14 ปี เหตุสึนามิ 26 ธันวาคม ยืนยันระบบเตือนภัยไทยได้มาตรฐานสากล
ครบรอบ 14 ปี สึนามิ 26 ธันวาคม ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ขอให้ ปชช. มั่นใจ ระบบเตือนภัยสึนามิ ใช้การได้ตามมาตรฐานสากล
นายประสงค์ ธัมมะปาละ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์การเตือนภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงวันนี้ (26 ธ.ค.) เป็นวันครบรอบการเกิดสึนามิครั้งใหญ่ ส่งผลให้ 6 จังหวัดอันดามันของไทย ได้รับความสูญเสียจำนวนมาก ว่า ในปัจจุบันทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีเครื่องมือ และอุปกรณ์เตือนภัยที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล
โดยฝั่งอันดามันเรามีระบบติดตามคลื่นสึนามิผ่านทุ่นเตือนภัยแผ่นดินไหว หรือ สึนามิในทะเลอยู่ 2 ตัว ตัวไกลอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งห่างจากเกาะภูเก็ตไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร และตัวใกล้อยู่ห่างจากฝั่ง 290 กิโลเมตร ซึ่งตัวนี้ทางศูนย์มีแผนการจะนำทุ่นตัวใหม่ไปวางในเดือนมกราคม ปี 2562
นอกจากทุ่นเตือนภัยแล้ว ยังมีจุดวัดระดับน้ำทะเล จากกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ ที่ติดตั้งที่เกาะเมี่ยง ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ซึ่งเมื่อระบบเหล่านี้จับสัญญาณของคลื่นสึนามิได้ ก็จะแจ้งเตือนกลับมาที่ศูนย์ และเราจะประมวลผลใช้เวลาไม่เกิน 7 นาที และแจ้งเตือนกลับไปยังประชาชนทันที
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์มีการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว หรือ สึนามิ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้ติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งจากในประเทศ เช่นของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี และภายในนอกประเทศที่เป็นสากล และเมื่อติดตามมาแล้ว และนำมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินสถานการณ์ในทุกๆ วัน
ซึ่งในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว หรือ สึนามิ เราจะดำเนินการแจ้งเตือนข้อมูลไปยังทุกหน่วยให้รับทราบก่อนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้เตือนต่อไปยังประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมตัวได้ทันการ