“เปลี่ยนเกย์ ซ่อมตุ๊ด” : โลกสับสนหรือคนที่ไม่เข้าใจ
ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยเป็นประเด็นอ่อนไหวที่แม้ว่าจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ จนหลายครั้ง “ความตั้งใจอันดี” ของผู้ใหญ่หลายคนกลับกลายเป็นสิ่งที่สร้างแผลบาดลึกในจิตใจของเด็กๆ ที่กำลังตั้งคำถามและยังสับสนกับเพศสภาพของตัวเอง กระทั่งล่าสุด เกิดกระแสชวนให้เศร้าใจบนโลกออนไลน์เมื่อหนุ่มคนหนึ่งออกมาระบายผ่านสื่อโซเชียลว่า น้องชายของตนซึ่งเป็นชาวเพศหลากหลาย หลังจากที่ได้ไปเข้าค่ายธรรมะซึ่งจัดขึ้นโดยทางโรงเรียน เมื่อกลับออกมา เด็กชายกลับมีอาการหวาดผวาอย่างเห็นได้ชัด ก่อนที่จะตามมาด้วยอาการซึมเศร้ารุนแรงจนเป็นเหตุให้ต้องพักการเรียนเป็นเวลานาน
>> หนุ่มโพสต์แฉ "ด้านมืด" ค่ายธรรมะ! ทำน้องชายจิตป่วย จนต้องดรอปเรียน กินยาตลอดชีวิต
แม้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะยังคลุมเครือ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ค่ายธรรมะดังกล่าวได้ทำการปลูกฝัง “ชุดความคิด” บางอย่างที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเด็กๆ ทุกคน ไม่ใช่แค่เฉพาะกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น นี่คือความเห็นที่ S! News ได้รับจากการพูดคุยกับ นาย ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ ตัวแทนนักเรียนจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท คนรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นเรื่องสิทธิและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น เขาและนักสิทธิฯ จำนวนหนึ่งได้ร่วมกันยื่นร้องขอให้ทางกระทรวงศึกษาฯ ทำการแก้ไขเนื้อหาในแบบเรียนสุขศึกษาซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ก็ได้รับเรื่องไว้เพื่อเตรียมดำเนินการต่อไป
>> พอเสียทีกับตำราเหยียดเพศ! ตัวแทนพร้อมองค์กรสิทธิฯ ร้องกระทรวงศึกษาฯ เนื้อหาอาจสร้างอคติ
สำหรับศุภณัฐ เขามองว่า ทั้งสองประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบบเรียนสุขศึกษา หรือแม้แต่การใช้ค่ายธรรมะเพื่อบำบัดอาการ “ผิดเพศ” สะท้อนวิธีคิดของสังคมไทยบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องเพศอย่างลึกซึ้งดีพอ และนั่นคือต้นตอของความรุนแรงที่จะยังคงถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ หากไม่มีใครสักคนกล้าลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง
เพศในสังคมไทย: ความจริงที่มีเพียงสอง
ศุภณัฐมองว่า การที่สังคมไทยยังคงมีมุมมองเรื่องเพศที่ล้าหลัง นั่นก็เพราะยังยึดติดอยู่ว่าเพศที่แท้จริงนั้นมีเพียงแค่สอง นั่นคือชายและหญิง เพศที่นอกเหนือไปจากนี้หรือบุคคลที่มี “ภาพภายนอก” ที่ผิดไปจากภาพจำของสังคมถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความผิดปกติ “สังคมยังยึดติดว่าเพศเป็นเรื่องของอวัยวะเท่านั้น พอคนมีลักษณะภายนอกอะไรที่แตกต่างไปจากอวัยวะของตัวเอง ก็ตัดสินเอาว่ามันเป็นความผิดปกติที่ควรต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งมันเป็นวิธีคิดแบบง่ายๆ ที่ถูกส่งต่อกันมา”
ในแง่หนึ่ง การที่มีคนบางกลุ่มยังใช้การเข้าค่ายธรรมะในฐานะที่เป็นวิธีบำบัดแก้เพศวิถี (แก้อาการผิดเพศ) หรือที่เรียกกันว่า Conversion therapy ในโลกตะวันตก นั่นก็เพราะพวกเขายังเข้าใจผิดว่าการเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดมาจากการได้รับการกระตุ้นโดยปัจจัยภายนอก เช่นการถูกหล่อหลอมโดยสื่อบันเทิง การเลียนแบบสื่อตะวันตก ค่ายธรรมะจึงถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นสื่อด้านตรงข้ามที่มีความถูกต้องชอบธรรมมากกว่าที่จะช่วยให้เด็กๆ หวนคืนสู่ครรลอง “การที่ผู้ใหญ่มองว่าวิธีนี้จะช่วยแก้เรื่องความหลากหลายทางเพศได้ มันสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของสังคมและระบบการศึกษาของไทยที่พยายามจะบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเด็ก เป็นการป้อนข้อมูลผ่านบทเรียนเดิมๆ แต่กลับไม่มีการพูดถึงกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การเอาเด็กไปเข้าค่ายก็เหมือนกับเป็นการเอาเด็กเข้าไปรับสารใหม่ที่ผู้ใหญ่เชื่อว่าถูกต้องแล้วก็หวังว่าเขาจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดโดยไม่พยายามตั้งคำถาม เพราะเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้คือการป้อนข้อมูลเดิมเข้าไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ แล้วมันจะสามารถสร้าง “เด็กดี” ขึ้นมาได้”
เมื่อสังคมยังเลือกที่จะส่งต่อความรุนแรง
จากข้อมูลของคุณนัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษาของมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ องค์การอนามัยโลก ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขไทย ระบุว่า ผู้ที่เกิดและเติบโตโดยเลือกที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบที่ไม่ตรงตามเพศกำเนิดไม่ใช่อาการผิดปกติที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตาม สังคมกลับยังคงมองประเด็นนี้ในด้านตรงข้าม และคิดว่าความหลากหลายทางเพศถือเป็นความป่วยไข้อย่างหนึ่ง นี่คือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนซึ่งถูกส่งต่อมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและเห็นได้ชัดเจนที่สุดในหนังสือแบบเรียนสุขศึกษา
จากข้อค้นพบในงานวิจัยเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนไทย: บทวิเคราะห์แบบเรียนสุขศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” ของวิจิตร ว่องวารีทิพย์ ที่ศึกษาแบบเรียนสุขศึกษาชั้นมัธยมต้นจากหลากหลายสำนักพิมพ์ หนังสือหลายเล่มโยงเรื่องการแสดงออกที่ไม่ตรงตามเพศกำเนิดกับพฤติกรรมเบี่ยงเบนอื่นๆ อย่างการชอบโชว์ ชอบใช้ความรุนแรงทางเพศ ในฐานะที่เป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบเดียวกัน ซึ่งการส่งต่อความรู้เช่นนี้อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราการกลั่นแกล้งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน ที่เพิ่มเติมไปกว่านั้น เนื้อหาในส่วน “ความเสมอภาคทางเพศ” ของหนังสือเรียนก็ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริง แต่เน้นในเรื่องของการวางตัวให้เหมาะสมตามเพศกำเนิด ซึ่งศุภณัฐมองว่าอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะเป็นการสร้างภาพจำบางอย่าง (Stereotype) ให้กับความเป็นหญิงและความเป็นชายในแบบที่แยกขาดจากกันและตายตัว เช่น เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามอ่อนแอหรือร้องไห้ เป็นผู้หญิงต้องอ่อนโยน อ่อนหวาน และไม่ทำตัวแก่นเกินชาย แบบเรียนสุขศึกษาไทยจึงไม่ได้ส่งผลด้านลบต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแต่เพียงกลุ่มเดียว แต่มันยังส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นในกลุ่มของชายจริงหญิงแท้ (Straight) ที่มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างไปจากภาพคิดของสังคมด้วยอีกต่อหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เด็กหนุ่มเผชิญมากับตัวเอง
“กับตัวผมเลยที่เป็นผู้ชาย ผมรู้สึกว่ามันทำให้คนรอบตัวเรา เพื่อนเรา สร้างมาตรฐานความเป็นผู้ชายขึ้นในหัวของเขาว่าแบบ เป็นผู้ชายต้องเป็นคนแบบนี้ เป็นผู้หญิงต้องเป็นคนแบบนี้ แล้วไอ้การที่เขาคิดกันแบบนี้มันนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันในห้องเวลาที่ใครทำตัวไม่ตรงกับภาพที่คนส่วนใหญ่คิด อย่างผมที่โตมาแบบอ่อนโยนกว่าคนอื่น เราไม่ชอบเตะบอล เราชอบเล่นอะไรที่ไม่รุนแรง เราก็เป็นฝ่ายโดนแกล้งตลอดตั้งแต่สมัยประถม
เพื่อนสมัยก่อนจะมองว่า มึงเป็นผู้ชาย ทำไมมึงไม่ไปเตะบอลวะ ซึ่งผมว่าการที่เขามองกันแบบนี้มันเป็นผลมาจากค่านิยมที่ส่งต่อกันมา อีกส่วนหนึ่งที่มันมาตอกย้ำก็คือแบบเรียนนี่แหละที่มันยังคอยย้ำภาพพวกนี้อยู่ซ้ำๆ เหมือนมันเป็นสิ่งเดียวที่ถูกต้องในหัวของเด็ก”
เด็กทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งแบบเรียนสุขศึกษาและค่ายธรรมะคือเงาสะท้อนความคิดของผู้ใหญ่บางกลุ่มในสังคมที่ยังคงไม่เข้าใจในเรื่องของเพศ ซึ่งก็จะยังคงอยู่เช่นนั้นต่อไป หากคนรุ่นใหม่ไม่พยายามที่จะก้าวออกมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเป็นแค่หน่วยเล็กๆ ที่ไร้พลัง แต่สำหรับศุภณัฐ เขาเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนล้วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้อันยิ่งใหญ่เพื่อสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริงได้
“ในความเป็นจริง ไอ้ความคิดที่ว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติมันก็ยังมีอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่นะ อย่างแรกเลยที่ต้องทำ ผมว่าคือการเปลี่ยนคนรุ่นเดียวกันรอบตัวก่อนนี่แหละ เราค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดของเขาทีละนิด ซึ่งจริงๆ แล้วการเผยแพร่ชุดความคิดที่มันถูกต้อง ที่มันเปลี่ยนไป มันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากขนาดนั้นนะ เพราะมันมีสื่ออย่างโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ทำให้การสื่อสารมันง่ายขึ้น”
“เรื่องที่ดูเล่นๆ อย่างการโพสต์เฟซบุ๊กอาจดูเหมือนไม่สร้างอิมแพคทอะไร แต่ผมมองว่ามันคือจุดเริ่มต้นในการพยายามบอกสังคมว่าความหลากหลายทางเพศมันเป็นเรื่องปกติสามัญ ทุกคนก็ล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกันและสมควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียม” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงแน่วแน่
จงอย่ายอมตกเป็น “เหยื่อ”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีเด็กรุ่นใหม่ชาวเพศหลากหลายจำนวนมาก รวมไปถึงชายจริงหญิงแท้บางส่วนที่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากชุดความคิดเรื่องเพศที่ยังคับแคบ พวกเขาทั้งถูกรังแก ถูกทำร้าย และถูกเลือกปฏิบัติ ต้องเจอกับความกดดันจากสังคมในโรงเรียน หลายคนก็อึดอัดเกินกว่าจะปรึกษาที่บ้านได้ การจะหลุดออกจากวงจรความรุนแรงนี้ ศุภณัฐมองว่า อย่างแรกเลย เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจในตัวของฝ่ายที่กระทำความรุนแรงกับเราเสียก่อน ในฐานะที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตจากฐานคิดเรื่องเพศที่ยังไม่ก้าวไกลของสังคมไทย
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมมันมีวิธีคิดแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นคนที่ทำร้ายเรา ทั้งทางกายและความรู้สึก เขาอาจจะทำแบบนั้นเพียงเพราะว่าเขาไม่เข้าใจเรื่องนี้มากพอ” เด็กหนุ่มพูด เขานิ่งไปพักหนึ่งก่อนจะอธิบายต่อ
“ถ้าอยากจะหลุดออกจากปัญหานี้ ผมว่าคนที่โดนรังแกควรจะต้องหาที่พึ่งหรือคนที่พอเข้าใจเรา ไม่ควรเลยที่จะเก็บเรื่องนี้ไว้กับตัวเอง แต่ควรจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรามีปัญหานะ เพราะปัญหานี้มันหนักเกินกว่าที่เด็กคนหนึ่งจะแก้ไหว ผมเชื่อว่าอาจจะมีบางคนที่อาย ไม่อยากจะบอกคนอื่นว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อ ซึ่งคุณไม่ควรที่จะต้องอาย คนที่ควรจะอายคือคนที่เขาทำไม่ดีกับคุณมากกว่า และแม้จะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ แต่ก็จะต้องมีสักคนแน่นอนที่จะช่วยให้เราผ่านเรื่องนี้ไปได้ หากเขาเป็นคนที่เชื่อในแบบเดียวกับเรา”
โดยพื้นฐานที่สุด สิทธิในการนิยามตัวเองว่าเป็นเพศใดของปัจเจกถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งภายใต้ร่มของหลักการสิทธิมนุษยชน – อุดมการณ์สากลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องและประกันสิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งศุภณัฐคิดว่า ไม่ว่าใครก็ตามก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะก้าวก่ายในจุดนั้น
“เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศกับสิทธิมนุษยชนมันเป็นเรื่องเดียวกัน “เพศ” คือสิ่งที่เราใช้เพื่ออธิบายตัวตน เพราะฉะนั้นเราทุกคนย่อมมีสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง สิทธิที่จะแสดงออกหรืออธิบายว่าเราเป็นใครโดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอกว่าควรเป็นชายหรือเป็นหญิง”