จีนงัดยุทธวิธี "กับดักหนี้" แผ่ขยายอิทธิพล "เส้นทางสายไหม" ยุคใหม่
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แถลงเปิดตัวครั้งแรกถึงการริเริ่มโครงการ “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ที่ประกอบด้วยเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟเชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลางในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 ในระหว่างการไปเยือนประเทศคาซักสถาน และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเยือนอินโดนีเซียก็กล่าวเปิดตัวโครงการ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ที่เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ตลอดเส้นทางบกและเส้นทางทะเล จะมีการลงทุนปรับปรุงท่าเรือ รวมทั้งสร้างศูนย์การผลิตอุตสาหกรรมและการค้าขึ้นมา
โครงการเครือข่ายเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลนี้มีชื่อเรียกอยู่หลายอย่าง เช่น การริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือ หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) ซึ่งโครงการหนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง จะใช้เงินลงทุน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เกี่ยวข้องกับ 60 ประเทศ ในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป แอฟริกาตะวันออกและเหนือ ส่งผลต่อ 65% ของประชากรโลก มีผลกระทบต่อ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และ 1 ใน 4 ของการค้าโลก
โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ประกอบด้วยเฉลียงทางบก 6 เส้นทาง และเส้นทางทะเล 1 เส้นทาง เส้นทางเฉลียงทางบกประกอบด้วย (1) เส้นทางยูเรเซีย (Eurasia) จากตะวันตกจีนถึงตะวันตกรัสเซีย (2) เส้นทางจีน-มองโกเลีย-รัสเซียตะวันออก (3) เส้นทางตะวันตกจีน-เอเชียกลาง-ตุรกี (4) เส้นทางจีน-แหลมอินโดจีน-สิงคโปร์ (5) เส้นทางจีน-ปากีสถาน (6) เส้นทางจีน-พม่า-บังกลาเทศ-อินเดีย ส่วนเส้นทางทะเล เริ่มจากเมืองชายฝั่งของจีน ผ่านสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เมื่อทางการจีนได้กำหนดทิศทาง (ยุทธศาสตร์) ชัดแจ้งแล้ว คราวนี้ก็ถึงยุทธวิธี (Tactic) คือ วิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธวิธีนี้คือ “กับดักหนี้” ที่จีนได้ทดลองใช้กับออสเตรเลียซึ่งอยู่นอกแผนยุทธศาสตร์ได้สำเร็จ คือ บริษัทแลนด์บริดจ์ กรุ๊ปของจีนได้เช่าท่าเรือดาร์วินของดินแดนเขตเหนือ (Northern Territory) ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลา 99 ปี (เหมือนอังกฤษเช่าดินแดนจีนเพื่อขยายเขตฮ่องกงในอดีตนั่นแหละ) เนื่องจากรัฐบาลของดินแดนเขตเหนือได้ของบประมาณเพื่อซ่อมบำรุงและขยายท่าเรือไปยังรัฐบาลกลางถึง 14 ครั้งแต่ถูกปฏิเสธ จึงจัดการประมูลการเช่าท่าเรือเองใน พ.ศ. 2558 ซึ่งบริษัทของจีนชนะการประมูลการเช่าท่าเรือ 99 ปีไปด้วยเงิน 506 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นชัยชนะอย่างไม่คาดฝันของจีนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เลยทีเดียว
ส่วนยุทธวิธีกับดักหนี้ที่สำเร็จอันดับต่อไปของจีนในทวีปแอฟริกา คือ ประเทศจิบูตี (Djibouti) เป็นนครรัฐในแอฟริกาตะวันออกในภูมิภาคจะงอยแอฟริกา โดยอีกด้านของทะเลแดงคือคาบสมุทรอาหรับ ในส่วนของประเทศเยเมน ห่างจากฝั่งของจิบูตี 20 กิโลเมตร ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปแอฟริกา แต่จิบูตีเป็นประเทศยากจนที่ไม่มีใครยอมให้กู้เงินและไปลงทุนในจิบูตี เพราะโอกาสที่จะได้เงินกู้คืนมีน้อย รวมถึงโอกาสที่จะทำกำไรจากการลงทุนก็มีน้อยมาก แต่ทางการจีนได้เข้าไปช่วยลงทุนสร้างทางรถไฟให้กับจิบูตีและลงทุนในการทำเหมืองแร่, ธุรกิจการส่งน้ำมันและแก๊ส เป็นการลงทุนอย่างมหาศาลแล้วเจรจาขอสร้างฐานทัพเรือใน พ.ศ. 2558 โดยชำระค่าเช่าเพียงปีละ 20 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับกองทัพจิบูตี ซึ่งถือว่าเป็นฐานทัพของจีนแห่งแรกในทวีปแอฟริกา
สำหรับความสำเร็จของยุทธวิธี “กับดักหนี้” ที่ถือว่าเป็นเนื้อชิ้นงามที่สุดของจีนในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีนคือ เมืองท่าพีราอุสของกรีซ ซึ่งถือเป็นท่าจอดเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกรีซ และเป็นศูนย์กลางการค้า อุตสาหกรรม โดย ท่าเรือพีราอุสเป็นท่าเรือสำคัญยิ่งของประเทศกรีซ เป็นท่าเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองรับผู้โดยสารราว 20 ล้านคนต่อปี แต่เนื่องจากหนี้สินของกรีซล้นพ้นตัว จึงทำให้กรีซต้องหันหน้าไปพึ่งจีน
ส่วนความสำเร็จขั้นต่อไปของยุทธวิธีกับดักหนี้ คือ การให้กู้เงินอย่างมหาศาลแก่ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และปากีสถาน รวมทั้งประเทศเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คาซักสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน ซึ่งอยู่ในเส้นทางของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีนทั้งสิ้น ก็ย่อมไม่มีปัญญาใช้หนี้จีนได้ และจะถูกบีบให้ยอมจีนทุกอย่าง อย่างที่เห็นได้ชัดคือ ศรีลังกาต้องยกเมืองท่าฮัมบันโตตา ที่กู้เงินจากจีนมาสร้างเป็นเวลา 99 ปี เนื่องจากศรีลังกาติดหนี้จีนอยู่รวม 64,000 ล้านเหรียญดอลลาร์
ครับ! ประเทศแซมเบียในแอฟริกาต้องยกท่าอากาศยานนานาชาติลูซากาในเมืองหลวงของแซมเบียให้กับจีน เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้สินล้นพ้นตัวได้เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 นี้เอง และในปีนี้ประเทศเคนยาซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแซมเบีย ก็ต้องยอมยกท่าเรือมอมบาซาซึ่งเป็นเมืองท่าหลักของเคนยาให้กับจีน เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้มหาศาลได้เช่นกัน