พบ "เหยี่ยวแดง" สัตว์ป่าคุ้มครอง สภาพปีกหัก-อิดโรย เร่งประสานเจ้าหน้าที่ดูอาการเบื้องต้น
ชาวบ้านพบเหยี่ยวแดงสัตว์ป่าคุ้มครอง ปีกหัก อิดโรย หวั่นถูกทำร้าย ประสานเจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติส่งสัตวแพทย์ดูอาการเบื้องต้น ก่อนมอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายดูแลรักษา
วันที่ 23 มกราคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับแจ้งจากนายนิพิฐพนธ์ ดาคำ อายุ 39 ปี ชาวประจวบคีรีขันธ์
ว่าพบเหยี่ยวแดงตัวใหญ่ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ได้พลัดหลงบินเข้ามาบริเวณอาคารที่พักของอาจารย์ของวิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ ถนนสุขจิต ในเขตเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์
จากการสังเกตพบว่าเหยี่ยวแดงตัวดังกล่าวอยู่ในสภาพอิดโรย ไม่มีแรงกระพือปีก เกาะกำแพงรั้วนิ่งๆ โดยไม่บินไปไหน ซึ่งทั้งใกล้เคียงยังเป็นที่พักของราชการหลายหน่วยงาน และมีการเลี้ยงสุนัขเฝ้าบ้านไว้หลายตัว เกรงว่าเหยี่ยวแดงตัวดังกล่าวจะได้รับอันตรายจากการถูกสุนัขกัดได้
นายนิพิฐพนธ์ กล่าวว่า เหยี่ยวแดงมีลักษณะอ่อนแรง ที่ปีกและหางผิดปกติ คล้ายกับถูกคนเลี้ยงตัดออกเพื่อไม่ให้บิน ช่วงที่เห็นอาจเป็นไปได้ว่า เหยี่ยวหลุดออกจากกรงเลี้ยง หรือคนเลี้ยงปล่อยให้สัตว์ป่าบินออกจากกรงเอง
ตนจึงได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ทสจ.) จัดส่งเจ้าหน้าที่มารับตัว โดยได้ใช้ผ้าผืนใหญ่คลุมตัวเหยี่ยวแดงเอาไว้แล้วใส่กรงนกเขาที่ว่างอยู่ ให้เจ้าหน้าที่นำไปให้ นายสัตวแพทย์ จามร ศํกดินันท์ คลินิกปฏิญญาสัตวแพทย์ (สาขาประจวบคีรีขันธ์) ได้ตรวจอาการเหยี่ยวแดง
โดยสัตวแพทย์ได้ตรวจอาการเบื้องต้น พบว่าเหยี่ยว อ่อนเพลีย ขนหายไปเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะที่ขนปีกและขนหางถูกตัดด้วยของมีคม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เหยี่ยวบินไม่ถนัดเสียการทรงตัว
ส่วนที่ลำตัวบริเวณหน้าอกอยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง จึงได้ฉีดยาแก้อักเสบจำนวน 1 เข็ม พร้อมทั้งนำใส่กรงขนาดใหญ่ ภายในกรงมีภาชนะใส่น้ำ และคลุมกรงอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันอาการตกใจ
พร้อมทั้งประสานสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มารับตัวนำไปรักษา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเหยี่ยวแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 มีสีที่ตัดกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
ทั้งตัวจะมีสีน้ำตาลแดงยกเว้นที่หัวและอกมีสีขาว ปลายปีกมีสีดำ ขามีสีเหลือง ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มีความยาวจากปลายปีกจดปลายหาง 51 ซม. ตัวผู้ยาว 43 ซม. นกวัยอ่อนมีสีน้ำตาลแกมดำคล้ายกับเหยี่ยวดำ แต่มีสีจางกว่า ปีกสั้นและหางมน
เหยี่ยวแดงสามารถพบได้ในประเทศศรีลังกา, ประเทศอินเดีย, ประเทศปากีสถาน, ประเทศบังกลาเทศ, และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางใต้ไปได้ไกลถึงรัฐนิวเซาท์เวลส์, ประเทศออสเตรเลีย เป็นนกประจำถิ่น แต่อาจมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล
ส่วนใหญ่จะพบในที่ราบแต่บางครั้งพบที่ระดับความสูง 5000 ฟุตในเทือกเขาหิมาลัย เหยี่ยวแดงถูกประเมินเป็นความเสี่ยงต่ำในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ นกชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะลดจำนวนลง อย่างเช่นในชวา
สำหรับในประเทศไทย เหยี่ยวแดงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 เป็นนกที่สามารถพบได้หลายพื้นที่
โดยจะพบได้ตามแถบชายฝั่งน้ำ, ที่ราบทุ่งนา, ป่าโปร่ง,ปากอ่าว, ชายฝั่งทะเล รวมถึงเกาะเล็ก ๆ ส่วนใหญ่ชอบอยู่ใกล้หมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านเลนตัก บริเวณปากแม่น้ำเวฬุ เป็นต้น โดยถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน
อัลบั้มภาพ 21 ภาพ