อย่าประมาท! นักวิชาการดังเตือนพี่น้องภาคใต้เตรียมตัวรับมือ "พายุปาบึก"

อย่าประมาท! นักวิชาการดังเตือนพี่น้องภาคใต้เตรียมตัวรับมือ "พายุปาบึก"

อย่าประมาท! นักวิชาการดังเตือนพี่น้องภาคใต้เตรียมตัวรับมือ "พายุปาบึก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ม.ค. 62) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ซึ่งเนื้อหาเป็นการเตือนและแนะนำให้เตรียมรับมือผลกระทบจากพายุปาบึก

คาด "พายุปาบึก" เร็ว-แรง แต่ยังไม่เท่า "ไต้ฝุ่นเกย์"

นักวิชาการชื่อดังระบุ ตนอาศัยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเว็บไซต์พยากรณ์หลายแห่ง ประกอบกับประสบการณ์ส่วนตัว สมัยเคยเจอเกย์และลินดา จึงอยากให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากกรมอุตุนิยมวิทยา

ขณะนี้ พายุปาบึก ที่กำลังเข้ามา แรงลมอยู่ที่ 65 กม./ชม. ถือว่าแรงสำหรับอ่าวไทย แต่ยังน้อยกว่าไต้ฝุ่นเกย์ที่เคยเข้ามาอยู่มาก อย่างไรก็ตาม เราดูแรงลมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะพวกเราคนไทยโชคดีมาตลอด เราแทบไม่เคยเจอไต้ฝุ่นหรือพายุแรงๆ เพราะอ่าวไทยไม่ได้อยู่ในเส้นทางประจำของพายุ ผิดกับหลายประเทศเพื่อนบ้านที่โดนกันมาปีละหลายลูก

เมื่อไม่คุ้นเคย การเตรียมการรับมืออาจไม่ถนัดเหมือนเจอประจำ นอกจากนี้ พื้นที่แต่ละแห่งยังเสี่ยงไม่เท่ากัน บางแห่งริมอ่าวไทยอาจเป็นแหลมทรายยื่นไปในทะเล หรือเป็นชายฝั่งหันรับลมเต็มๆ จึงต้องระวังเพิ่มให้มาก โดยเฉพาะพื้นที่เคยโดนในอดีต ให้ลองสอบถามจากผู้อาวุโส

โดยปกติพายุจะแรงในทะเล เมื่อขึ้นฝั่งจะเบาลงอย่างเร็ว ตอนนี้พายุปาบึกอยู่ในทะเล และจากจุดนั้นจนถึงในอ่าวไทย ไม่มีแผ่นดินใดขวางกั้น พายุในช่วงเข้าอ่าวไทย จึงน่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงตอนนี้

อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงานบอกว่าอาจแรงขึ้น เช่น กรมอุตุญี่ปุ่น คาดว่าอาจถึง 90 กม./ชม. ซึ่งถ้าแรงขนาดนั้น การเตรียมรับมือก็ต้องมากขึ้นกว่าเดิม เราต้องติดตามสภาพอากาศต่อไป ว่าจะแรงขึ้นขนาดนั้นหรือไม่

>> กรมอุตุฯ สั่งจับตา "พายุโซนร้อนปาบึก" จ่อลงอ่าวไทย-กระทบภาคใต้

เส้นทางพายุอาจพัดผ่าน สมุย-พะงัน-สุราษฎร์-ชุมพร

ผศ.ดร.ธรณ์ เผยเพิ่มเติมว่า เส้นทางของพายุจะขึ้นกับลมหนาวที่มาจากเหนือ หากลมแรง พายุจะลงล่างหน่อย ตอนนี้ลมหนาวเริ่มเบาลง เส้นทางพายุทแยงขึ้นเหนือ มีแววว่าใจกลางพายุอาจผ่านแถวสมุย-พะงัน ก่อนเข้าไปที่สุราษฎร์ธานีและชุมพรตอนใต้

เรื่องนี้เดาได้ยาก ในสมัยพายุเกย์ เกิดการเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน เอียงขึ้นเหนือเข้าปะทิว ชุมพร มันขึ้นกับแรงลมหนาวว่าจะเป็นยังไง แต่เท่าที่ดูจากพยากรณ์ ใจกลางพายุน่าจะเข้าแถวสุราษฎร์ธานี ชุมพร ไม่น่าจะลงไปใต้กว่านี้

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่เราต้องติดตามข้อมูลข่าวสารแบบถี่ยิบหน่อย เผื่อเกิดอะไรเปลี่ยนแปลงจะได้ทราบล่วงหน้า แรงลมใกล้ศูนย์กลาง ระดับ 65 กม./ชม. เมื่อพัดผ่าน ทำให้เกิดคลื่นสูงได้ครับ คลื่นกลางทะเลไม่น่าต่ำกว่า 3-4 เมตรหรือกว่านั้นในบริเวณใกล้ใจกลางพายุ

ในบริเวณที่ห่างออกมา คลื่นจะเบาลงแต่บางทีอาจมีลักษณะเป็นเดิ่ง ผมเคยเจอแถวเกาะช้างเมื่อนานมาแล้ว ฟ้าใสไม่มีเมฆ แต่คลื่นลูกโตลอยมาเป็นระยะ กลายเป็นคลื่นหัวแตกลูกใหญ่เมื่อเข้าใกล้ชายฝั่ง คนรอบอ่าวไทยต้องระวังไว้

ในส่วนของอันดามัน คงเจอผลกระทบบ้าง คลื่นระดับ 2 เมตร ต้องติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

>> กรมอุตุฯ เผย “พายุปาบึก” แรงเท่า “พายุแฮเรียต” ที่เคยถล่มแหลมตะลุมพุก 57 ปีก่อน

ชี้ "อิทธิพลพายุปาบึก" แรงสุด 2-3 ม.ค.นี้

ตอนนี้พวกชาวแท่นปิโตรเลียมกลางทะเล เริ่มอพยพคนในบางส่วนแล้ว ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ไม่ใช่อพยพแบบวูบเดียวหมดแท่น เพราะแท่นจะต้องทำงานต่อไป ตอนนี้นำคนเฉพาะที่ไม่สามารถทำงานได้กลับมาก่อน แต่ผมไม่คิดว่าจะถึงขั้นต้องปิดแท่น

วันนี้ 2 มกราคม เราจะยังไม่เจอฝนตกหนัก แม้อาจเริ่มมีลมแรงบ้าง และจะแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย

พรุ่งนี้ 3 มกราคม ตอนรุ่งเช้า แถวนครศรีธรรมราช-สงขลา น่าจะเริ่มเกิดคลื่นใหญ่และฝนตก จากผลของหางพายุ สมุยและพะงัน จะเริ่มมีฝนหนักตั้งแต่พรุ่งนี้เช้า

แต่พายุแรงจริงจะเข้าในช่วงคืนวันที่ 3 และตลอดวันที่ 4 มกราคม (วันศุกร์) อันเป็นช่วงที่พายุใกล้ขึ้นฝั่ง อ่าวไทยบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่ประจวบตอนล่างลงไปถึงนคร จะโดนฝนและคลื่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ขณะที่บริเวณอื่นๆ ของอ่าวไทยก็ห้ามประมาท คลื่นจะใหญ่และเรือควรงดออกจากฝั่ง (ในอ่าวไทย ถึงวันที่ 5 มกราคม ตามประกาศกรมอุตุฯ) สมัยพายุเกย์ เรือประมงจมเป็นจำนวนมากเพราะตอนนั้นเรายังไม่คุ้นเคย แต่หนนี้เชื่อว่าเรือคงเข้าฝั่งหมด เพราะระบบแจ้งเตือนเรือประมงของเราดีขึ้นมาก

อีกทั้งชาวเรือรู้ดี การโต้คลื่นยักษ์กลางทะเลไม่สนุกแน่ หากเป็นอะไรไป การให้ความช่วยเหลือท่ามกลางพายุคงเป็นไปได้ลำบากยากยิ่ง (สมัยพายุเกย์บางคนต้องลอยคอกันหลายวัน) เรือที่เข้ามาจอดริมฝั่ง ต้องระวังคลื่นเข้ามาให้มาก สมัยนั้นส่วนใหญ่ก็จมอยู่ริมฝั่ง คงต้องหาที่หลบลมแล้วจอดให้ดี อุปกรณ์หรือของมีค่าบนเรือ ถ้าถอดได้ก็นำมาเก็บไว้ บ้านที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง โดยเฉพาะที่โดนคลื่นเป็นประจำ คงจะโดนคลื่นใหญ่แน่นอน ต้องเตรียมตัวไว้

ช่วงเช้าตรู่ วันที่ 4 เป็นช่วงน้ำขึ้นสูงสุด เป็นเวลาที่พายุกำลังเข้าฝั่ง คลื่นเมื่อมีน้ำทะเลหนุน จะแรงสุดช่วงนั้น ถนนที่เลียบชายหาดและโดนคลื่นเป็นประจำ ไม่ควรเข้าไปใกล้ อันตรายมาก รถที่จอดริมทะเล อาจโดนไอน้ำเค็มแล้วเสียหาย เอาไปฝากบ้านเพื่อน-บ้านญาติ ที่อยู่ห่างออกไปจะปลอดภัยกว่า อย่าไปจอดแถวถนนริมทะเล

>> อพยพเจ้าหน้าที่แท่นขุดเจาะกลางทะเล เตรียมประชุมด่วนรับมือ "พายุโซนร้อนปาบึก"

แนะอยู่ในอาคารปลอดภัยสุด-อย่าลืมพกของใช้จำเป็นให้พร้อม

เมื่อลมแรง ปัญหาสำคัญที่เกิดสมัยพายุเกย์คือป้ายหรือหลังคาสังกะสีปลิว ให้ตรวจสภาพบ้านเรือนอาคารให้ดี มีอะไรตอกให้แน่นได้ก็ตอกเถิด อะไรที่ดูแล้วปะทะลมสุดๆ ก็นำลง เมื่อลมแรง อย่าออกไปข้างนอกเด็ดขาด ขอย้ำตรงส่วนนี้ เพราะอาจโดนป้ายหรืออะไรปลิวมาโดน

สมัยพายุเกย์ มีผู้เสียชีวิตหลายคนเพราะหลังคาสังกะสีปลิวมากับลม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และหลบไม่ทัน ระวังเรื่องกระจกในบ้าน พยายามอยู่ห่างสักนิด เพราะบางหนอาจมีอะไรปลิวมาจนกระจกแตก ขอเน้นเรื่องของปลิวมากๆ เพราะเมืองไทยป้ายเยอะ ของที่ปลิวก็มีเยอะ อย่าไปหลบลมตามพื้นที่เสี่ยง เช่น ป้ายใหญ่ๆ ต้นไม้ที่รากไม่แน่นหนา อยู่ในบ้านหรืออาคารปลอดภัยที่สุด ในบ้านก็ควรอยู่ในที่ปลอดภัย มองดูต้นไม้ใหญ่หรืออะไรรอบบ้านไว้ ในกรณีที่อาจล้มลงมาโดนบ้าน พยายามอยู่ในจุดที่น่าจะปลอดภัย

ในเรื่องของดินถล่ม-น้ำป่า คงต้องระมัดระวังและพูดคุยกับทางการในพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีความเสี่ยงแตกต่างกัน น้ำยุคนี้มาแรง บางทีมาพร้อมกับต้นไม้/โคลน ใครอยู่ตามบ้านริมลำน้ำหรือในหุบเขา ระวังไว้นิด ภาคใต้ภูเขาสูงติดที่ราบ น้ำจะลงมาเร็วมาก

เตรียมน้ำดื่ม ไฟฉาย ของกิน ฯลฯ ไว้ด้วยนะครับ เพราะบางทีไฟอาจดับ ชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์ไว้ให้เต็มเสมอ เตรียมถ่านไฟฉาย หากมีวิทยุใช้ถ่านก็เตรียมไว้ ในกรณีที่ระบบโทรศัพท์ล่ม จะได้รับฟังข่าวสารได้ ยาประจำตัว ยารักษาโลก ตู้ยาประจำบ้าน เช็คไว้นิดก็ดี ถึงตอนนั้นจะฝ่าลมไปซื้อยาคงลำบาก

ขับรถใกล้ทะเลอ่าวไทยภาคใต้ วันที่ 3 กลางคืน - 4 กลางวัน ระวังไว้หน่อย ฝนคงหนัก ปั๊มน้ำมันควรเตรียมการไว้ เพื่อให้บริการในภาวะเช่นนี้ ใครจะไปเที่ยวแถวอ่าวไทยในจุดเสี่ยง หลังวันที่ 5-6 คงไม่มีปัญหา พายุข้ามไปแล้วและคงลดแรงลงเยอะ คน กทม.หรือภาคอื่นๆ คงไม่ได้รับผลกระทบ เตรียมตัวช่วยพี่น้องชาวใต้ไว้หน่อยก็ดี

อาจารย์ธรณ์ ปิดท้ายโพสต์ว่า อ่านทั้งหมดแล้วอาจดูน่ากลัว แต่ไม่ประมาทย่อมดีกว่า และควรติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เย็นวันนี้เป็นต้นไป

>> ชาวแหลมตะลุมพุก หวั่น “ปาบึก” ซ้ำรอย “แฮเรียต” ปี 2505

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook