อุทยานลุยสำรวจ "ถ้ำหลวง" เก็บอุปกรณ์ที่ตกค้าง หลังปิดภารกิจครบ 6 เดือน

อุทยานลุยสำรวจ "ถ้ำหลวง" เก็บอุปกรณ์ที่ตกค้าง หลังปิดภารกิจครบ 6 เดือน

อุทยานลุยสำรวจ "ถ้ำหลวง" เก็บอุปกรณ์ที่ตกค้าง หลังปิดภารกิจครบ 6 เดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจ้าหน้าที่อุทยานประชุมแบ่งแผนงานออกเป็น 2 ทีม เข้าสำรวจเก็บกู้อุปกรณ์ที่ยังตกค้างอยู่ในถ้ำหลวง หลังพบว่าปากถ้ำน้ำแห้งสนิท 6 เดือนให้หลังของภารกิจ อีกชุดเตรียมเข้าจัดทำแผนผังของถ้ำ

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) ที่อุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 พร้อมคณะ ประชุมร่วมกับ เจ้าหน้าที่ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ หรือหน่วยซีล เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติภารกิจเข้าไปสำรวจเครื่องมือและอุปกรณ์ ที่ใช้ในปฏิบัติการค้นหา-ช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่ตกค้างอยู่ในถ้ำหลวง

การประชุมมีขึ้นหลังจาก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางไปตรวจบริเวณถ้ำเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา และพบว่าระดับน้ำภายในถ้ำได้แห้งสนิท ไม่มีน้ำไหลออกมาอีก ขณะที่พบอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่เคยใช้ เช่น ท่อน้ำ สายไฟฟ้า ฯลฯ ยังวางระเกะระกะอยู่ทั่วบริเวณห้องโถงที่ 1 ทำให้เจ้าหน้าที่ประเมินได้ว่าอาจจะสามารถเข้าไปเก็บกู้อุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวได้

โดยการประชุมครั้งนี้ นายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสํารวจถ้ำชาวอังกฤษ ผู้มีบทบาทในการประสานงานและช่วยเหลือในปฏิบัติการเข้าร่วมด้วย และได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สรุปข้อมูลจากสภาพปัจจุบันและการสำรวจของมิสเตอร์เวิร์นว่าน้ำในถ้ำได้หยุดไหลออกจากโถงแรกแล้ว

นอกจากนี้น้ำยังได้หยุดไหลเมื่อถึงโถงที่ 2 ระยะทางห่างจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตรมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมาอีกด้วย กระนั้นก็จะยังคงมีแอ่งน้ำภายในถ้ำเป็นบางจุดโดยบางจุดมีความลึกด้วยเช่นกัน

นายกมลไชย กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้ข้อสรุปว่าจะเข้าไปสำรวจถ้ำครั้งแรกตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 17 มกราคมนี้เป็นต้นไป โดยได้กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปจำนวน 35 นายมาจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ทหารเรือจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (หน่วยซีล) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย สมาคมศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัย คณะจากมิสเตอร์เวิร์นที่ชำนาญในพื้นที่มาตั้งแต่ต้น ฯลฯ

โดยทั้งหมดจะประกอบกำลังกันโดยมีภารกิจแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือจากปากถ้ำ-ห้องโถงที่ 3 ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรกว่า ซึ่งในระยะ 1 กิโลเมตรแรกคงจะมีอุปกรณ์ตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะประวัติศาสตร์การช่วยเหลือส่วนใหญ่อยู่ช่วงต้นทางนี้

ทั้งนี้ได้มอบให้ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ หน่วยชีล และ ปภ.ทำการบันทึกภาพและบันทึกข้อมูลว่าอุปกรณ์สิ่งของใดอยู่ ณ จุดใดโดยยังจะไม่ให้ขยับเขยื้อนอุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะภารกิจจะมีเพียงการสำรวจข้อมูลเท่านั้น ทั้งนี้อุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่คงค้างอยู่ภายในจะเป็นท่ออากาศ สายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ถังอัดอากาศ ขวดอัดอากาศ ฯลฯ

นายกมลไชย ยังกล่าวอีกว่า จากนั้นจะเข้าไปต่อจากช่วงห้องโถงที่ 3 ไปถึงสามแยกระยะทางอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งก็จะยังคงให้หน่วยชีลเป็นหน่วยงานหลักเพราะมีความชำนาญพื้นที่ด้านในและเคยนำขวดอัดอากาศที่เคยอยู่ด้านในออกมาไว้ที่ห้องโถงที่ 2 และที่ 3 ไปหมดแล้ว จำนวนประมาณ 300 กว่าขวดปัจจุบันก็ยังคงอยู่ภายในซึ่งก็จะบันทึกข้อมูลเอาไว้เช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าภารกิจใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง

ส่วนหลังจากนั้นจะปฏิบัติการอย่างไรต่อไปกับอุปกรณ์ต่างๆ นั้นตนต้องรอขออนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาก่อนต่อไป โดยนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะเดินทางไปกำกับดูแลการปฏิบัติการด้วยตัวเองด้วย

นอกจากนี้ยังรายงาน อุปกรณ์บางอย่างที่ใช้ใน ปฏิบัติการค้นหา-ช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ทางกรมอุทยานจะขอกับหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติ เพื่อขอให้คงอุปกรณ์เหล่านั้นไว้ ซึ่งอาจจะนำมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ และจัดแสดงในช่วงฤดูแล้งที่จะให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมได้ โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีในปฏิบัติการค้นหา-ช่วยเหลือ 13 หมูป่า ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook