จากสังหารโหด "คาช็อกกี" บานปลายไปสู่การสืบราชสมบัติราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย
นายจามาล คาช็อกกี ผู้ถูกรุมสังหารภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียที่นครอิสตัลบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความโกลาหลอลหม่านในวงการเมืองระหว่างประเทศอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากนายจามาล คาช็อกกีจัดเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งชาวซาอุดีอาระเบีย มีประสบการณ์ทำงานด้านข่าวมาอย่างโชกโชน เป็นทั้งนักข่าว บรรณาธิการ นักจัดรายการโทรทัศน์ รวมทั้งเคยเป็นผู้จัดการและบรรณาธิการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง อัล-อาหรับ นิวส์ แชนแนล และเคยเป็นบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์อัล วาตัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางการซาอุดีอาระเบียอีกด้วย
AFP
ทั้งนี้ ตระกูลของจามาล คาช็อกกีได้รับใช้ราชวงศ์ซาอุ มายาวนาน โดยคุณปู่ของเขา มูฮัมหมัด คาช็อกกี ถวายการรับใช้กษัตริย์อับดุลลาซิส อัล-ซาอุด ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย
เมื่อปี พ.ศ. 2554 เกิดปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ซึ่งถือเป็นจุดเหหันที่ทำให้คาช็อกกีแตกหักกับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงได้สั่นสะเทือนขั้วอำนาจเก่า และทำให้เกิดการลุกฮือเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิม ตามด้วยการปราบปรามผู้ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหลายประเทศอาหรับ ในช่วงเวลานั้นเอง คาช็อกกี เลือกที่จะยืนข้างกลุ่มมุสลิมฝ่ายต่อต้านในอียิปต์และซีเรีย พร้อมกับเขาเริ่มที่จะวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งปกป้องกลุ่มมุสลิมสายกลางที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ นายจามาล คาช็อกกี ขอลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 หลังเขาถูกเจ้าหน้าที่ซาอุฯ เตือนให้หยุดวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่ คาช็อกกีได้วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการจำกัดเสรีภาพของสื่อในโลกอาหรับ รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลซาอุ ปฏิรูปเรื่องต่างๆ ภายในประเทศ
หลังจากขอลี้ภัยตัวเองไปอยู่ในสหรัฐฯ แล้ว คาช็อกกี ได้เริ่มเขียนบทความลงในวอชิงตัน โพสต์ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ซึ่งมักเป็นบทความที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อนโยบายหลายอย่างของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ว่าไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง แต่เป็นเผด็จการแบบดั้งเดิม ซึ่งคงสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้แก่มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้มีอำนาจสูงสุดโดยพฤตินัยของซาอุดีอาระเบีย
AFP
จนเกิดเหตุที่จามาล คาช็อกกี ได้ตัดสินใจเข้าไปในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะต้องการไปรับเอกสารหย่ากับอดีตภรรยาคนแรกซึ่งมีบุตรด้วยกัน 1 คน เพื่อนำไปใช้ในการจดทะเบียนแต่งงานใหม่อีกครั้งกับ ฮาทิเช เชนกิซ คู่หมั้นหญิงชาวตุรกีวัย 36 ปี แต่นายคาช็อกกีกลับถูกมือสังหาร 15 คนซึ่งถูกเชื่ออย่างแพร่หลายกันว่าอยู่ภายใต้การบงการของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รุมสังหาร ตามหลักฐาน “เทปบันทึกเสียง” ที่ทางการตุรกีได้จากนาฬิกาแอปเปิลวอตช์ของคาช็อกกี ที่เชื่อมต่อกับไอโฟนที่คู่หมั้นหญิงถือรออยู่ด้านนอกสถานกงสุล
AFP
นอกจากนี้ หน่วยงานข่าวกรองระดับโลกอย่าง ซีไอเอ แห่งสหรัฐอเมริกา มหามิตรของซาอุดีอาระเบียเองก็แถลงว่า มกุฎราชกุมารบิน ซัลมาน ทรงเป็นผู้บงการเหตุสังหารนี้เอง
>> สื่อเมริกันอ้างซีไอเอ เปิดเผย "เจ้าชาย" บงการสังหารนักข่าว "คาช็อกกี"
ครับ! เรื่องนี้สะเทือนไปถึงเรื่องการสืบราชสมบัติของราชวงศ์ซาอุ ซึ่งความจริงแล้วเพิ่งตั้งประเทศซาอุดีอาระเบียและราชวงศ์ซาอุ ขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยคือเมื่อพ.ศ. 2475 ซึ่งปฐมกษัตริย์คือ กษัตริย์อับดุลลาซิส อัลซาอุด ผู้ทรงมีโอรส 45 องค์ โดยที่ผ่านมา 86 ปี การสืบราชสมบัติของซาอุดีอาระเบียเป็นไปทางขวาง คือ จากพี่ไปน้องโดยตลอด มิใช่ทางตรง คือ จากพ่อไปสู่ลูก โดยที่โอรสทั้งหมดเกิดจากพระชายาของปฐมกษัตริย์ 22 องค์ จึงต้องมีการปรึกษาหารือกันในหมู่ญาติวงศ์ เพื่อคัดเลือกรัชทายาทซึ่งส่วนใหญ่ก็มักมีการแต่งตั้งมกุฎราชกุมารขึ้นพร้อมกับกษัตริย์องค์ใหม่ (รวมกษัตริย์ถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 7 พระองค์)
คราวนี้กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลลาซิสได้แหกกฎสืบราชสมบัติ ด้วยการปลดมกุฎราชกุมารที่แต่งตั้งโดยหมู่พระญาติวงศ์ออก และแต่งตั้งโอรสของพระองค์เองคือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน จึงต้องมีการปราบปรามและปลดพระญาติวงศ์ออกหลายสิบพระองค์
AFP
ดังนั้น กรณีฉาวโฉ่ของการสั่งฆาตกรรมนายคาช็อกกีของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานครั้งนี้ ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำในบรรดาพระญาติวงศ์อีกครั้ง โดยมีความเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยที่จะกลับไปใช้วิธีสืบราชสมบัติอย่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยให้โอรสของปฐมกษัตริย์กลับมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ซึ่งคงจะทำให้เกิดความวุ่นวายใหญ่โตตามมาแน่ หลังจากที่การสืบราชสมบัติของราชวงศ์ซาอุนั้นราบรื่นมาร่วมศตวรรษ
>> ตุรกีแฉซาอุฯ ใช้กรดละลายศพ "จามาล คาช็อกกี"
>> ช็อก! ตุรกีเผย "คาช็อกกี" ถูกฆ่ารัดคอทันทีที่เดินเข้าสถานกงสุลซาอุฯ ก่อนถูกหั่นศพ
>> ลูกชาย "คาช็อกกี" นักข่าวซาอุฯ ได้รับเชิญเข้าเฝ้าและจับมือเจ้าชายซัลมาน