เลือกตั้ง 2562: ศึกประลองของการเมือง 3 ก๊ก

เลือกตั้ง 2562: ศึกประลองของการเมือง 3 ก๊ก

เลือกตั้ง 2562: ศึกประลองของการเมือง 3 ก๊ก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าสนใจในเส้นทางการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว กกต.จะออกประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส.เขต ภายใน 5 วันนับจากประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่ง คสช. จะปลดล็อกทางการเมืองให้พรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

โดยคาดการณ์กันว่าในช่วงเดือนมกราคม 2562 จะมีการเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รวมทั้งพรรคการเมืองต้องยื่นรายชื่อนายกรัฐมนตรีในบัญชีให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในห้วงกลางเดือนมกราคม ที่จะเป็นการ ”ให้ภาพการเมือง” ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับการจับขั้วข้างหรือก๊กการเมืองในการเดิมเกมไปสู่การกุมสภาพอำนาจ หลังการตัดสินใจเลือกจากประชาชนที่ควรยิ่งที่จะ ”ทบทวน” ”บริบทท่าที” การเคลื่อนไหวหรือ ”นัยยะ” กลเกมของแต่ละพรรคการเมืองในการผนึกรวมหรือการจับมือกัน นอกเหนือไปจากภาพการนำเสนอ ”ตัวบุคคล” และ ”นโยบาย” ของแต่ละพรรคในการหาเสียงให้ "ประชาชน" ตัดสินใจในวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

น่าสนใจในความคมชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า พรรคแคนดิเดตที่จะมาวินขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสได้เสียงจำนวนมากที่สุด หรือมากในอันดับลดหลั่นลงมา พอที่จะมีความชอบธรรมในการนำการจัดตั้งรัฐบาล ที่ต้องมีเสียงในสภาล่างไม่น้อยกว่า 250 เสียง จะถูกโฟกัสอยู่ที่ 3 พรรค ที่เปรียบคล้ายเป็น "3 ก๊กอำนาจ" ไม่ว่าจะเป็น พลังประชารัฐ เพื่อไทย หรือ ประชาธิปัตย์

น่าสนใจที่จะย้อนกลับไปดูการวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ของ "ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ที่แบ่งกลุ่มพรรคการเมืองในศึกเลือกตั้งปี 2562 ไว้เป็น 3 ก๊กด้วยกัน โดยประกอบด้วย

- ก๊กแรก กลุ่มพรรคเพื่อไทย และพันธมิตร

- ก๊กสอง กลุ่มพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

- ก๊กสาม กลุ่มพรรคที่ยังไม่ประกาศจุดยืน

สำหรับก๊กแรก กลุ่มพรรคเพื่อไทย และพันธมิตร ประกอบด้วย

พันธมิตรชั้นใน เป็นกลุ่มที่ถูกวางหมากให้แยกกันตี คือ

“เพื่อไทย” นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งกระแสข่าวระยะหลังแพลมออกมาว่าอาจจะมีการผลักดัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ด้วย

“ไทยรักษาชาติ” นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช จาตุรนต์ ฉายแสง และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดง

โดย 2 พรรคนี้เป็นพรรคที่ประกาศจุดยืนรักทักษิณ ถูกวางกลยุทธ์แยกกันตี โดยเพื่อไทย ที่เป็นพรรคหลัก จะเน้น ส.ส.แบบแบ่งเขต ขณะที่การเลือกตั้งครั้งก่อนแพ้ 150 เขต จะวางหมากให้ไทยรักษาชาติลงแข่ง โดยไม่เน้นชนะที่เขต แต่เก็บคะแนนจากที่เคยได้มากที่สุด เพื่อสะสมรวมกันเป็นบัญชีรายชื่อ

“เพื่อชาติ” นำโดย สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ และจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ และ นปช. ที่มีฐานสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ

“เพื่อธรรม” นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และนลินี ทวีสิน หนึ่งในแผนกลยุทธ์แยกกันตี เพื่อชิง ส.ส.เขต แต่คาดว่าอาจจะไม่ส่งผู้สมัครลง

ส่วนพันธมิตรชั้นนอกของก๊กนี้ เป็นพรรคอิสระที่แสดงจุดยืนไม่เอา คสช. ถ้ามีโอกาสก็พร้อมร่วมรัฐบาลกับกลุ่มเพื่อไทย ซึ่งประกอบไปด้วย

“ประชาชาติ” นำโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะห์

“เสรีรวมไทย” นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. เจ้าของฉายา วีรบุรุษนาแก และ มือปราบตงฉิน

“อนาคตใหม่” นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล

“เกียน” นำโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด 

“สามัญชน” นำโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

 

ก๊กสอง กลุ่มพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกอบด้วย

“พลังประชารัฐ” นำโดย อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร

“ประชาชนปฏิรูป” นำโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน

“รวมพลังประชาชาติไทย” นำโดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และสุเทพ เทือกสุบรรณ

 

ก๊กที่สาม กลุ่มพรรคที่ยังไม่ประกาศจุดยืน ประกอบด้วย

“ประชาธิปัตย์” นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“พลังธรรมใหม่” นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล

“ภูมิใจไทย” นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล และศักดิ์สยาม ชิดชอบ

“ชาติไทยพัฒนา” นำโดย กัญจนา ศิลปอาชา และวราวุธ ศิลปอาชา รวมทั้งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นั่งประธานที่ปรึกษา

“ชาติพัฒนา” นำโดย เทวัญ ลิปตพัลลภ และสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

“พลังท้องถิ่นไท” นำโดย ชัชวาลย์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน

ขณะเดียวกันก็น่าสนใจพิเคราะห์ในมุมวิเคราะห์ของ "ไพศาล พืชมงคล" ที่อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกุนซือข้างกายรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ประเมินผ่านปรากฏการณ์ท่าทีการแถลงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ว่า จากที่เคยอึมครึมกันอยู่ว่าจะยืนอยู่ข้างไหน เอาข้างไหน โดย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะหัวหน้าพรรค แถลงอย่างเป็นทางการว่าไม่เอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ และถ้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐยังเป็นชุดเดิมก็ไม่มีทางที่จะร่วมงานกันได้

ซึ่งการแถลงดังกล่าวทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีสถานะเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะสถานการณ์ทางการเมืองจากผลโพลและกระแสทั้งหมดที่ออกมานั้นสามารถจัดก๊กการเมืองได้เป็น 3 ก๊ก และ 1 กลุ่ม คือ

ก๊กแรก คือ ก๊กที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งทั้งสามพรรคนี้มีอดีต ส.ส. รวมกันประมาณ 85 คน โดยมีกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นขุนพลใหญ่ในการรณรงค์เลือกตั้งทั่วประเทศของพรรคพลังประชารัฐ

ก๊กที่สอง คือ ก๊กที่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่

ก๊กที่สาม คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น และวันนี้ก็แถลงไม่ร่วมด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก๊กนี้อาจจะรวมพรรคพลังธรรมใหม่ด้วยก็ได้ เพราะเคยประกาศไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ก็ปฏิเสธนายทักษิณ ชินวัตร

กลุ่มที่สี่ ได้แก่ พรรคซึ่งยังไม่ชัดเจนในทางการเมืองว่าจะเอาข้างไหน สนับสนุนใครกันแน่ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ซึ่งทั้งสามพรรคนี้เคยร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

น่าสนใจว่า นายไพศาล ประเมินว่า การกลับคืนสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข 2 ประการสำคัญคือ

ประการแรก ต้องได้รับคะแนนเสียงในการประชุมรัฐสภา ซึ่งมี ส.ว. 250 คน ร่วมลงคะแนนเสียงด้วย จำนวนไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

ประการที่สอง จะต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ นั่นคือจะต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 คน และปกติก็ต้องมีถึง 280 คน จึงจะเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่

ดังนั้น สิ่งที่จะชี้ขาดในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลอย่างสง่างามจึงอยู่ที่เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้จะมี ส.ว.แต่งตั้งถึง 250 คน ก็มีอำนาจเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีอำนาจที่จะประคองรัฐบาลให้ดำรงอยู่ได้ ถ้าหากมีเพียงเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งนี่คือสิ่งที่น่าระทึกใจ และจะต้องจับตาดูท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ถัดจากวันปลดล็อกการเมืองเป็นต้นไปด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงภาพร่าง ณ เวลาหนึ่งสำหรับการนำมาพิจารณา ซึ่งสำหรับการเมืองที่เป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์นั้น เอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาที่ตัวเลขชัด-สมการชัด จนทำให้บางตัวละครบางขั้วบางก๊ก อาจมีเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยนท่าทีทางการเมือง โดยอ้างว่ายอม "เสียสัจจะสัญญา" เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เหมือนที่บางคนเคยทำมาแล้วก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook