อุบัติเหตุบนท้องถนน: ภัยร้ายหลาก “ตัวแปร” รอแก้ลดสูญเสีย
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้นอีกครั้ง ราวกับเป็นเหตุการณ์ปกติที่มักจะเกิดขึ้นในทุกช่วงเทศกาลวันหยุด ทว่าในครั้งนี้ เรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นกับ "เซนติเมตร-จตุรภัทร เข็มนาค" สไตลิสต์ชื่อดังและพิธีกรจากรายการ "ล้นตู้" ที่นั่งรถมากับเพื่อนสนิท ก่อนรถของทั้งคู่ชนรถคู่กรณีจากด้านข้างแล้วพลิกคว่ำตกลงในคลองชลประทานกลางเมืองเชียงใหม่ ทราบข่าวต่อมาว่าทั้งคู่เสียชีวิตลงแล้ว
>> สุดเศร้า! "เซนติเมตร" พิธีกรรายการ "ล้นตู้" เสียชีวิตแล้วจากเหตุรถตกคลองที่เชียงใหม่
>> ตร.ฟันธง เก๋งผิดเต็มๆ ชนรถ "เซนติเมตร" ฝ่าฝืนขับในช่องห้ามตรง เตรียมแจ้งข้อหา
ทุกครั้งที่สังคมไทยเข้าสู่ช่วงเทศกาล ซึ่งเปรียบเสมือนกับเวลาแห่งการพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือสงกรานต์ ภาพข่าวที่ทุกคนน่าจะคุ้นชินคงจะหนีไม่พ้นภาพของสารพัดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผู้บาดเจ็บที่นอนเรียงราย พาหนะที่พังยับเยิน และญาติมิตรที่ต้องเจ็บปวดเพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้น
>> สาวคู่กรณี "เซนติเมตร-โจ้" ยังช็อกทำคนตาย ตำรวจชี้ประมาทใช้ช่องทางผิด
>> เปิดคลิปนาทีเก๋งพุ่งชนซีอาร์วีตกคลอง พิธีกรดัง "เซนติเมตร" ดับพร้อมเพื่อน
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ชื่อ The WHO Global status report on road safety 2018 ระบุว่า สาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนหนุ่มสาวทั่วโลกนั้นมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนเป็นอันดับหนึ่ง และพาหนะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์นั่นเอง
ทวีปที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดจากจำนวนประชากร 100,000 คน (2016)
-
แอฟริกา = 26.6
-
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ = 20.7
-
เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก = 18
-
แปซิฟิคตะวันตก = 16.9
-
อเมริกา = 15.6
-
ยุโรป = 9.3
เจาะสาเหตุอันตรายนำไปสู่ความสูญเสียบนท้องถนน
กระบวนการสอบใบขับขี่ที่หละหลวม
Sanook! News มีโอกาสลองสอบถามผู้ใช้รถรายหนึ่ง ซึ่งสามารถอนุมานให้เห็นถึงกระบวนการสอบใบขับขี่ที่ควรจะมีระเบียบที่เคร่งครัด แต่กลับเป็นกระบวนการที่ยังมีความหละหลวมอยู่พอสมควร และยังอาจสามารถสอบผ่านได้ง่ายด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่
“ตอนนั้นเราอายุ 18 พอดี เราก็ไปลองสอบใบขับขี่ทั้งที่ตัวเองก็ยังขับไม่เก่ง แต่เรารู้ว่าสุดท้ายมันน่าจะดิ้นได้ เพราะเราเคยได้ยินคนพูดมาเยอะว่า เนี่ย มันใช้เงินยัดได้นะ เราก็ไปแบบซื่อๆ แล้วผลมันออกมาว่าเราไม่ผ่านท่าที่สาม ซึ่งเป็นท่าที่ต้องจอดเทียบริมทางเท้า คือเรารู้ตัวนะว่าเราทำไม่ผ่าน ใครที่อยู่ตรงนั้นดูยังไงก็รู้ เราเลยลงจากรถ ในใจก็รู้สึกไม่ดี แล้วอยู่ๆ เจ้าหน้าที่ก็พูดว่า ‘เนี่ย หิวข้าวจังเลยเนี่ย?’ เราก็เลยถามเขาว่าอยากกินอะไรไหม เขาก็บอกว่าขอข้าวกลางวันแล้วกัน พอเรากำลังจะเดินไปซื้อให้ เจ้าหน้าที่เขาก็ร้องบอกว่า ‘ขอบัตรเติมเงินด้วย’ สุดท้ายเราก็เสียแค่ค่าข้าวกับค่าบัตรเติมเงิน แล้วเจ้าหน้าที่ก็ให้เราผ่านเลย”
สำหรับเธอแล้ว แม้จะผ่านการสอบใบขับขี่ครั้งนั้นมาได้ แต่มันต้องแลกมากับความสุ่มเสี่ยง เนื่องจากตัวเองยังไม่พร้อมดีสำหรับการใช้รถยนต์ส่วนตัว
“เราว่ามันมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย คือเรายังแปลกใจว่าการสอบใบขับขี่มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ ตอนแรกเราได้ยินมาว่ามี 2,000 ถึงซื้อได้ แต่เราเสียแค่ร้อยกว่าบาทเอง เดาว่าเขาก็คงอยากจะช่วย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ พอเรามาขับจริงเราก็ชนแหลกเลยเพราะว่าเรายังไม่พร้อม เราก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเอา”
ปัจจัยเรื่องพื้นที่และท้องถนน
นอกเหนือไปจากเรื่องของใบขับขี่ซึ่งน่าจะมีส่วนในการเพิ่มอันตรายบนท้องถนน อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจละเลยได้นั่นก็คือปัจจัยในเรื่องความคุ้นชินของเส้นทาง เมื่อสอบถามจากคนในพื้นที่ กรณีอุบัติเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นคือผลกระทบจากการตีเส้นถนนที่คลุมเครือ ซึ่งมีแต่คนในพื้นที่เชียงใหม่เท่านั้นที่จะคุ้นชิน
“ถนนที่เกิดเหตุ คนเชียงใหม่เรียกว่า ถนนคันคลองชลประทาน หรือถนนรอบเมืองเชียงใหม่ คือถนนที่เกิดเหตุจะมีคลองอยู่ตรงกลาง แล้วจะมีสะพานข้ามระหว่างสองฝั่ง ทีนี้เมื่อก่อนถนนมันจะแบ่งเป็นสองเลน แต่คนเลี้ยวตรงนี้บ่อยเข้า แล้วเขาไม่ได้เอาเส้นปลอดภัยออก แต่ใช้วิธีตีเส้นทับไปเลย ถ้าเป็นคนท้องที่เขาจะรู้ว่ามันชิดแล้วเลี้ยวได้เลย แต่รถคันที่เกิดเหตุเขาอาจจะไม่รู้ว่าด้านขวาก็วิ่งได้ ซึ่งผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ผิดในจุดนี้ แต่เพราะถนนไม่ชัดเจนเลยไม่ได้ระวังว่ามีรถมาทางขวา รถเลยชนกัน ซึ่งมันก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวถนนเองด้วย”
แรงกระแทกจากสิ่งกีดขวาง
จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก ระบุว่า อุบัติเหตุจากการขับรถชนต้นไม้และสิ่งกีดขวางถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ขับขี่ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากรถเสียหลักหลุดออกจากถนน และชนต้นไม้ แม้จะด้วยความเร็วเพียง 60 กม./ชม. แรงปะทะจะเทียบเท่ากับรถตกจากตึกสูงถึง 5 ชั้นทีเดียว ทางด้าน ดร.นรบดี สาละธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุทางท้องถนน สมาคมวิทยาการจราจรและขนส่งแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนซึ่งเกิดจากการที่รถชนเข้ากับต้นไม้ เสาไฟ หลักกิโลเมตร หรือแม้แต่สิ่งปลูกสร้างข้างทาง คิดเป็นร้อยละ 30-45 เปอร์เซ็นต์ของความสูญเสียทั้งหมดเลยทีเดียว
>> ต้นไม้ริมทางอันตราย! กรณีศึกษาหลังสูญเสีย "น้องอิน ณัฐนิชา" ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
>> "เส้นก้างปลา" แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร?
นอกจากปัจจัยที่ว่ามา ยังมีปัจจัยที่มีแนวโน้มจะนำพาให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับ ซึ่งรณรงค์มานับสิบๆ ปี แต่ปัจจุบันก็ยังมีอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การไม่เคารพกฎจราจร ที่ล้วนแล้วแต่สะท้อนเรื่องจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนในบ้านเรา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้เกิดขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องราวเตือนใจ เพราะเวลาที่เราออกจากบ้าน นอกเหนือจากการที่จะต้องระมัดระวังตัวเราเองแล้ว เรายังต้องระมัดระวังเรื่องไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกด้วยเช่นกัน