หมอกควันปกคลุมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤตต่อเนื่อง

หมอกควันปกคลุมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤตต่อเนื่อง

หมอกควันปกคลุมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ค่าฝุ่น PM 2.5 วิกฤตต่อเนื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ระบุว่า ปัจจุบันคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 50 – 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานที่บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ, แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ, แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ, แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ, ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ, ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ, แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ, ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม, ต.บางกรวย อ.บางกรวย นนทบุรี, ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง ปทุมธานี, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.ตลาด อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.ปากน้ำ อ.เมือง สมุทรปราการ, ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง สมุทรปราการ, ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน สมุทรสาคร, ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมือง

ด้าน ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 63 – 129 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (?g/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ โดยจุดที่พบปัญหาหนักที่สุดคือที่บริเวณ ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม มีค่าฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งถือว่าสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าบรรยากาศบริเวณเขตพื้นที่ชานเมืองเช่นเขตลาดกระบัง, รามคำแหง และวังทองหลาง เช้าวันนี้มีหมอกควันหนาแน่น ส่งผลให้มีทัศนวิสัยการมองเห็นต่ำ

นายสุรพงษ์ สารปะ โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันและค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในเขตกทม.และปริมณฑล จากกรณีที่มีประชาชนแจ้งว่าสภาพอากาศเช้าวันนี้ มีทัศนวิสัยไม่ค่อยดี โดยพบมีหมอกหนาปกคลุมหลายพื้นที่ ว่า จากการตรวจสอบพบว่าสภาพหมอกควันที่เกิดขึ้น มีส่วนประกอบทั้งจากค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน และ หมอกจริง ๆ โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันกทม. มีโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก, มีการเผาขยะ ประกอบกับสภาพอากาศในฤดูหนาวที่อากาศจะค่อนข้างแห้ง ทำให้สภาพอากาศด้านบนกดไม่ให้อากาศด้านล่างลอยตัวขึ้นไปทำให้เกิดการสะสม ซึ่งเมื่ออากาศอ่อนตัวลง ในช่วงเช้าจะทำให้เกิดหมอก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชานเมืองที่มีความชื้นเยอะ เมื่อเกิดหมอกจำนวนมากจึงทำให้เกิดการจับตัวกับฝุ่นละอองที่เป็นควันแขวนลอย ส่งผลให้มีสภาพอากาศขมุกขมัว แต่ในช่วงสายหมอกดังกล่าวก็จะหายไปเอง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหมอกในพื้นที่กทม. และ ปริมณฑล มีลักษณะแตกต่างจากต่างจังหวัด เนื่องจากกทม. และ ปริมณฑล มีปริมาณสารพิษที่มากกว่า แต่ต่างจังหวัดมีสภาพธรรมชาติที่บริสุทธิ์กว่า ทำให้หมอกควันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คาดว่าหากมีฝนตกลงมาในช่วงวันที่ 16 – 17 ม.ค. 2562 ก็อาจจะช่วยลดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook