ย้อนอดีตเส้นทางพายุ "โซนร้อนแฮเรียต-ไต้ฝุ่นเกย์" เทียบกับ "พายุปาบึก"
เนื่องจากอิทธิพลของ "พายุโซนร้อนปาบึก" ที่มีเส้นทางลงสู่อ่าวไทยและมุ่งหน้าขึ้นฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายต่างเตรียมพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น ตามแนวเส้นทางของพายุปาบึกที่จะพาดผ่าน โดยเฉพาะบริเวณ จ.ชุมพร, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี รวมทั้งพื้นที่ เกาะสมุย และ เกาะพะงัน
ทั้งนี้ก็เพื่อรับสถานการณ์ไม่ให้ซ้ำรอยเช่นในอดีต ยังคงมีประวัติศาสตร์และบทเรียนครั้งก่อนที่จะยังเป็นที่จดจำมาถึงคนรุ่นหลัง มีการตั้งข้อสังเกตว่าเส้นทางของพายุโซนร้อนปาบึกในครั้งนี้นั้น มีทิศทางการเคลื่อนที่ค่อนข้างคล้ายกับพายุที่เคยขึ้นชายฝั่งอ่าวไทย อย่าง "พายุโซนร้อนแฮเรียต" หรือ "พายุไต้ฝุ่นเกย์" เมื่อหลายปีก่อน
"พายุโซนร้อนแฮเรียต" เริ่มก่อตัวขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 จากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง นอกชายฝั่งทะเลใกล้กับฟิลิปปินส์ ค่อยๆ เคลื่อนตัวช้าทางทิศตะวันตกและมีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ
แต่ปรากฏว่าพายุได้พัฒนากลายเป็นพายุดีเปรสชั่น ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ขณะที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านแหลมญวน ประเทศเวียดนามตอนใต้ ความเร็วลมเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพัฒนากลายเป็นพายุโซนร้อน เมื่อพายุได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทย ทำให้ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "พายุโซนร้อนแฮเรียต"
จากแนวเส้นทางพายุโซนร้อนแฮเรียต เดิมมีการคาดการณ์ว่าจะขึ้นฝั่งในพื้นที่ จ.สงขลา แต่ปรากฏว่าในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 พายุได้เปลี่ยนทิศทางเบนขึ้นทิศเหนือเล็กน้อย ทำให้ช่วงค่ำวันเดียวกันนั้น พายุโซนร้อนแฮเรียต ได้พัดขึ้นฝั่งบริเวณแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ด้วยกำลังความเร็วลมสูงสุด 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุโซนร้อนแฮเรียตทำการเกิดพลังการทำลายจากกระแสลมแรง อีกทั้งยังทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นทะเลยกตัวขึ้นสูง หรือ สตอร์มเซิร์จ ซัดเข้าสู่ชายฝั่ง ทำให้พายุลูกนี้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 935 คน หมู่บ้านถูกกลืนหาย ยังกลายเป็นตำนานเรื่องเล่าที่เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ณ บ้านแหลมตะลุมพุก มาจนถึงทุกวันนี้
ภายหลังจากพายุโซนร้อนแฮเรียตได้ขึ้นชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทยไปแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับจังหวัดใกล้เคียง ก่อนที่พายุได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น แล้วเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามัน อิทธพลของพายุโซนร้อนแฮเรียต หลังจากอ่อนกำลังลงยังพัดออกไปสู่อ่าวเบงกอล และเลี้ยวไปขึ้นฝั่งประเทศบังกลาเทศ ก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด
"พายุไต้ฝุ่นเกย์" เป็นพายุรุนแรงอีกลูกที่สร้างความเสียหายและถูกจารึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ภัยพิบัติของประเทศไทย และยังเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกเลวร้ายที่สุดของคาบสมุทรมลายูรอบ 35 ปี ในขณะนั้น พายุลูกนี้ได้ความเสียหายอย่างหนักให้กับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ชุมพร
วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงได้ก่อตัวขึ้นบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ก่อนจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และพัฒนากลายเป็นพายุโซนร้อน พร้อมกับได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "พายุเกย์"
ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 พายุได้เพิ่มกำลังความเร็วลมและกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 1 พัดอยู่ใจกลางอ่าวไทย ก่อนที่เช้าวันต่อมา (4 พ.ย.) พายุไต้ฝุ่นเกย์ได้พัดขึ้นชายฝั่ง บริเวณช่วงรอยต่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ ชุมพร ด้วยกำลังความเร็วลมถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจัดเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3
อิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้ผู้เสียชีวิตถึง 537 คน สร้างความเสียหายให้กับ อ.เมือง, อ.บางสะพานน้อย, อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ท่าแซะ, อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซ้ำยังทำเรือขุดเจาะน้ำมันอับปางลงนอกชายฝั่งอ่าวไทย
พายุไต้ฝุ่นเกย์ กลายเป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ชายฝั่งประเทศไทย ด้วยความเร็วลมระดับพายุไต้ฝุ่น โดยหลังจากนั้นพายุลูกนี้ยังได้พัดข้ามอ่าวเบงกอล กลายเป็นพายุโซโคลนระดับ 5 ขึ้นถล่มชายฝั่งประเทศอินเดีย ก่อนจะสลายตัวไปบริเวณเทือกเขากัตส์ทางตะวันตกของอินเดีย
ทั้งนี้ เส้นทางของพายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างประหลาดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากพายุก่อตัวขึ้นในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเพียงอ่าวทะเลเล็กๆ ก่อนจะสะสมพลังงานและพัฒนากลายเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับที่น่าเกรงขาม ผิดวิสัยปกติของก่อกำเนิดพายุหมุนเขตร้อนในภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม จากเส้นทางของพายุรุนแรงทั้ง 2 ลูกในอดีตที่เคยพัดผ่านประเทศไทย ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่นำมาปรับใช้และปรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สำหรับเส้นทางของ "พายุโซนร้อนปาบึก" นั้น ทางศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ว่าพายุปาบึกจะเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนทิศเหนือ อาจจะขึ้นชายฝั่งระหว่าง จ.สุราษฎร์ธานี กับ เกาะสมุย ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562
โดยหลังจากนั้นพายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามัน โดยจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงและไปสลายกตัวบริเวณอ่างเบงกอลตอนบน ทางกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยได้คาดการณ์ความเร็วลมของพายุปาบึก ขณะฝั่งเข้าสู่ชายฝั่ง อาจจะใกล้เคียงกับกรณีของพายุโซนร้อนแฮเรียต ประมาณ 85-95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
>> กรมอุตุฯ เผย “พายุปาบึก” แรงเท่า “พายุแฮเรียต” ที่เคยถล่มแหลมตะลุมพุก 57 ปีก่อน