให้เข้าหมู่บ้าน พออยู่กับแฟนก็ต้องแต่งงานกัน เพราะพ่อแม่รู้แล้ว ทั้งๆ ที่เด็กก็รักเรียน เป็นเด็กกิจกรรม อยากเรียนต่อ แต่ภาวะแบบนี้มันทำให้เขาไปต่อไม่ได้ ก็ต้องออกมาทำงานแล้วก็เตรียมตัวแต่งงานตามประเพณี” คุณจิรานุชเล่า

นอกจากนี้ คุณจิรานุชยังมองว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กต้องแต่งงานเมื่ออายุน้อยก็คือ การขาดทางเลือกในการใช้ชีวิต เนื่องจากเด็กเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แทบจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้โลกภายนอกว่าเด็กในวัยเดียวกันทำอะไรอยู่ รวมทั้งมองไม่เห็นทางเลือกในการใช้ชีวิตในอนาคต นอกเหนือจากการแต่งงาน

เด็กแต่งงานเร็ว จะเกิดอะไรขึ้น

แม้ในบางสังคมจะเชื่อว่าการแต่งงานเมื่ออายุน้อยจะส่งผลดีคือ “มีลูกทันใช้” แต่การมีลูกทันใช้นั้นกลับมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล ทั้งในด้านร่างกายของเด็กผู้หญิงเอง และด้านสังคม โดย นพ.สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์และคลอดลูก ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าผู้ชาย และโดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย ความสูงก็จะหยุดทันที ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะคลอดลูกก่อนกำหนด ทำให้เด็กที่เกิดมามีร่างกายไม่สมบูรณ์ หรืออาจจะเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เนื่องจากแม่อายุน้อยขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงเด็ก

“เราพบว่าเด็กที่คลอดจากแม่ที่อายุน้อยหรือเป็นวัยรุ่น จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในช่วงขวบปีแรกสูงกว่า สาเหตุก็มาจากอาการปอดบวม ปอดอักเสบ เนื่องจากแม่ดูแลลูกไม่ดีพอ” นพ.สุรพันธ์กล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคุณจิรานุช ที่ระบุว่า สังคมมักจะมองว่าคนที่แต่งงานแล้วไม่ใช่เด็กอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาดูแล ส่งผลให้เด็กต้องแบกภาระความเป็นเมียและความเป็นแม่ต่อไป

ความเป็นเมียและความเป็นแม่เป็นภาระอันหนักหน่วงของผู้หญิงเลย ถ้าท้องก็จะมีปัญหาตามมาเพราะเด็กไม่รู้วิธีดูแลตัวเอง หรือการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง เหมือนเด็กเลี้ยงเด็ก หรือเด็กที่คลอดออกมาอาจจะพิการ ในพื้นที่ของเราก็จะเจอเด็กพิเศษหรือเด็กพิการ เพราะว่าแม่ยังอายุน้อยอยู่” คุณจิรานุชกล่าว

และไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านร่างกายเท่านั้น การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะแต่งงานกับเด็กวัยเดียวกันหรือกับผู้ใหญ่ สามารถส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมได้ โดยคุณจิรานุชกล่าวว่า ด้วยความที่เด็กยังขาดวุฒิภาวะ เมื่อแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกันและต้องเผชิญปัญหาในชีวิตจริงอย่างเรื่องเศรษฐกิจ การทำมาหากิน อาจส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จนอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ และผลกระทบนั้นอาจจะยิ่งบานปลาย เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจเลิกรากัน

“ถ้าเลิกราขณะที่ยังไม่มีลูก ปัญหาที่ตามมาอาจจะไม่มากเท่ากับการที่มีลูกแล้ว เด็กบางคนพ่อแม่เลิกกันแล้วทิ้งลูกไปเลย ต้องอยู่ในชุมชนไปตามยถากรรม หรือถ้าแม่พาลูกไปด้วยแล้วแต่งงานใหม่ การอยู่ในครอบครัวใหม่ แม่จะไม่สามารถปกป้องคุ้มครองลูกได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์กับสามีใหม่ด้วย บางทีเราเจอหลายๆ เคส ที่เด็กถูกพ่อเลี้ยงทุบตี ถูกข่มขืน หรือถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลเหมือนลูกแท้ๆ เด็กก็จะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ถ้ากรณีที่มีปู่ย่าตายายดูแล ก็จะมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และรุ่นปู่ย่าตายายก็จะไม่ค่อยเข้าใจวิธีการเลี้ยงเด็กแบบสมัยใหม่ แล้วก็ไม่สามารถช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาให้เด็กได้”

“แม่ที่มีอายุน้อยก็จะมีปัญหาในอนาคต เนื่องจากเขาออกจากระบบการศึกษา ก็จะเลือกงานได้ไม่ดี และจะมีภาวะพึ่งพิงสามี ถ้าเลิกกับสามีหรือสามีเสียชีวิต ชีวิตเขาก็จะมีปัญหา ลูกของแม่ที่เป็นวัยรุ่น ก็อาจจะกลายเป็นแม่ที่เป็นวัยรุ่นอีก” คุณจิรานุชสรุป

แก้ปัญหา “เจ้าสาววัยเด็ก” ทำอย่างไร

เมื่อการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรส่งผลเสียต่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่งและสังคมอย่างมาก วิธีแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่แค่การจับเด็กแต่งงานกัน แล้วปล่อยให้ใช้ชีวิตกันเอง แต่ควรเริ่มจากการปลูกฝังให้เด็กๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงตระหนักถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และสอนให้รู้จักป้องกันอย่างถูกต้อง แต่ในกรณีที่เด็กต้องแต่งงานกับผู้ใหญ่ วิทยากรในงานเสวนาเห็นตรงกันว่าควรมีการปรับทัศนคติของชุมชน ที่มองผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและมีศักยภาพน้อยกว่าผู้ชาย รวมทั้งเสริมพลังให้เด็กผู้หญิงผ่านการศึกษา เพื่อให้เด็กมีความรู้เป็นเกราะป้องกันตัวเอง สามารถตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้ และสามารถใช้ความรู้ในการสร้างรายได้ให้ครอบครัว หรืออาจส่งเสริมการฝึกอาชีพ เพื่อให้ครอบครัวมีรายได้เพียงพอที่จะส่งลูกๆ เข้าเรียนในโรงเรียนได้

“ในส่วนของ อบจ. เชียงราย ก็มีโครงการอบรมส่งเสริมอาชีพให้กับสตรีทั่วจังหวัดเชียงรายทุกปี เพื่อให้ครอบครัวมีอาชีพ และทำให้พ่อแม่มีรายได้ในการส่งลูกเรียนหนังสือ ทำให้ครอบครัวอบอุ่นและเอื้อต่อการให้เด็กได้รับการศึกษา และยังมีโรงเรียน อบจ. เชียงราย เป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการศึกษาของท้องถิ่น สำหรับพี่น้องชนเผ่าหรือเด็กด้อยโอกาสก็สามารถที่จะมาเรียนได้ อบจ. ก็จะเน้นเรื่องการศึกษาและการสร้างรายได้ภายในครอบครัว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป” สจ.อมรรัตน์อธิบาย

นอกจากนี้ สจ.อมรรัตน์ยังย้ำว่าควรมีกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การให้เงินครั้งเดียวแล้วจบ เพื่อช่วยให้คนกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมทางสังคม รวมถึงการเข้าถึงโอกาสด้านสุขภาพและอาชีพ และภาครัฐเองก็ควรบังคับใช้กฎหมายเรื่องสิทธิเด็กอย่างจริงจัง ชัดเจน เป็นรูปธรรม โดยที่ไม่ขัดต่อความเชื่อ ประเพณี และศีลธรรมของชุมชนท้องถิ่น

ด้านคุณจิรานุชก็มองว่า ควรมีการสร้างพลังให้แก่เด็กผู้หญิง โดยการเรียนรู้ ฝึกทักษะ และส่งเสริมให้มีการวางแผนเป้าหมายในอนาคต

“เราจะพยายามเสนอทางเลือกให้เขาว่า ถ้าเราไม่แต่งงาน เราจะทำอะไรได้อีก เช่น การฝึกอาชีพ การสร้างเสริมประสบการณ์ พาเด็กๆ ออกมาเรียนรู้ภายนอกชุมชน ส่วนสุดท้ายที่เราอยากจะทำมากที่สุดก็คือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เขารู้ว่ามันมีปัญหาอยู่ แต่บางทีเขามองว่ามันเป็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน แต่เราไม่อยากให้เขามองอยู่แค่นั้น เราอยากชวนให้เขามองว่าการแก้ปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ เราควรจะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ไปถึงการสร้างเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ ไม่ใช่แค่การหยุดแค่เป็นเมีย เป็นแม่อย่างเดียว” คุณจิรานุชกล่าว

นอกเหนือจากการติดอาวุธด้านการศึกษาและความรู้ให้แก่เด็กผู้หญิง สิ่งหนึ่งที่ควรปลูกฝังควบคู่ไปด้วยก็คือ “การรู้จักสิทธิของตัวเอง” ให้เด็กผู้หญิงรู้ว่าตัวเองสามารถส่งเสียงขอความช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของเด็กด้วย ซึ่งคุณฉัฐพร งามเกลี้ยง ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ กองส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้หยิบยกกรณีการแต่งงานระหว่างชายชาวมาเลเซียกับเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี มาหารือกับคณะทำงาน และสร้างโมเดลนำร่องในการป้องกันปัญหาการแต่งงานในเด็กทั่วประเทศ

มุมมองที่เราอยากเห็นและเป้าที่จะไปให้ถึงคือ เด็ก เยาวชน สตรี ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงสิทธิ และการรู้ว่าเราควรใช้สิทธิที่ตัวเองได้รับอย่างไรบ้าง ในส่วนของสังคมที่ต้องการก็คือ ควรมีศูนย์กลางที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก สตรี และครอบครัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการเฝ้าระวัง ควรมีศูนย์แจ้งเหตุข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน แล้วก็เป็นความลับ สามารถส่งต่อความช่วยเหลือได้ แล้วก็มีการให้บริการทุกภาคส่วน” คุณฉัฐพรกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook