วิจัยระบุดินแดงฝุ่นขนาดเล็กเยอะสุดในกรุง

วิจัยระบุดินแดงฝุ่นขนาดเล็กเยอะสุดในกรุง

วิจัยระบุดินแดงฝุ่นขนาดเล็กเยอะสุดในกรุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยันผลกระทบทางด้านสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นถึง 1-2%

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของนักวิจัยไทย ได้ยืนยันถึง ผลกระทบทางด้านสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นถึง 1-2% เพราะฝุ่นสามารถผ่านเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้โดยตรง และเข้าไปจับที่ขั้วปอด จึงมีผลต่อสุขภาพมากกว่าฝุ่นขนาด 10 ไมครอน นอกจากนี้ผลการวิจัยดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลจากการตรวจวัดยังพบว่าในฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอนนั้น ก็จะมีฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนปะปนอยู่สูงถึง 50-60% ด้วย และจากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ล่าสุด สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. เตรียมจะนำเสนอ เรื่องการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน เข้าพิจารณาในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในเดือนมิ.ย.เพื่อประกาศเป็นมาตรฐานการควบคุมมลพิษทางอากาศเพิ่มเติมอีกประเภทหนึ่ง หากรายละเอียดทั้งหมดผ่านการพิจารณา เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

อธิบดีคพ. กล่าวว่า สำหรับค่ามาตรฐานฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน ที่ดำเนินการเสร็จแล้ว คือ ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. โดยค่ามาตรฐานเฉลี่ย 1 ปีต้องไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่จะสามารถป้องกันผลกระทบทางสุขภาพได้มากที่สุด

ด้าน นายนเรศ เชื้อสุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยการศึกษาหาสัดส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นขนาด 10 และ 2.5 ไมครอนในพื้นที่กทม. ซึ่งได้รับทุนจากชุดโครงการคุณภาพอากาศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเพิ่งสรุปผลวิจัยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ของคพ.ทั้ง 4 แห่งที่มีปัญหาการจราจรหนาแน่น พบว่า สถานีดินแดง มีปริมาณฝุ่น 2.5 ไมครอน มีค่าสูงสุด 150.3 มคก./ลบ.ม. รองลงมา คือ สถานีบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 144 มคก./ลบ. สถานีจันทรเกษม 109.8 มคก./ลบ. และ สถานีบางนา 103.9 มคก./ลบ. โดยการตรวจวัดได้อิงค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงปี ต้องไม่เกิน 65 มคก./ลบ.ม. โดยฝุ่น 10 ไมครอน ที่เพิ่มหรือลดในแต่ละวันจะส่งผลต่อปริมาณฝุ่น 2.5 ไมครอนโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งจะมีฝุ่นมากกว่าหน้าฝน

นอกจากนี้ เมื่อทำการประเมินการได้รับฝุ่นพบว่า หากอยู่มีบ้านเรือนแถวสถานีดินแดง 1 ชั่วโมง มีโอกาสรับฝุ่นขนาด 10 ไมครอนในช่วง 1.0-1.9 มคก.ต่อกก.ต่อวัน และ 0.6-1.3 มคก.ต่อกก.ต่อวันในกรณีของฝุ่น 2.5 ไมครอน เมื่อเทียบกับสถานีอื่นจะสูงกว่า 1-2 เท่า และอาจมากถึง 3 เท่าสำหรับการได้รับฝุ่น 2.5 ไมครอนเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นหากได้รับฝุ่นแถวสถานีดินแดง 8 ชั่วโมงจะได้รับฝุ่นมากถึง 8.0-15.0 มคก.ต่อกก.ต่อวันสำหรับฝุ่น 10 ไมครอน และ 5.0-10.4 มคก.ต่อกก.ต่อวันสำหรับฝุ่น 2.5 ไมครอน เท่ากับว่าจะได้รับฝุ่นสะสมเข้าในร่างกายระยะยาว ทั้งนี้เมื่อเทียบกับข้อมูลระบาดวิทยาของความสัมพันธ์ระหว่างการตายและระดับฝุ่นในบรรยากาศของกทม.ระหว่างปี 2535-2539 พบว่ามีความสัมพันธกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยฝุ่น 10ไมครอนระดับ 10 มคก.ต่อลบ.ม.ที่เพิ่มขึ้นจะสัมพันธ์กับสาเหตุการตายตามธรรมชาติ 1-2 % การตายจากโรคระบบทางเดินหายใจ 3-6% และการตายจากโรคหัวใจ 1-2%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook