หมอหนุ่มจวกนโยบาย "30 บาท" ซื้อเสียงเหมือนบัตรคนจน ชาวเน็ตโต้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
นักรังสีวิทยารายหนึ่ง ได้โพสต์ในทวิตเตอร์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (11 ธ.ค.) วิจารณ์นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นนโยบายดังในยุคที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าซื้อเสียงที่ถูกกฎหมาย ไม่ต่างจากการแจกเงิน 500 บาท ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่กำลังตกเป็นที่วิจารณ์ในขณะนี้
"ไม่คิดบ้างเหรอว่า 30 บาทก็คือการซื้อเสียงอย่างถูกกฎหมายอย่างนึง เป็นไงล่ะ คนจนรักมาก แตะไม่ได้เลย" ผู้โพสต์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม หลังจากโพสต์นี้เผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาวิจารณ์อย่างมาก หลายคนระบุว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แตกต่างจากการแจกเงิน 500 บาท อย่างชัดเจน เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และรัฐบาลในยุคนั้นมอบสิทธิ์นี้ให้กับคนทุกคน ทุกชนชั้น อย่างเท่าเทียม ต่างจากเงินช่วยเหลือ ที่แจกให้เฉพาะผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยไม่ได้รับสิทธิ์อื่นๆ เลย
>> สาวสวมสร้อยทองโชว์ "บัตรคนจน" พร้อมเงิน 500 ลงโซเชียล แถมบัตรเบี้ยวเพราะบีบหน้า
บางความเห็นยังสงสัยอีกว่า ผู้โพสต์ดูเหมือนทำงานในโรงพยาบาล เหตุใดจึงขาดความเข้าใจถึงที่มาของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
ส่วนประเด็นการหาเสียงนั้น ชาวเน็ตบางคนก็มองว่า ทุกนโยบายเป็นการหาเสียงทั้งนั้น เพราะถ้าหากพรรคการเมืองทำถูกใจประชาชน ประชาชนตอบแทนด้วยการเลือกพรรคนั้นเข้าไปเป็นตัวแทนของตัวเอง นี่เป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ถือเป็นการยกระดับสวัสดิการประชาชนของประเทศ
ความเห็นหนึ่งระบุให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า คำว่าหาเสียงและซื้อเสียงต่างกัน นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค น่าจะเป็นการหาเสียงมากกว่าซื้อเสียง เพราะมีการคิดค้นมาก่อน แล้วจึงให้ประชาชนเลือก แต่การจ่ายเงิน 500 บาทให้ประชาชน โดยไม่ได้รับการยอมรับหรือเปิดเผยกับสาธารณะมาก่อน ควรจัดอยู่ในการซื้อเสียง
โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นโครงการที่ได้รับการยกย่องจากองค์การระดับระหว่างประเทศมากมาย อย่างเช่น เมื่อช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ นายทีโดรส อัดฮาโนม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ยกย่องประเทศไทยว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน