สิทธิในการเป็นตัวเอง: เสียงสะท้อนของผู้หญิงข้ามเพศต่อประเด็น “ชุดนิสิตนักศึกษา”

สิทธิในการเป็นตัวเอง: เสียงสะท้อนของผู้หญิงข้ามเพศต่อประเด็น “ชุดนิสิตนักศึกษา”

สิทธิในการเป็นตัวเอง: เสียงสะท้อนของผู้หญิงข้ามเพศต่อประเด็น “ชุดนิสิตนักศึกษา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากผ่านเหตุการณ์ดราม่าเรื่องชุดไปรเวทที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยไปไม่นาน ประเด็นเรื่อง “เสื้อผ้าหน้าผม” ของเยาวชนในวัยเรียนได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง เมื่อมีนิสิตนักศึกษา “ผู้หญิงข้ามเพศ” จากมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของเมืองไทย ออกมาร้องเรียนว่าตนถูกทางคณะลงมติงดเว้นไม่ให้แต่งกายในชุดนิสิตหญิงอีกต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกตัดคะแนนความประพฤติ และอาจถูกพักการเรียนหรือให้หมดสภาพการเป็นนิสิตของสถาบัน อีกทั้งยังมีอาจารย์บางท่านที่ว่ากล่าวเธอด้วยคำพูดซึ่งเปรียบเทียบกลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่าเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิตด้วยเช่นกัน

>> โซเชียลรุมวิจารณ์ นิสิต ม.ดัง สะอึก โดนคำสั่ง "แต่งตัวให้ตรงเพศสภาพ"

>> แฮปปี้! “กรุงเทพคริสเตียน” ทดลองใส่ "ชุดไปรเวท" วันแรก นักเรียนบอกใส่ชุดที่มีอยู่แล้ว

แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในสังคมไทย อ้างอิงจาก นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ช่วยเดินเรื่องและช่วยเหลือนิสิตคนดังกล่าว เพราะในอดีตก็เคยมีกลุ่มคนข้ามเพศที่ออกมารณรงค์เรื่องนี้ในช่วงก่อนที่จะมี พ.ร.บ.เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ปี พ.ศ. 2558 โดยยึดหลักคิดที่ว่า สิทธิในการแต่งกายให้ตรงกับเพศสภาพในปัจจุบันควรจะเป็นสิทธิสภาพโดยสมบูรณ์ที่ทุกคนพึงได้รับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทาง S! News ได้คุยกับ นาดา และ พิ้งค์ จิรภัทร นักศึกษาคณะครุศาสตร์ผู้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในกรณีที่เป็นข่าวครั้งล่าสุด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย ตราบใดที่มุมมองเกี่ยวกับเรื่องเพศของคนส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ

ไม่ใช่แค่ “เครื่องแบบ” แต่มันคือ “ตัวตน”

ตั้งแต่เด็กจนโต พิ้งค์รู้สึกว่าตัวเธอเองคือผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นความรู้สึกและตัวตนที่มาจากข้างใน ดังนั้นพอได้เข้ามหาวิทยาลัย เธอจึงเริ่มแต่งกายในชุดนิสิตหญิงตั้งแต่ปีแรกที่เข้าเรียน เพราะคิดว่ามหาวิทยาลัยน่าจะเปิดกว้างมากขึ้น เห็นได้จากกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เป็นคนข้ามเพศสามารถใส่ชุดที่ตรงกับเพศในปัจจุบันของตัวเองเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ ก่อนที่จะเกิดปัญหากับทางคณะเมื่ออาจารย์คนหนึ่งมองว่าการกระทำของเธอเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

>> บัณฑิตข้ามเพศภูมิใจ มหาวิทยาลัยให้แต่งหญิงรับปริญญา-ไม่ขานคำนำหน้า "นาย"

พิ้งค์ จิรภัทร นักศึกษาคณะครุศาสตร์ผู้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ พิ้งค์ จิรภัทร นักศึกษาคณะครุศาสตร์ผู้ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ

“สำหรับเรา การแต่งตัวเป็นผู้หญิงมันเหมือนเป็นการแสดงความชัดเจนในเรื่องเพศของเราเอง อย่างถ้าให้ผู้หญิงแท้ๆ ไปแต่งตัวเป็นผู้ชาย เราคิดว่าผู้หญิงคนนั้นก็ไม่น่าจะรู้สึกสบายใจเท่าไหร่ เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของเขา อีกอย่างหนึ่งก็เพื่อความปลอดภัยของเราด้วย เพราะตัวเราดูภายนอกก็เหมือนผู้หญิง จะให้เราใส่ชุดผู้ชายแล้วเข้าห้องน้ำชาย มันให้ความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย

>> การเมืองเรื่องความงาม: ส่องภาวะ “คลั่งสวย” ของคนหลากสี

หลังจากที่เรื่องราวของเธอได้กลายเป็นประเด็นร้อนในชั่วข้ามคืน หลากหลายความเห็นทั้งด้านบวกและลบถูกโยนมาใส่ทั้งตัวเธอและครอบครัว ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่มองว่าเธอกำลังพยายามฝ่าฝืนกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย ซึ่งพิ้งค์มองว่า การกระทำของเธอไม่ใช่การฝ่าฝืนกฎระเบียบแต่อย่างใด เพียงแต่เธอแค่ต้องการรักษา “สิทธิที่จะเป็นตัวเอง” อย่างภาคภูมิใจเพียงเท่านั้น

“การที่เราออกมาเรียกร้องเรื่องชุดนิสิตไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะมีสิทธิเหนือคนอื่น แต่เราแค่ต้องการจะมีสิทธิเท่าคนอื่น เพราะนี่มันคือสิทธิที่คนข้ามเพศคนหนึ่งสมควรจะได้รับ ซึ่งในเรื่องของกฎระเบียบ เราไม่ได้มองว่าเป็นการฝ่าฝืน เพราะเราก็แต่งตามระเบียบที่นิสิตหญิงคนหนึ่งควรจะปฏิบัติตามทุกอย่าง อย่างถ้าเกิดเราแต่งตัวเป็นผู้หญิงแล้วเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย เราใส่กระโปรงสั้น เราแต่งตัวโป๊ แล้วอาจารย์หักคะแนน อันนั้นเรายอมรับได้”

เมื่อโลกไปไกลเกินกว่าผู้ใหญ่จะก้าวทัน

ประเด็นข้อขัดแย้งเริ่มมาจากการที่พิ้งค์เข้าเรียนในวิชาหนึ่งด้วยการใส่ชุดนิสิตหญิง ทว่าเมื่ออาจารย์ท่านหนึ่งเห็นในใบเซ็นชื่อว่า ชื่อของเธอขึ้นต้นด้วย "นาย" ทำให้เธอถูกเรียกไปต่อว่าอย่างรุนแรง มีการใช้คำพูดต่อว่าในลักษณะที่บ่งบอกว่าการเป็นบุคคลข้ามเพศเป็นคนมีปัญหาทางจิต ต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้นเรียน อีกทั้งยังมีการกีดกันไม่ให้เธอได้เข้าสอบหากว่ายังไม่ยอมเปลี่ยนกลับไปแต่งชุดนิสิตชาย

เรื่องบานปลายขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งอาจารย์ท่านนั้นได้ยื่นเรื่องกับทางคณะเพื่อให้มีมติห้ามไม่ให้เธอใส่ชุดนิสิตหญิงอีกเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกตัดคะแนนและพ้นจากสถานภาพนิสิต นี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอต้องออกมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตัวเอง

ในมุมมองของนาดาซึ่งก็เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เธอมองว่านี่คือภาพสะท้อนที่ว่า บุคลากรในแวดวงการศึกษาของไทยยังมีภาพจำในด้านลบต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ โดยเหมารวมว่าเป็นพวกคนที่มีความผิดปกติทางจิต ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตัดเรื่องความหลากหลายทางเพศออกจากบัญชีจำแนกโรคฯ ในฐานะที่เป็นความผิดปกติไปเรียบร้อยแล้ว

“การที่คนที่มีคุณวุฒิ มีวิชาความรู้ แต่ไม่พยายามทำความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ มันสะท้อนให้เห็นว่า ตัวเขาตามไม่ทันองค์ความรู้ใหม่ๆ เพราะยังยึดติดกับความคิดเดิมๆ ซึ่งเรามองว่านี่คือสิ่งที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา”

ว่าด้วยสิทธิของคนข้ามเพศในสถานศึกษา

ในฐานะที่ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมาอย่างยาวนาน นาดามองว่า ปัจจุบันหลังจากที่มีการออก พ.ร.บ.เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของคนข้ามเพศในสถานศึกษามีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลายมหาวิทยาลัยนอกจากจะมีการอนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นคนข้ามเพศสามารถแต่งกายได้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองในปัจจุบันแล้ว ยังมีการออกกฎระเบียบของทางมหาวิทยาลัยเพื่อป้องกันไม่ให้บุคลากรภายในสามารถละเมิดสิทธิ์ของคนกลุ่มนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยที่จะเปิดกว้าง เหตุเพราะมีข้อจำกัดบางอย่าง

“มหาวิทยาลัยภายใต้การกำกับของรัฐแต่ละแห่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดในตัวเอง สามารถออกกฎตามดุลยพินิจของตัวเอง รวมถึงเรื่องเครื่องแต่งกายของนักศึกษาด้วย ซึ่งเรามองว่ามันยังผิดกันกับหลักสิทธิมนุษยชนอยู่ เพราะเรื่องการแต่งกายมันควรจะเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ เป็นสิทธิสภาพโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่ที่หนึ่งใส่ได้ อีกที่หนึ่งใส่ไม่ได้”

นาดา ไชยจิตต์ นักสิทธิและนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศนาดา ไชยจิตต์ นักสิทธิและนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ

นาดาเล่าต่อว่า ประเด็นเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาที่เป็นคนข้ามเพศเป็นประเด็นที่มีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การที่เธอเข้ามาร่วมในการเรียกร้องครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะในอดีตสมัยเป็นนักศึกษา เธอเองก็เคยต้องประสบปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติเช่นเดียวกัน

“ตัวเราเองก็เคยเจอปัญหานี้กับตัวเองสมัยที่ยังเรียนนิติศาสตร์ แต่ตอนนั้นเรายื่นคำร้องเองเลย อย่างในรุ่นเราทุกคนในห้องได้ใบรับรองคุณวุฒิกันหมดแล้ว ยกเว้นเรา ซึ่งตอนนั้นเราจำเป็นต้องใช้ใบเพื่อไปรับรองเรื่องเรียนต่อกับสอบใบอนุญาตว่าความ ซึ่งมันก็ไม่ทันกำหนดการ ถามว่าสาเหตุเกิดจากอะไร เขาให้คำตอบว่าเพราะรูปถ่ายเราไม่ผ่านเพราะใส่ชุดครุยผู้หญิง ซึ่งมันเรื่องแค่นี้เอง เราเลยเลือกใช้ช่องทางของ วลพ. เพื่อเรียกร้องประเด็นนี้บวกกับทำเรื่องไปที่สำนักงานอธิการบดี”

“ตอนที่เจอคือแบบเดียวกันเลยคือมีการยกเรื่องกฎระเบียบขึ้นมา เจ้าหน้าที่ทะเบียนเขาให้เหตุผลว่าที่ต้องติดรูปชุดครุยชายเพราะนี่เป็นหลักฐานว่าคุณวุฒิที่เราได้มามันเป็นของเรา เราก็เลยตอบว่า นี่ไง มันคือผลการศึกษา การสอบไล่ระดับการเรียนจบของ นาดา ไชยจิตร แล้วยังไง? นาดา ไชยจิตร ไม่ใช่ผู้ชาย ตัวเราไม่ใช่ผู้ชาย การมาบังคับให้ฉันไปใส่วิก แต่งตัวเป็นผู้ชายคือนั่นมันไม่ใช่ตัวฉัน เขาก็เลยเก็ท”

เมื่อต้องเผชิญกับความอยุติธรรม

สำหรับคนที่กำลังเจอกับปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุเพราะเพศสภาพนั้น นาดา ให้คำแนะนำมาเป็นขั้นตอนดังนี้

  1. ตรวจดูเรื่องระเบียบข้อบังคับของสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายว่ามีอะไรบ้าง
  2. ทำหนังสือขออนุญาตและหนังสือชี้แจงให้กับสถาบันการศึกษา ถ้าไม่มีการตอบรับใดๆ จึงดำเนินการขั้นต่อไป
  3. เตรียมยื่นคำร้องผ่าน วลพ. เก็บหลักฐานต่างๆ เช่น ระเบียบ ข้อบังคับของสถาบัน หรือถ้าถูกใครล่วงละเมิดทางคำพูดให้บันทึกเสียงบทสนทนามาด้วย ในกรณีที่สถานการณ์ตึงเครียด สามารถยื่นร้องต่อทาง วลพ. ให้ออกมาตรการคุ้มครองสถานภาพก่อนได้ เช่นกรณีที่ทางสถานศึกษาใช้มาตรการกดดันเพื่อยกเลิกสภาพการเป็นนิสิตนักศึกษา

เวลาที่เราตกเป็นผู้เสียหายจากกฎระเบียบของสถาบันการศึกษา แน่นอนสิ่งที่ตามมาคือคำวิพากษ์วิจารณ์ สำคัญมากคือเราต้องไม่โทษตัวเอง หรือมองว่าเราทำให้มหาวิทยาลัยเดือดร้อนเสียหาย เราต้องก้าวข้ามให้ได้ แล้วไม่ใช่แค่เรื่องในสถานศึกษาเท่านั้น แม้แต่ที่ทำงานหรือเพื่อนร่วมงาน คุณก็สามารถร้องเรียนได้ เริ่มกับทางองค์กรก่อน ถ้าไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงไป วลพ. เพราะตัว พ.ร.บ.ฉบับนี้มันถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการร้องเรียน กระบวนการมันเลยทำได้ง่ายและรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นคุณจะได้รับความเป็นธรรมแน่นอน” นาดา ระบุ

“สิทธิ” ที่จะเป็นตัวเอง

ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง นาดามองว่า จริงๆ แล้วสังคมไทยอาจจะไม่ได้เข้าใจในเรื่องของความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เพียงแต่แค่ยอมให้มี “พื้นที่” สำหรับการมีตัวตนเท่านั้นเอง เพราะถ้าสังคมเข้าใจในเรื่องนี้อย่างแท้จริง ปัญหาเรื่องการแต่งกายไม่ตรงตามเพศกำเนิดจะไม่มีทางกลายเป็นดราม่าในสังคมได้เลย

“เอาจริงๆ สังคมไทยไม่ได้เข้าใจนะว่าคนข้ามเพศคืออะไร เกย์คืออะไร เลสเบี้ยนคืออะไร แต่แค่สังคมไทยอดทนพอที่จะให้คนแบบเรามีตัวตนอยู่เท่านั้น แต่ถามว่าเข้าใจไหม เราว่าไม่ เพราะถ้าเข้าใจกันจริงๆ มันจะไม่มีการมานั่งถามกันอยู่ว่า เนี่ย ผ่าหรือยัง ทำนมหรือยัง ไหน ขอจับหน่อย เพราะชายจริงหญิงแท้ ชีวิตประจำวันเขาก็ไม่มีใครมาถามเรื่องส่วนตัวกับคนที่เพิ่งเจอกันขนาดนี้ แต่สำหรับเรา แค่เราพูด คนก็ทักแล้วว่า อุ๊ย! ทำไมเสียงใหญ่จัง ทำไมไม่บีบเสียงล่ะ คือแค่เสียงเราจริงๆ สังคมยังไม่อนุญาตให้เราใช้เสียงของตัวเองเลย เราเลยไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสังคมถึงมีดราม่าเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ เชื่อได้เลยว่านี่ไม่ใช่เคสสุดท้ายแน่นอน” นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนให้ความเห็นถึงสภาพสังคมไทย

สำหรับพิ้งค์ การแต่งกายเป็นผู้หญิงสำหรับเธอมันไม่ใช่แค่งานอดิเรกที่จะเปลี่ยนไปมาได้ แต่มันคือความภาคภูมิใจของผู้หญิงข้ามเพศคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ต้องการเลยที่จะมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น

“ตัวเราไม่ได้มีเจตนาจะออกมาโจมตีมหาวิทยาลัย แต่ตั้งแต่เราทำเรื่องมา เราต้องอดทนกับหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะโดนเรียกไปตำหนิ เรียกไปคุยส่วนตัว โดนประจาน โดนเลือกปฏิบัติ เราอดทนมาตลอด เราไม่เรียกร้องอะไรเลย คือเราทำเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 60 จนปี 62 ถึงได้ออกมาเพราะมันมีมติขอยกเลิกไม่ให้เราใส่ชุดผู้หญิง ส่วนตัวแล้วพิ้งค์มองว่าทุกคนสมควรได้รับสิทธิในการแต่งกายที่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองซึ่งก็ควรจะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ใช่ที่หนึ่งทำได้ อีกที่ทำไม่ได้ เราอยากให้มันตั้งอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกัน”

ไม่ใช่แค่เจ้าตัวและนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่สนใจประเด็นดังกล่าว เนื่องจากนักวิชาการที่เป็นชาวเพศหลากหลายอย่าง เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งครั้งหนึ่งตัวเธอเองก็เคยได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เหตุเพราะอคติทางเพศเช่นเดียวกัน

>> ศาลสั่ง “ธรรมศาสตร์” รับอาจารย์ข้ามเพศ “เคท ครั้งพิบูลย์” กลับเข้าทำงาน

>> อธิการบดีธรรมศาสตร์ เฉลยปมไม่รับ "เคท" เป็นอาจารย์ โพสต์ภาพลิปสติกไม่เหมาะสมลงโซเชียล

ได้โพสต์บนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้ทางคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่กำลังมีข้อขัดแย้งได้ทำการพิจารณาอาจารย์ผู้กระทำการล่วงละเมิดทางวาจาในชั้นเรียน เหตุเพราะเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ พร้อมกับเรียกร้องให้ทางมหาวิทยาลัยสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นการประกันสิทธิอันพึงมีของคนกลุ่มนี้

fb: เคท ครั้งพิบูลย์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรณีที่เกิดขึ้นนั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยดังกล่าวมีคำสั่งให้บรรเทาการบังคับตามมติของคณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ไว้จนกว่าจะมีการพิจารณาเป็นอย่างอื่น

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook