จส.100 เปิดโผ 5 อันดับ "ถนนรถติด" ที่สุดของปี 2561 ใจไม่ถึงอย่ามา
จส.100 เปิดอันดับ 5 เส้นทางที่เข้าวินเป็น "ถนนรถติด" ที่สุดของปี 2561 จากการรวบรวมข้อมูลการแจ้งร้องเรียนของประชาชนตลอดทั้งปี เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่ใจไม่ถึง...อย่าเข้ามา
จส.100 ได้ทำการประมวลและรวบรวมข้อมูลเส้นทางถนนที่ได้รับแจ้งสภาพการจราจรติดขัดมากที่สุดประจำปี 2561 โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากการรับแจ้งจากภาคประชาชนทาง Call Center โทร. 1137 และ *1808 , ช่องทางออนไลน์ที่ ทวิตเตอร์ @js100radio เฟซบุ๊ก JS100Radio และ @js100 ประกอบด้วย
"ถนนลาดพร้าว"
เป็นผลพวงจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่เริ่มดำเนินการเปิดผิวการจราจรก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าในปีนี้ ส่งผลให้สภาพการจราจรบนถนนลาดพร้าวติดขัดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
จากเดิมที่ปริมาณรถหนาแน่นเป็นปกติอยู่แล้ว ด้วยกายภาพของถนนที่มีตรอกซอกซอยและชุมชนพักอาศัยอยู่จำนวนมาก สำหรับจุดที่สร้างวิกฤตจราจรอยู่บ่อยครั้ง คือ บริเวณแยกภาวนา และลาดพร้าว 130 ที่หลายครั้งส่งผลกระทบไปถึงด้านถนนรัชดาภิเษก ถนนรามคำแหง และถนนศรีนครินทร์
"ถนนรามคำแหง"
ส่วนหนึ่งได้รับของกระทบต่อเนื่องมาจากถนนลาดพร้าว ฝั่งขาเข้า ท้ายแถวสะสมเข้ามาที่แยกลำสาลี ต่อเนื่องถนนรามคำแหง ขาออก ขณะเดียวกันบนถนนรามคำแหงยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรทั้งพื้นราบและทางยกระดับ เนื่องจากต้องปิดเบี่ยงช่องทางหลายจุด อาทิ การสลับใช้ทางยกระดับรามคำแหงฝั่งขาเข้าและขาออกในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าเย็น การเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงแรมอเล็กซานเดอร์ การเบี่ยงการจราจรบริเวณแยกบิ๊กซีรามคำแหง
"ถนนศรีนครินทร์"
เป็นอีกเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง เนื่องจากเดิมถนนศรีนครินทร์มีช่องทางจราจรฝั่งละ 3-4 ช่องทาง แต่เมื่อมีแนวก่อสร้างหลายจุดคงเหลือ 1-2 ช่องทางจราจร ทำให้ปริมาณรถที่มีปริมาณมากเป็นปกติอยู่แล้วเหลือพื้นที่วิ่งน้อยลง โดยเฉพาะทางเลี้ยวตามแยกต่างๆ ทางตรงต้องติดพร้อมกับรถที่รอเลี้ยว เช่น แยกศรีนุช รวมถึงบริเวณที่ใกล้โซนห้างสรรพสินค้ายิ่งทำให้เกิดปัญหาคอขวดมากขึ้น
"ถนนรามอินทรา-แจ้งวัฒนะ"
อีกทั้งเป็นเส้นทางก่อสร้างในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย ซึ่งมีการปิดการจราจรแล้วหลายจุดส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพของถนนเป็นคอขวด จาก 3-4 ช่องทาง คงเหลือ 1-2 ช่องทาง อาทิ บริเวณ กม.1 สนามกีฬากองทัพบก, กม.3 ใกล้ศูนย์การค้าบิ๊กซี, กม.4 แยกมัยลาภ, กม.8 แยกคู้บอน ส่งผลกระทบจากสภาพการจราจรทำให้มีท้ายแถวเข้ามาบนถนนแจ้งวัฒนะ
ขณะเดียวกันบนถนนแจ้งวัฒนะ ก็มีเปิดพื้นที่แนวก่อสร้าง บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, ศูนย์การค้าบิ๊กซี ใกล้ทางเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎวัฒนะ, อาคาร CP ALL Academy ส่งผลกระทบด้านสภาพการจราจรทำให้รถไม่สามารถลงจากทางพิเศษศรีรัชได้
"ถนนติวานนท์"
หนึ่งในเส้นทางก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย เช่นกัน หากจำกันได้วันแรกที่เริ่มเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงพยาบาลหูตาคอจมูก ส่งผลกระทบให้ถนนงามวงศ์วานและถนนรัตนาธิเบศร์ติดขัดอย่างหนักเพราะไม่สามารถผ่านแยกแครายได้ ขณะเดียวกันแนวก่อสร้างทางแยกสนามบินน้ำ และหน้ากรมชลประทาน ก็ถูกจำกัดช่องทางเหลือเป็นคอขวดเช่นกัน ถือเป็นเส้นทางที่หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน บนถนนเส้นทางหลักที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่แล้ว อย่าง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนสาทร ถนนพระราม 4 และถนนรัชดาภิเษก ก็ยังคงติดขัดเช่นเดิม เพียงแต่เส้นทางเหล่านั้นอาจมีทางเลือกอื่นมากกว่า เช่น การใช้ทางพิเศษฯ และการใช้บริการรถไฟฟ้า
ทั้งนี้เชื่อว่า 5 เส้นทางที่กล่าวมา หากงานก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าได้ ปัญหาการจราจรบนท้องถนนก็คงจะลดลงไป แต่ระหว่างที่มีงานก่อสร้างก็ขอให้ชาวกรุงเทพฯ อดทนและเสียสละเพื่ออนาคตที่ดีกว่า หากเป็นไปได้ก็ช่วยกันลดการใช้รถส่วนบุคคล หันมาใช้การขนส่งสาธารณะอื่นๆ แทน เช่น รถไฟฟ้า เรือโดยสาร รถโดยสาร คงจะช่วยได้เยอะ