ส่องความพร้อม "กกต." นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62

ส่องความพร้อม "กกต." นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62

ส่องความพร้อม "กกต." นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับถอยหลัง กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลใช้บังคับในอีก 12 วันข้างหน้า การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นภายใน 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กกต. ในฐานะกรรมการมีพร้อมแล้วหรือยัง? เพราะโรดแมป คือ 24 ก.พ. 2562 ต้องมีการหย่อนบัตร

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 กำหนดให้ กกต. คือ องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล การเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต โปร่งใส เที่ยงธรรมที่สุด ซึ่งถึงตอนนี้เหลือเพียง 87 วันเท่านั้น สำหรับการเตรียมความพร้อม เบื้องต้นสิ่งแรกที่หลายคนกังวลคือ องค์ประกอบของ กกต. จะครบ 7 คน ตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ ได้ยุติไปแล้วเมื่อ สนช. เห็นชอบ “เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ “ฐิติเชฎฐ์ นุชนาฎ” เป็น กกต. ครบ 7 เสือแล้ว โดยมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เป็นเลขาธิการ ที่พ่วงมากับอีกตำแหน่งคือนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะสามารถให้คุณ ให้โทษ กับผู้ที่มาร่วมเล่นเกมประชาธิปไตยครั้งนี้

แต่จะเป็นเสือกระดาษหรือไม่ต้องรอพิสูจน์ผลงาน ขณะตัวช่วยอีกส่วนนั่นคือ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่จะไปประจำตามจังหวัดต่างๆ ก็เรียกได้ว่าพร้อมแล้วเช่นกัน แม้จะมีอาการทุลักทุเลไปบ้างตอนประกาศรายชื่อก็ตาม ส่วนบุคลากรตัวประกอบอื่นๆ ที่เหลือ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะหาก นายกฯ และ คสช. เอาจริงต้องเลือกตั้งให้ได้ ข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ คงไม่ขัดหากมีคำสั่ง หรือมีการร้องขอให้ช่วยอำนวยความสะดวก ดังนั้นจะเห็นว่าเรื่องบุคลากร น่าจะพร้อมที่สุดแล้ว

กฎหมายพร้อม กำลังคนพร้อม ปัจจัยหนุน คือ ประชาชน ก็น่าจะพร้อม เพราะรอคอยกันมาร่วม 5 ปี ตอนนี้ที่ห่วงก็แค่ ขั้นตอนที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้งเท่านั้น เพราะหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก เริ่มจากรูปแบบการเลือกตั้ง จากบัตร 2 ใบ เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ มาใช้บัตรใบเดียว แต่นับคะแนน 2 แบบ การแบ่งเขตที่จำนวน ส.ส. ลดลง และการจัดเตรียมบัตรลงคะแนน ที่ผู้สมัครแต่ละเขตจากพรรคเดียวกัน ไม่ได้ใช้เบอร์เดียวกัน หรือที่เรียกว่า แยกเบอร์รายเขต ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นบททดสอบความสามารถของ 7 กกต. ที่มี “อิทธิพร บุญประคอง” อดีตนักการทูต เป็นประธาน ในการบริหารจัดการให้พร้อมที่สุด

แต่น่าสนใจว่า กกต.จะพร้อมจริงหรือไม่ เพราะลำพังเรื่องแบ่งเขต ยังต้องมีคำสั่ง ม.44 ถึง 2 ครั้ง 2 ครา แถมเสร็จออกมาด้วยข้อครหา ถูก คสช. แทรกแซง เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง และตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นขั้นตอนต่อๆ ไปหลังจากนี้ กกต. จะต้องพิสูจน์ตัวเอง สร้างความเชื่อมั่นว่าพร้อมจัดเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 62 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่เสนอเปลี่ยนแปลงกำหนดใดๆ ในวงประชุมร่วม คสช.-กกต. และพรรคการเมือง 7 ธ.ค. นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook