เผยภาพสำรวจถ้ำหลวงครั้งแรกหลังช่วย "ทีมหมูป่า" พบน้ำยังท่วม-ทรายปิดทางเข้าเนินนมสาว
วันนี้ (17 ม.ค.) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ หรือหน่วยชีล ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ หน่วยชีล หน่วยกู้ภัย เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มิสเตอร์เวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 35 นาย เข้าไปทำการสำรวจภายในถ้ำหลวงตั้งแต่โถงแรกเข้าไปถึงโถงที่ 3 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เนื่องจากตรวจพบระดับน้ำที่โถงแรกแห้งลงนั้น
ล่าสุดในช่วงบ่ายคณะทีมสำรวจทั้งหมดได้เดินทางกลับออกมาทางปากถ้ำแล้ว โดยภารกิจในการถ่ายภาพและบันทึกข้อมูลอุปกรณ์ที่คงค้างตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ปากถ้ำไปจนถึงสามแยกภายในถ้ำระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ถือว่าเสร็จสิ้นด้วยดี แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินหน้าสำรวจต่อจากสามแยกแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางหาดพัทยาหรือพัทยาบีช รวมถึงเนินนมสาวซึ่งเป็นจุดที่เยาวชนทั้ง 13 เคยใช้หลบภัยน้ำท่วมภายในถ้ำได้
เนื่องจากพบว่าบริเวณช่องที่เชื่อมจากสามแยกไปทางเส้นทางซ้าย เต็มไปด้วยตะกอนทรายทำให้ยากต่อการเดินทางผ่าน รวมทั้งยังมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งการจะผ่านจุดดังกล่าวไปได้ต้องใช้อุปกรณ์ดำน้ำที่มีความพร้อมเหมือนตอนที่มีปฏิบัติการช่วยเหลือเยาวชนดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ได้สำรวจถึงบริเวณดังกล่าวแล้วจึงพากันเดินทางกลับรวมแล้วใช้เวลาปฏิบัติการประมาณ 5 ชั่วโมง โดยออกเดินทางถึงปากถ้ำเวลา 13.30 น.
ทั้งนี้ นายจงคล้าย นายกมลไชย และ พล.ร.ต.อาภากร ได้นำเจ้าหน้าที่ไปถึงบริเวณสามแยกได้จำนวน 21 นาย แต่เนื่องจากไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และค่าออกซิเจนภายในถ้ำเบาบาง รวมทั้งมีน้ำไหลออกจากหินงอกหินย้อยตามผนังอยู่ตลอดเวลาด้วย จึงหยุดการสำรวจแล้วเดินทางกลับออกไปทางเดิม และได้สรุปผลการสำรวจพบว่าภายในมีถังออกซิเจนวางอยู่ตลอดรายทาง โดยมีอยู่ที่โถง 3 ประมาณ 100 กว่าถัง โถงที่ 2 มีประมาณ 100 กว่าถัง โดยในโถงทั้ง 2 แห่งยังพบเปลสนามและสายเชือกที่ใช้สำหรับเชื่อมโยงเส้นทางถึงกันไปตลอดรายทาง ซึ่งพบระหว่างโถงที่ 2-3 มากที่สุด เพราะโถงที่ 2 มีความยาวและภูมิประเทศขรุขระเต็มไปด้วยหน้าผาและซอกหินผาสูงต่ำจำนวนมาก
จึงคาดว่าเปลสนามและสายเชือกดังกล่าวได้ใช้สำหรับขนลำเลียงเยาวชนทั้ง 13 คนออกมาตั้งแต่วันที่ 9-11 ก.ค. 2561 เพราะเป็นเส้นทางที่ยากลำบากในการเดินทาง
นอกจากนี้ ในโถงทั้ง 2 แห่งยังพบเครื่องสูบน้ำขนาดต่างๆ และสำหรับโถงที่ 3 นั้นพบสายส่งออกซิเจนมากที่สุด รวมทั้งพบกระดาษฟอยล์ที่หน่วยใช้ประโยชน์ พบอาหารเพาเวอร์เจล วิทยุสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้สื่อสาร เพราะเคยเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่เคยใช้เป็นศูนย์บัญชาการภายในถ้ำด้วย
อย่างไรก็ตาม นายจงคล้าย กล่าวว่า สำหรับภารกิจครั้งนี้ถือว่าเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจพบวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และได้บันทึกข้อมูลรวมทั้งถ่ายภาพเอาไว้ตั้งแต่ปากถ้ำไปจนถึงสามแยกเอาไว้แล้ว และคาดว่าหากจะเข้าไปจากสามแยกไปยังบริเวณจุดที่พบเยาวชนทั้ง 13 คนคงจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้น้ำแห้งและเตรียมอุปกรณ์กำลังพลให้มีความพร้อมต่อไป
ด้าน พล.ร.ต.อาภากร ระบุว่า การเข้าไปสำรวจถ้ำหลวงครั้งนี้เป็นเหมือนการรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งปฏิบัติการเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่พบเห็นภายในถ้ำทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ร่วมกันเข้าไปปฏิบัติการ เพราะมีอุปกรณ์ต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมองย้อนหลังไปก็ยังสงสัยอยู่ว่าพวกเราขนเข้าไปได้อย่างไร แต่การเข้าไปในถ้ำครั้งนี้ถือว่าสะดวกกว่าช่วงปฏิบัติการที่มีความยากลำบากกว่ามาก ซึ่งการจะเข้าไปให้เลยช่วงสามแยกเข้าไปอีกที่ยังคงมีเครื่องมืออุปกรณ์ตกค้างอยู่ภายใน คงต้องรอให้ระดับน้ำภายในลดลงกว่านี้
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ