กางผลศึกษา 3 เส้นทางแชมป์ "รถติดมหาโหด" ใน กทม.-เตรียมนำ AI มาช่วย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญด้านแก้ปัญหารถติดเพื่อยกระดับชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปแผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรเพื่อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี
เบื้องต้นจากการศึกษาของ สนข.พบว่ามี 3 เส้นทางหลักที่ผ่านสถานศึกษาจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหารถติดโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 06.30-07.45 น. ประกอบด้วย
1. แนวเส้นทางบริเวณ ถ.รัชดาภิเษก เริ่มจากถนนอโศกมนตรี
มีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งรวมถึงโรงเรียนใหญ่อย่างวัฒนาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ประกอบกับผู้เดินทางไปทำงานส่งผลให้รถติดพัวพันกระจายไปยังถนนห้วยขวาง ถนนสุทธิสาร ถนนประชานุกูล ถนนวงศ์สว่าง ข้ามไปฝั่งธนบุรีถึงแยกบางพลัด
2. บริเวณถนนสามเสน
มีโรงเรียนสำคัญอยู่หลายแห่ง ส่งผลให้รถติดพัวพันกระจายไปยังถนนสิรินธร ถนนประชาชื่น ถนนนครราชสีมา และเส้นทางสะพานพระราม 8 ก็ถือว่าวิกฤติเช่นกัน โดยโรงเรียนที่สำคัญประกอบด้วย โรงเรียนวัดจันทรสโมสร โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนพระดาบส วิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์ และโรงเรียนวัดใหม่อมตรส เป็นต้น
3. ถนนสาทร
ซึ่งมีโรงเรียนขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยและโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก รวมถึงโรงเรียนคอนแวนต์อีกหลายแห่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรต่อเนื่องไปยังเส้นสะพานพระราม 4 ถนนฝั่งธนบุรี ถนนฝั่งนนทบุรี และถนนฝั่งบางขุนเทียน โดยเฉพาะสะพานสาทรนั้นมีขนาดความกว้างไม่เพียงพอเกิดคอขวดจนทำให้รถติดหนักมากในช่วงเช้า
ทั้งนี้ นายสราวุธกล่าวต่อว่า ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครจะเริ่มคลี่คลายลง หลังจากการทยอยเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ในแต่ละปีหลังจากนี้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะนั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนถนนสามเสนได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเดินทางของนักเรียนนักศึกษาอีกด้วย
ส่วนด้านถนนสาทรนั้น กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการสาทรโมเดลเพื่อบรรเทาปัญหารถติด ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีเมื่อพบว่ายานพาหนะทำความเร็วเพิ่มขึ้นได้จาก 8.8 กม./ชม.เป็น 14.8 กม./ชม. ในอนาคตจะมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแก้ปัญหาร่วมกับการใช้ข้อมูลของหน่วยงานด้านจราจรแบบ Big Data โดยคาดว่าจะขยายโมเดลรูปแบบนี้ไปยังพื้นที่อื่นในอนาคต
ดังนั้น แผนการแก้ไขรถติดดังกล่าวนี้จะถูกบรรจุในแผนแม่บทภาพรวม คาดว่าจะสรุปแผนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้
เบื้องต้นกองบัญชาการตำรวจนครบาลและกระทรวงคมนาคมได้วิเคราะห์เส้นทางสายหลักที่ต้องเร่งนำแผนต่างๆ ไปใช้รวม 21 สาย เช่น ถนนพระราม 9, สีลม, สุขุมวิท เพชรบุรี และเส้นทางวงแหวนกรุงเทพชั้นใน เป็นต้น