“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” อาการขมๆ จากสังคมที่เข้าใจผิด

“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” อาการขมๆ จากสังคมที่เข้าใจผิด

“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” อาการขมๆ จากสังคมที่เข้าใจผิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เดือนแรกไม่ชินเลย รู้สึกเหมือนลูกเป็นคนแปลกหน้า ไม่ใช่คนที่อยู่ในท้องเรามา 9 เดือน เรามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจนต้องพบหมอ เพราะมันเริ่มกระทบร่างกายเยอะ เลี้ยงลูกเสร็จนอนไม่หลับ ปวดหัวข้างเดียว มีเสียงวิ้งๆ คิดอยากตาย หงุดหงิดใส่ลูกเยอะมาก บางทีอุ้มลูกอยู่ก็วางเลย แล้วกรี๊ด รู้สึกแย่ แต่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จากคนที่เคยอยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ มันเหมือนติดกับตัวเอง ทำอะไรก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย”

“เรามีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย เนื่องจากตอนนั้นออกจากงานมาเลี้ยงลูกเต็มตัว ก็รู้สึกไม่ค่อยโอเคกับตัวเองเท่าไรในเรื่องของรายได้ ที่ต้องขอสามีอย่างเดียว กลัวกับอนาคตว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีอนาคตที่ดีได้ คิดว่าพอลูก 6 เดือน จะไปหางานทำใหม่ ก็มีท้องคนที่ 2 ต่ออีก ทำให้มีอาการภาวะซึมเศร้าอยู่ประมาณ 1 ปี เนื่องจากกลัวอนาคต”

“ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร คิดว่าประสาท คือมันไม่มีเรื่องให้ต้องรู้สึกแย่เลยค่ะ แต่จู่ๆ ก็เศร้ามาก ฉันเป็นแม่ไม่ได้หรอก ฉันไม่ดีพอ เป็นแม่เฮงซวย ฉันไม่อยากให้ลูกมีแม่แบบนี้ ลูกจะเป็นอย่างไร โตอย่างไร สามีตื่นมาเห็นร้องไห้ก็บอก ไม่เอา อย่าทำแบบนี้ ก็หยุดไม่ได้ ตอนนั้นสามีเอาลูกไปเลี้ยงเองเลย เธออยู่เฉยๆ ไม่ต้อง ฉันเอง แล้วมันก็หายเอง”

ปากคำของคุณแม่ 3 คน เกี่ยวกับประสบการณ์ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” บ่งบอกได้ว่าภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงมาเนิ่นนาน แม้ในอดีตจะยังไม่มีคำอธิบายภาวะนี้ จนทำให้คนสมัยก่อนมองว่าเป็นโรคประสาท แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้รับการอธิบายว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายหลังคลอด ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของแม่หลังจากคลอดบุตร

อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ เพราะหากมองในมุมของเพศภาวะ ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาททางเพศของผู้หญิง ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย ดังนั้น Sanook จึงอยากชวนคุณไปฟังมุมมองอีกด้านจากผู้เชี่ยวชาญ และฟัง “เสียง” ของเหล่าแม่ๆ ว่าความคาดหวังจากสังคมส่งผลต่อพวกเธออย่างไร

สังคมสร้างภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร

รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ผอ.ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจัยทางสังคมที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ได้แก่ (1) การที่ผู้หญิงไม่ได้รับการช่วยเหลือขณะเลี้ยงลูก ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ จนเกิดความเครียด (2) ความคาดหวังในการเป็นแม่ที่ดี (3) เพศของบุตร เช่น ครอบครัวคนจีนที่เน้นการมีลูกชาย และหากไม่สามารถมีลูกชายได้ แม่จะถูกตำหนิมากกว่าพ่อ (4) การที่ผู้หญิงต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน (5) ภาพลักษณ์ที่ต้องสวยและรูปร่างดี (6) ความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งสามีขาดความรับผิดชอบ และ (7) การขาดแหล่งสนับสนุนทางสังคม เช่น เพื่อนฝูง เนื่องจากต้องดูแลลูกอยู่ที่บ้าน และปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลรุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดในแม่วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว

จากการสอบถามความเห็นของแม่หลายคน ประกอบกับการพูดคุยกับ รศ.ดร.สมพร ทำให้เราสามารถสรุปมายาคติของการเป็น “แม่ที่ดี” ได้ดังนี้

แม่ต้องเลี้ยงลูกได้

เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งมีลูก สิ่งแรกที่สังคมมักจะจับตามองและคาดหวังคือคุณภาพของการเลี้ยงดูลูก ซึ่งคุณสุธารี นวลศิริโกศล คุณแม่ฟูลไทม์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกคาดหวังจากคนในครอบครัวในเรื่องนี้

“ความคาดหวังจะให้เป็นแม่แบบไหนก็จะมีอยู่แล้ว เช่น เมื่อก่อนแม่เราเคยทำอะไรได้ เขาก็จะหวังให้เราทำได้ หรือบางทีคนที่คาดหวังก็จะเป็นพ่อนี่แหละ เมื่อก่อนแม่ยังทำได้เลย เหมือนกับว่าเราร้องขอ ถ้ามีคนตอบรับมันก็โอเค แต่ถ้าร้องขอแล้วไม่มีคนตอบรับ มันเหมือนความหวังพังทลาย ลองนึกภาพแม่คนนั้นไม่ไหว อยากให้คนอื่นช่วย หรือช่วยแล้วก็โดนคาดหวังว่าทำไมทำไม่ได้ มันเศร้านะ” คุณสุธารีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ รศ.ดร.สมพร มองว่าการเลี้ยงลูกเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะทำได้เสมอไป และการคาดหวังเช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความเครียดในที่สุด

“ไม่ใช่ทุกคนที่คลอดลูกออกมาแล้วจะอุ้มลูกเป็น แล้วถ้าบวกกับคนที่ไม่พร้อม แต่ก็ถูกกดดันว่าคุณต้องทำ คุณต้องรักลูก ซึ่งถ้าเขาไม่พร้อม จะให้รักก็ไม่ได้นะ อันนี้เรื่องหลังคลอด แต่เขาถูกกดดันมาตั้งแต่ก่อนคลอดแล้วว่าห้ามทำแท้ง มันทำให้เขาต้องรับบทนี้ต่อไปจนกระทั่งคลอด พอคลอดแล้วรักไม่ได้ มันก็ทำให้เขาเครียด” รศ.ดร.สมพรระบุ

แม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

“นมแม่” อีกหนึ่งประเด็นดราม่าสุดคลาสสิกที่อยู่คู่กับโลกออนไลน์ยุคนี้ จากการที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขออกมารณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้แม่หลายคนหันมาปั๊มนมกันยกใหญ่ ซึ่งแม้นมแม่จะมีข้อดี แต่ในอีกทางหนึ่ง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็กลายเป็น “มาตรฐาน” ที่มีไว้ตัดสินความเป็นแม่ที่ดี และชี้หน้าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผงว่าเป็นแม่ที่ไม่รักลูก โดยลืมคำนึงถึงข้อจำกัดด้านร่างกายของแต่ละบุคคล ซึ่งคุณสุธารีเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งที่กังวลกับเรื่องนี้ จนมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและตัดสินใจจบชีวิตตัวเองว่า

“บางคนปั๊มนมได้เยอะก็อวด คนที่น้ำนมน้อยก็ไม่โอเค อย่างเพื่อนเราที่ฆ่าตัวตายก็กังวลเรื่องนมแม่มาตลอด เรารู้ว่านมเขาไม่พอ ก็นึกว่าเขาโอเคกับเรื่องนี้แล้ว แต่จริงๆ แล้วเขาก็ยังกดดันตัวเองว่าทำไมนมไม่พอ แล้วสังคมสมัยนี้ชอบชี้นิ้วไปที่แม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เหมือนเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ รู้สึกว่าสิ่งนี้มันทำให้คนเศร้าได้เหมือนกัน หลังๆ มานี้เห็นว่าเขารณรงค์เรื่องนมแม่เยอะ ซึ่งมันดี ทำให้อยู่ออฟฟิศก็ปั๊มนมได้ บางที่มีห้องปั๊มนม แต่พอรณรงค์เยอะก็เป็นดาบสองคม คือคนที่ไม่ทำก็คือไม่โอเค”

ด้านคุณวรวรรณ สมิธ แม่ฟูลไทม์อีกคนหนึ่ง ก็ได้เล่าถึงความกดดันเรื่องนมแม่ ในขณะที่ร่างกายหลังคลอดยังไม่พร้อมที่จะให้นมลูกว่า

“ก่อนคลอดก็ไม่ได้กดดันเรื่องนี้มาก ซื้อนมผงแบบชงสำเร็จรูปแล้วเตรียมไว้เผื่อด้วยนิดหน่อยด้วยซ้ำ คลอดมาวันแรกลูกก็ยังดูดไม่เป็น แถมเราก็ถูกกรีดเย็บแผล บวกการชักนำการคลอด 28 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการคลอดที่ค่อนข้างบอบช้ำมาก ทำให้เราชิลกับเรื่องนมแม่ไปก่อน 2-3 วัน พอหลังจากนั้นก็มีคนรอบข้างถามไถ่ จนถึงกดดันว่าทำไมให้ลูกกินนมผง ก็มีความอัดอั้นว่า โอย อดนอน เจ็บแผล ก็ลำบากจะตายแล้ว ทำไมต้องมากดดันเรื่องนี้ด้วย ก็มีอยากด่ากลับนะ ไม่มีใครมาเห็นสภาพเราตื่นมาให้นมเปลี่ยนแพมเพิสคืนละ 5-6 รอบ เปลี่ยนไป ร้องไห้ไป คิดว่ากูทำอะไรลงไปเนี่ย ไม่มีใครเข้าใจเราหรอก เป็นแบบนี้หลายอาทิตย์เหมือนกันจนกว่าลูกจะดูดนมเป็นแล้วนมก็มา”

แม่ผู้อุทิศตน

แม้ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงจะทำงานนอกบ้านมากขึ้น และกลายเป็นกำลังหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว แต่เมื่อขยับสถานะจากภรรยามาเป็นแม่ ภาระที่ผู้หญิงต้องแบกไว้จึงเพิ่มมากขึ้น ทั้งการทำงานนอกบ้านควบคู่ไปกับการเลี้ยงลูก หรือตัดสินใจทิ้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพื่อทำหน้าที่แม่เต็มตัว ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน

“สมัยนี้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน เป็นความภาคภูมิใจ เป็นความสำเร็จในชีวิต พอเขาต้องมาดูแลลูกมันอาจจะส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้า หรือถ้าตอนนี้ให้ลาคลอด มันก็อาจจะส่งผลกระทบคือ ถ้ากลับมาก็ต้องเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพในการทำงานที่เขาเคยทำอาจจะลดลง อาจจะถูกประเมิน นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการทำงานของผู้หญิงยังไม่มีใครกล้าพูดถึง เพราะมันจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ความก้าวหน้าของตัวเอง ไม่เป็นแม่ที่รักลูก” รศ.ดร.สมพรกล่าว พร้อมเสริมว่า การที่ผู้หญิงต้องลาออกจากงาน ทำให้พวกเธอสูญเสียแหล่งสนับสนุนทางสังคม เช่น เพื่อนร่วมงาน ส่งผลให้ขาดพื้นที่เกี่ยวกับความสุขส่วนตัว นำไปสู่ความเครียดเรื้อรังและมีอาการซึมเศร้าได้

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของสังคมไม่ได้ทำร้ายเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงผู้ชายด้วย เนื่องจากภาพลักษณ์การเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ผู้ชายลังเลที่จะลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูกแทนผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องเป็นคนที่ลาออกจากงานแทน

“ผู้ชายหลายคนก็เลี้ยงลูกได้ และหลายคนก็เลี้ยงได้ดีด้วย แต่สังคมก็ยังไม่สนับสนุน ยังไม่เข้าใจ ผู้ชายคนนั้นก็เลยยังลังเลว่าจะตัดสินใจแบบไหนดี ก็เลยกลายเป็นผู้หญิงที่ต้องตัดสินใจออกจากงาน เรื่องของเพศภาวะที่ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ กรอบความคาดหวังมันเลยไปทำร้ายชีวิตครอบครัว ผู้หญิงบางคนรักความก้าวหน้า เขาก็อยากจะทำตรงนี้ด้วย มันต้องตกลง ต้องพูดคุย และไม่ตัดสิน ครอบครัวต้องเป็นคนตัดสินใจ และผู้ชายก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย” รศ.ดร.สมพรอธิบาย

คุณแม่ (ต้อง) ยังสาวและสวย

นอกจากจะเป็นทั้งแม่และผู้หญิงทำงานแล้ว อีกคุณสมบัติหนึ่งที่ผู้หญิงจะทิ้งไม่ได้เลยคือภาพลักษณ์ “คุณแม่ยังสาว” ที่ไม่เพียงแต่สาวเท่านั้น ต้องสวยและหุ่นดีด้วย ซึ่ง รศ.ดร.สมพร กล่าวว่า

สังคมคาดหวังว่าผู้หญิงต้องหุ่นดี ไม่ใช่ว่าผู้หญิงอยากสวย แต่สังคมเป็นคนบอกว่าผู้หญิงต้องสวย ต้องหุ่นดี พออ้วนก็ถูกแซว บางคนที่ดูแลตัวเองก็หาว่าห่วงภาพลักษณ์ แต่จริงๆ แล้วมันถูกคาดหวังจากสังคม แล้วเราก็พูดไปตามธรรมชาติโดยที่เราก็ไม่ได้ระมัดระวังตัว แล้วมันก็กดดันผู้หญิง เพราะภาพลักษณ์เขาเสียไปหลังคลอด หรือในทางตรงข้าม ผู้หญิงบางคนก็อยากจะสวย ถึงจะไม่ถูกกดดัน หลายคนก็ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าห่วงแต่รูปร่างตัวเอง คือมันมีสองด้าน มันก็เป็นความกดดัน มันไปตำหนิผู้หญิงหมด”

แต่ในขณะที่คุณแม่ทั่วไปกำลังอึดอัดกับความคาดหวังที่ย้อนแย้งของสังคม คุณแม่กลุ่มที่น่าเห็นใจยิ่งกว่าก็คือ “แม่ดารา” และคนมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่ต้องรักษาภาพลักษณ์เพื่ออาชีพการงาน รวมทั้งต้องรักษาพื้นที่สื่อด้วยการโชว์ภาพลักษณ์การเป็นแม่ที่ดีในรูปแบบต่างๆ

“เราอยากถามลึกๆ เลยว่า ที่จริงแล้วแม่ดาราทั้งหลาย เขาเหนื่อยไหมกับการที่ต้องเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ ทุกคนเหนื่อยแต่พูดไม่ได้ไง จะออกมาเป็นแม่โทรมๆ ก็ไม่ได้อีก แล้วเขาเป็นดารา จะหายออกไปจากสังคมก็ไม่ได้ เพราะอาชีพเขาจะหายไปเลย เพราะฉะนั้นเขาก็เลยต้องเป็นแม่ที่เพอร์เฟกต์ คนก็คิดว่าฉันต้องเป็นแม่ที่เพอร์เฟกต์เหมือนเขา มันถูกเลียนแบบโดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าเขาโคตรเหนื่อย รายได้เขาอยู่ตรงนั้น เขาก็ต้องมีพื้นที่สื่อ มันเป็นพื้นที่การทำงานของเขา ตัวเขาเองก็ถูกกดดัน แต่การที่เขาจะยอมเปิดเผยว่าเขาโคตรเหนื่อยคงยาก เพราะเขาจะถูกตีตราจากครอบครัวและสังคมด้วย” รศ.ดร.สมพร กล่าว

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลกระทบอย่างไร

เห็นได้ชัดว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้หญิงอย่างมาก แต่การวินิจฉัยและการรักษากลับยังอยู่บนพื้นฐานทางการแพทย์เป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงมุมมองด้านเพศภาวะและแรงกดดันจากสังคม ทำให้ผู้หญิงที่มีภาวะนี้ถูกตีตราว่าเป็นผู้ป่วยไปโดยปริยาย

“มันส่งผลต่อผู้หญิงโดยตรงอยู่แล้ว ถ้าไม่มีคนคอยรับฟัง เข้าใจ และไม่ได้ใช้ชุดความคิดที่บอกว่าไม่ใช่เธอผิด แต่เป็นเพราะโครงสร้างสังคม เพราะความคาดหวังของสังคมมันมาทำร้ายเธอ มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น มีแต่เธอมีอาการมาเกิน 6 เดือนแล้วยังไม่หาย ต้องไปพบแพทย์ ผู้หญิงคนนี้ถูกตีตราไปแล้วว่าเธอป่วย การรีบวินิจฉัยมันเป็นการตีตราตัดสินคุณค่าของคนคนนั้นไปเรียบร้อยแล้ว” รศ.ดร.สมพรอธิบาย

นอกจากนี้ หากภาวะนี้ไม่ได้รับการเยียวยา ก็อาจทำให้ผู้หญิงไม่สามารถทำงานหารายได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว พัฒนาการของเด็ก ทำให้สังคมได้พลเมืองที่เติบโตมาอย่างไม่มีคุณภาพในที่สุด

รับมืออย่างไรไม่ให้ซึมเศร้าเพราะสังคม

เมื่อชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ก้าวสู่ความเป็นแม่ และแบกรับบทบาทมากมายที่สังคมกำหนด แต่สิ่งที่ได้รับกลับเป็นภาวะป่วยไข้ทางใจอย่างภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ครอบครัวและคนรอบข้างที่รับฟังอย่างเข้าใจ ไม่คาดหวัง และไม่ตัดสิน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับปัญหานี้ ซึ่ง รศ.ดร.สมพรอธิบายว่า

คนพวกนี้ถ้าเราฟัง เขาก็พร้อมที่จะพูด เราก็มีหน้าที่ไม่ตัดสินว่าเขาเป็นแม่ที่ไม่ดี อีกอย่างหนึ่งคือเราต้องเปิดพื้นที่ให้เขาพูด อย่างที่เขาไม่ต้องกลัวว่าเขาจะถูกตัดสินว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี ซึ่งเราไม่ค่อยมีพื้นที่นี้ให้กับเขา เพราะพอเขามีลูก เขาถูกแยกออกจากสังคมเลย เพราะฉะนั้นเราต้องให้เวลากับเขา และต้องเป็นเวลาที่เขาจะพูดได้อย่างไม่ต้องกลัวการถูกตัดสิน”

นอกจากนี้ คนรอบข้างที่มีหน้าที่รับฟัง ยังต้องปรับมุมมองว่าบทบาทความเป็นแม่ ความเป็นพ่อ ไม่ได้แยกตามเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน

ที่จริงต้องนึกถึงคำว่าครอบครัว เพราะมันไม่ใช่แม่คนเดียว คนที่ทำให้มีลูกต้องมาแชร์บทบาทร่วมกัน ช่วยกัน อาจจะพบว่าคนใดคนหนึ่งมีทักษะดีกว่าก็ได้ หรือเงื่อนไขของการทำงาน อีกคนอาจจะมีเวลามากกว่า ไม่ควรจะไปยึดติดว่าแม่ที่ดีคืออะไร พ่อที่ดีคืออะไร เพราะว่าเงื่อนไขของชีวิตคนสองคนที่มีลูกขึ้นมา มันไม่เหมือนกันทุกคู่ แต่ไม่ใช่ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียสละ ไม่ใช่แม่คนเดียวที่ต้องแบกทุกอย่างเอาไว้” รศ.ดร.สมพรระบุ

นอกจากการรับฟังอย่างเข้าใจและการแบ่งเบาภาระในครอบครัวแล้ว ตัวผู้หญิงเองก็ต้องยอมรับใน “ความเป็นมนุษย์” ของตัวเอง ที่มีข้อจำกัด สามารถผิดพลาดได้ และอ่อนแอได้ ซึ่งคุณวีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์และคุณแม่ลูกหนึ่ง ที่เคยผ่านภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ยืนยันว่าการยอมรับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เป็นหนทางเดียวที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นแม่ที่ดีได้

แม่ก็เป็นมนุษย์ปุถุชน ที่สามารถผิดพลาดได้ และเป็นหนทางเดียวที่คุณจะเป็นแม่ที่ดีได้ คุณเป็นมนุษย์ ลูกคุณก็เป็นมนุษย์ เขาชอบแบบเขาได้ ด้อยความสามารถได้ และสามารถทำสิ่งที่คุณไม่คาดหวังได้ เราทะเลาะกับลูก ลูกร้องไห้ใส่ เราก็นั่งร้องไห้ใส่กลับ เสร็จแล้วก็ขอโทษเขา แล้วก็ให้เขาขอโทษ เราทำร้ายความรู้สึกกัน แต่ไม่เป็นไร เราเป็นมนุษย์ และเราเป็นมนุษย์ที่รักกันที่สุด” คุณวีรพรกล่าว

นอกจากนี้ ในฐานะผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านเพศภาวะ รศ.ดร.สมพร ก็เสนอว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อสังคมที่ไม่เป็นธรรม ที่มาคาดหวังในตัวผู้หญิงคนหนึ่ง หากเราบอกว่าภาวะที่เธอเป็นมันเป็นภาวะปกติ ที่ใครๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเธอก็มีโอกาสที่จะเป็นได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่เป็นเพราะสังคมมาคาดหวังที่ไม่เป็นจริงกับชีวิตเขา มันจะทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกตัดสิน และเขาไม่ได้ผิดปกติ รวมทั้งเขายังมีสิทธิ์ที่จะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมก็ได้”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook