ย้อน 10 ปีวาทะเด็ด ส.ว.มะกัน ลั่นศาสนาเหยียดคู่รักเกย์ได้ แต่รัฐ "ไม่มีสิทธิ์" #10YearsChallenge
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต ที่กระทรวงยุติธรรมเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณานั้น กลับได้รับเสียงต่อต้านจากสมาคมศาสนาคริสต์หลายสมาคม ถึงขั้นล่ารายชื่อเพื่อ "ระงับยับยั้ง" ซึ่งนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง โพสต์ตีแผ่ความพยายามดังกล่าวของสมาคมศาสนากลุ่มนี้ในเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อวาน (17 ม.ค.)
>> นักสิทธิโพสต์แฉ สมาคมคริสต์ล่าชื่อ "คัดค้าน" ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต หวั่นผิดหลักศาสนา
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2552 หรือ 10 ปีที่แล้ว รัฐนิวยอร์กของสหรัฐก็เคยผลักดันกฎหมายสมรสเพศเดียวกันมาแล้ว และได้รับเสียงต่อต้านจากกลุ่มศาสนาในท้องถิ่น เพราะมองว่าเป็นการละเมิดหลักศาสนาเช่นกัน แต่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ของสภารัฐนิวยอร์ก ชื่อ นางสาวไดแอน ซาวิโน ได้กล่าวชัดในประเด็นนี้ด้วยวาทะที่จับใจและน่าสนใจ จนได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก
เหตุนี้ทำให้สภารัฐนิวยอร์กนำคลิปขณะที่นางสาวซาวิโนอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันขึ้นไปบนช่องยูทูบของสภา และมีผู้ชมกว่า 700,000 ครั้ง ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับคลิปการเมืองท้องถิ่นในยุคนั้น Sanook.com จึงขอใช้โอกาสที่กระแส #10YearsChallenge กำลังมาแรง เพื่อพาผู้อ่านมาดูกันว่า ส.ว.คนนี้พูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นศาสนาและการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันไว้บ้างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ศาสนาอยากเหยียด ก็เหยียดไป แต่รัฐไม่มีสิทธิ์
"ฉันรู้ว่ามีหลายคนจากกลุ่มศาสนา ที่รู้สึกว่าเราจะออกกฎหมายมาเบียดเบียนพวกเขา ซึ่งไม่จริงเลย แล้วเราก็ไม่เคยออกกฎหมายเบียดเบียนพวกเขา ฉันนับถือคาทอลิก แล้วคริสตจักรคาทอลิกก็มีสิทธิ์ไม่ให้ฉันแต่งงาน ถ้าเห็นว่าคนที่ฉันจะแต่งด้วยไม่เหมาะสม หรือเห็นว่าความสัมพันธ์ของเราไม่ตรงมาตรฐานพวกเขา แต่รัฐไม่มีสิทธิ์แบบนั้นค่ะ แล้วสิทธิ์การเลือกปฏิบัติของกลุ่มศาสนาก็จะไม่ถูกกระทบแม้กฎหมายนี้ออกมา สถาบันศาสนายังเลือกปฏิบัติ (เหยียด) ต่อไปได้ตามหลักการแต่งงานของพวกเขา แต่เราไม่มีสิทธิ์ แล้วก็ไม่ควรทำ เราไม่ควรทำอย่างนั้นกับคู่รักเกย์หรือเลสเบี้ยน"
"คนมีสิทธิ์แต่งงาน" ผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์การสมรสตัวจริง
นางสาวซาวิโน ชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานของคนเพศเดียวกันไม่ได้ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานลดลงอย่างที่หลายฝ่ายอ้าง แต่กลับเป็นคนที่มีสิทธิ์แต่งงานนี่แหละ ที่ทำให้การแต่งงานเสื่อมเสียเสียเอง
"ฉันรู้ว่าหลายคนเป็นห่วงว่าจะไปทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน แถมยังมองว่าเป็นอันตรายอีก แต่ขอฉันถามอะไรหน่อยสิคะ ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี เราปกป้องอะไรกันแน่ตอนที่พวกคุณเห็นอัตราการหย่าร้างในสังคม ลองเปิดโทรทัศน์สิคะ เรามีช่องแต่งงานในเคเบิลที่ฉายพฤติกรรมคนก่อนแต่งงาน ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ทำตัวให้น่าสนใจที่สุด เพื่อให้ตัวเองเป็นเจ้าหญิงแค่วันเดียว"
"ไม่มีเคเบิลเหรอ ก็เปิดฟรีทีวีสิ แจกสามีกันฟรีๆ ในเกมโชว์ ลองดูรายการ xxx ที่ผู้หญิงร้ายๆ 30 คนมาแข่งกันแต่งงานกับผู้ชายอายุ 40 ที่ไม่เคยรักษาความสัมพันธ์ได้เลยสักครั้งในชีวิต กลับกันก็มี xxx ด้วย ซึ่งเป็นรายการโปรดของฉัน แต่ต้องขอบคุณพระเจ้ามากที่ฉายซีซั่นเดียว เพราะมันไร้รสนิยมสุดๆ หรือรายการ xxx ที่ผู้หญิงร้ายๆ 30 คน มาแย่งแต่งงานกับคนแคระ"
"นี่แหละคือสิ่งที่เราทำกับการแต่งงานในอเมริกา ที่ปล่อยให้ผู้หญิงถูกสังคมสอนตั้งแต่ 5 ขวบให้ไม่ต้องคิดอะไร นอกจากโตไปเป็นเจ้าสาว พวกเธอคิดถึงทุกวันแต่ชุดที่จะใส่ สภาพที่จะออกมา การ์ดแต่งงาน อะไรพวกนี้ แต่ไม่ใช้เวลาสัก 5 นาทีคิดเลยว่าอะไรคือการเป็นเจ้าสาว คนเกิดขึ้นมาก่อนพระเจ้า แม้แต่ในโบสถ์ของท่านวุฒิดิแอซ ทุกคนพูดสาบานจะรัก ซื่อสัตย์ และเชื่อฟัง แต่ไม่เคยคิดตามว่ามันคืออะไร เพราะงั้นถ้าถามว่าอะไรผิด หรือเป็นภัยต่อความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงานในอเมริกา ก็พวกเรานี่แหละ ที่มีอภิสิทธิ์และสิทธิ์ต่างๆ แต่ทำลายการแต่งงานมาเป็นสิบๆ ปี"
ความรัก-คนอยากใช้ชีวิตคู่ "ไม่ใช่" เรื่องน่ากลัว
ส.ว. คนนี้ กล่าวปิดท้ายการอภิปรายของตนว่า ความรักไม่ใช่เรื่องน่ากลัว คนที่อยากใช้ชีวิตคู่เพื่อดูแลกันก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ดีเสียอีกที่คู่รักชายหญิงจะได้เรียนรู้หลายๆ สิ่ง จากคู่รักเพศเดียวกัน
"เราไม่มีอะไรต้องกลัว ทอม ดเวน กับลูอิส เราไม่มีอะไรต้องกลัว แดนนี่ โอดอนเนล กับคู่รักของเขา เราไม่มีอะไรต้องกลัวคนที่รักกัน ที่อยากใช้ชีวิตด้วยกัน แล้วอยากปกป้องอีกคนในตอนที่ไม่สบาย ป่วย หรือตาย เราไม่มีอะไรต้องกลัวความรักและการคู่ครองชีวิต เรื่องที่ฉันหวังอย่างเดียว ทอม คือพอเราผ่านร่างกฎหมายนี้ แล้วผู้ว่าการรัฐเซ็นชื่อ เราจะได้เรียนรู้จากพวกคุณ"
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายครั้งนี้ของเธอ ร่วมกับ ส.ว.รัฐนิวยอร์ก อีกหลายคน ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายนี้แพ้ให้กับฝ่ายที่ต่อต้าน อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2554 ก็มีความพยายามออกกฎหมายลักษณะนี้อีกครั้ง และปรากฏว่าประสบความสำเร็จจนสามารถผ่านสภาได้เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ปีดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 80 ต่อ 63