หลีกเลี่ยง "ฝุ่นละออง PM 2.5" สัตวแพทย์แนะวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เจอผลกระทบ

หลีกเลี่ยง "ฝุ่นละออง PM 2.5" สัตวแพทย์แนะวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เจอผลกระทบ

หลีกเลี่ยง "ฝุ่นละออง PM 2.5" สัตวแพทย์แนะวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้เจอผลกระทบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้ใครที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คงจะทราบข่าวที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มีค่าสูงกว่ามาตรฐาน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีการเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติตัวในการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปรียบเสมือนภัยร้ายเงียบ

แต่อีกด้านหนึ่งมีผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยที่มีสัตว์เลี้ยงในความดูแล และต้องการแนวทางปฏิบัติในการลดผลกระทบของสภาพอากาศที่เริ่มส่งผลร้ายต่อสุขภาพซึ่งไม่น่าจะส่งผลเพียงต่อประชาชนเท่านั้น แต่อาจจะรวมไปถึงบรรดาสัตว์เลี้ยงต่างๆ นานาด้วยเช่นกัน

Sanook! News มีโอกาสได้พูดคุยกับ หมอเอิน-สัตวแพทย์หญิงศิรินทร์ จันทร์เด่นแสง ซึ่งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสัตว์เลี้ยง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 

โรคทางเดินหายใจ-อายุน้อยมาก-อายุเยอะมาก เสี่ยงสุด

ก่อนอื่นเลย คุณหมอเอิน ระบุว่า สัตว์เลี้ยงของใครก็ตามที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือมีอายุน้อยมากๆ หรืออยู่ในวัยที่มีอายุเยอะมากๆ แล้ว จัดอยู่ในประเภทที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่กำลังมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินกว่าค่ามาตรฐานในเวลานี้

พันธุ์หน้าสั้นก็เสี่ยงมาก

นอกจากนั้น เจ้าของคลินิกรักษาสัตว์หมอเอิน ยังเสริมอีกด้วยว่า สัตว์เลี้ยงพันธุ์หน้าสั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบบทางเดินหายใจมากกว่าสัตว์พันธุ์อื่น เช่น สุนัขพันธุ์ปั๊ก บูลด๊อก ชิสุ บ็อกเซอร์ หรือแมวพันธุ์เปอร์เซีย เป็นต้น

อยู่ในบ้านเป็นหลัก ออกข้างนอกเท่าที่จำเป็น

คำแนะนำหลักที่มีให้กับสัตว์เลี้ยงนั้นไม่ต่างจากคนธรรมดาอย่างเราๆ เท่าไหร่ เมื่อสัตวแพทย์หญิงศิรินทร์ยืนยันว่า ในช่วงที่สภาพอากาศมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพเช่นนี้ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่แต่ในบ้านเป็นหลัก แต่หากมีความจำเป็นต้องพาออกไปนอกบ้านจะต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุด พร้อมกับเตรียมน้ำไว้ให้พร้อม เพราะสัตว์เลี้ยงของเราอาจจะกระหายน้ำมากกว่าปกติในสภาะอากาศเช่นนี้ รวมทั้งอย่าลืมใช้สายจูงที่เหมาะสม และพยายามให้อยู่ในที่ร่มหรือใต้ต้นไม้ หมอเอินแนะอีกด้วยว่าควรหลีกเลี่ยงการให้สัตว์เลี้ยงวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายนอกบ้าน

ทำความสะอาดภายในบ้านบ่อยขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงจะต้องอยู่แต่ในบ้านเป็นหลักนั้น ก็ควรจะหมั่นดูแลรักษาความสะอาดภายในให้ดีเช่นกัน รวมทั้งควรปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด และหากใครที่ใช้เครื่องกรองอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ ควรนำมาล้างทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น พร้อมกับหมั่นตรวจเช็กเครื่องอยู่เสมอ

หากสัตว์เลี้ยงมีอาการต่อไปนี้ ควรพาไปพบสัตวแพทย์

คุณหมอเอิน ปิดท้ายการพูดคุยด้วยการแนะนำวิธีตรวจดูอาการเบื้องต้นของสัตว์เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมอากาศที่มีมลภาวะเข้าไปจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

  • ไอ
  • หายใจลำบาก อ้าปากหายใจ เวลาหายใจมีเสียงดังกว่าปกติ
  • หายใจถี่
  • เหงือกซีด
  • ซึม อ่อนแรง
  • ระคายเคืองที่ตา มีน้ำตาไหลออกมาก
  • น้ำมูกมาก
  • กินอาหารได้น้อยลง
  • กระหายน้ำมากขึ้น

เมื่อเตรียมตัวของพวกเราให้พร้อมรับมือกับมลภาวะทางอากาศกันแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสัตว์เลี้ยงของเราให้พร้อมเผชิญหน้ากับสภาพอากาศที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน เพื่อไม่ให้ทั้งตัวเราและเจ้าตัวน้อยของเราต้องล้มหมอนนอนเสื่อไปนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook