เปิดเวทีความคิด พัฒนา EEC อย่างยั่งยืน ต้องมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างการมีส่วนร่วม

เปิดเวทีความคิด พัฒนา EEC อย่างยั่งยืน ต้องมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างการมีส่วนร่วม

เปิดเวทีความคิด พัฒนา EEC อย่างยั่งยืน  ต้องมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างการมีส่วนร่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ทราบกันดีว่า โครงการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นโครงการที่สำคัญ เป็นเรือธงที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ได้อย่างทัดเทียมกับหลายๆประเทศทั่วโลก  ซึ่งโครงการที่สำคัญๆ เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ และเป็นรากฐานทีสำคัญที่จะบ่งชี้ได้ว่า EEC จะเกิดได้ หรือไม่ได้ ก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน  และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

เมื่อเร็วๆ นี้มีการจัดสัมมนา ซึ่งจัดโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่พูดถึง  “การพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ซึ่งเป็นที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะกระแสของความยั่งยืนเข้ามามีบทบาทกับโครงการต่างๆ มากมาย  ซึ่งนอกจากความยั่งยืนแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยี  และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนซึ่งหลายคนอาจจะมองข้าม หรืออาจจะคิดไม่ถึง

คุณภูมิ ศิระประภาศิริ ผู้บริหารด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พูดถึงความยั่งยืนในพื้นที่ EEC ในงานสัมมนานี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า ความยั่งยืน คือ การทำธุรกิจที่สามารถเติบโตไปได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว  และต้องคำนึงถึงผลกระทบ ทางบวก และทางลบ ไปพร้อมๆ กัน  

ถ้ามองในระดับประเทศ  ความยั่งยืน ก็คือ การพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของคนทุกคนในประเทศ ของธุรกิจทุกระดับในประเทศ โดยไม่สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่สร้างพิษภัยต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบจะย้อนกลับเข้ามากระทบความเป็นอยู่ของคนในประเทศโดยตรง

ดังนั้น การจะพัฒนาให้ยั่งยืนจะต้องฟังเสียงจากทุกฝ่าย ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะอาจจะเกิดขึ้นและหาทางจัดการผลกระทบเหล่านั้น ที่สำคัญ ต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของการพัฒนา ต้องพูดคุยกันด้วยเหตุและผล วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย บนพื้นฐานความเป็นจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต และองค์ความรู้จากที่ต่างๆ ในโลก

17 เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลกกับ EEC

เมื่อพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในประชาคมโลก ได้มีการขับเคลื่อน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG - Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ หรือ UN เป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย เข้าไปหารือร่วมกันว่าโลกเรามีปัญหาที่สำคัญอะไรบ้าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ สันติภาพ ความมั่นคง แล้วจะพัฒนาทางแก้ไขได้อย่างไร

คุณภูมิ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศหนึ่งในประชาคมโลก ดังนั้น การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่มุ่งหวังจะดึงดูดประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมมือพัฒนา ก็ควรจะต้องตอบโจทย์เป้าหมาย SDG ที่เป็นเป้าหมายระดับโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งโครงการใหญ่อย่าง  EEC  สอดคล้องกับเป้าหมายของความยั่งยืนในระดับโลกหลายเป้าหมายเช่นกัน

ตัวอย่างเช่นเป้าหมาย No Poverty คือ การขจัดความยากจน ซึ่งการโครงรถไฟความเร็วสูง และสนามบิน ที่จะเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดอาชีพใหม่ๆ ตามมา รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงเป้าหมายข้อที่ 8 เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะการสร้างให้เศรษฐกิจเติบโต แข็งแกร่ง เกิดการจ้างที่มีคุณค่า ต้องคำนึงด้วยว่ารายได้  อาชีพต่างๆ นั้นมั่นคง มีอนาคต มีความก้าวหน้า หรือไม่

เป้าหมาย  Zero Hunger ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเรามีแนวทางส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร ในพื้นที่ 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งรวมทั้งจันทบุรี ตราดด้วย แต่ก็ต้องคิดถึงผลกระทบด้วยว่าอาหารสำหรับคนในพื้นที่ จะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราเน้นส่งออก ส่งไปกรุงเทพ แล้วคนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์จากผลผลิต

เป้าหมาย  Quality Education คือ การมุ่งเน้นส่งเสริมการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน โดยเฉพาะเรื่องของ การถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลนี  เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าด้านอาชีพ เกิดการจ้างงานใหม่ๆ

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมาย Partnership ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ เพราะในการทำธุรกิจ หรือการทำโครงการใหญ่ นอกจากพันธมิตรธุรกิจที่มาร่วมหัวจมท้ายในการทำธุรกิจร่วมกันแล้ว ที่ขาดไม่ได้ คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นั่นเอง 

ต้องให้โอกาสทุกคนเข้าถึงและแบ่งปัน เน้นสร้างการมีส่วนร่วม

ในเวทีสัมมนา ยังมีการระดมความคิดเห็นร่วมกันหลากหลายภาคส่วน อาทิ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมถาคการศึกษา และผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ โดยมี ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้บริหารจากสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารความยั่งยิน

ซึ่งให้ความเห็นว่า การสร้างปัจจัยพื้นฐาน คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงและแบ่งปันโอกาสทางอาชีพ การเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา การมีสุขภาพที่ดีและมีความสุข  ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจที่สำคัญคือ 

โครงข่ายการคมนาคมขนส่ง และระบบโลจิสติกส์  เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต โครงสร้างไฟฟ้า พลังงาน  โครงสร้างระบบชลประทาน  น้ำเพื่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภคของเมืองและชุมชน โครงสร้างทางการศึกษา ระบบโรงเรียน  วิทยาลัย  มหาวิทยาลัย   เป็นต้น  

โครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์  กับเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตกำลังมีบทบาทสำคัญต่อการเข้าถึงทั้งทางกายภาพและทางสัญญาณดิจิทัลของสินค้าและบริการต่างๆ ซึ่งการผลักดันให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน โดยมีหลักการร่วมกันประการหนึ่งว่า  การสร้างการใช้ประโยชน์  การดูแลบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้นต้องไม่สร้างผลกระทบและผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และถ้าจะให้ดีต้องทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องพิจารณาให้เกิดความสมดุลไปพร้อม ๆ  กัน

ดร. ธีระพล บอกว่า การทำให้เกิดความสมดุลไม่จำเป็นต้องเกิดร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ต้องคิดต่อยอดไปถึงขั้นที่ว่า “สมดุล” เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาและต้องพิจารณาถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ เน้นการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ เป็นต้น  

รวมทั้ง ต้องใส่ใจแก้ไขปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้น นั่นคือ ทุกครั้งที่มีการการปรับปรุงและขยายระบบโครงสร้างพื้นฐาน มักจะเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงจากการขยายตัวของถนน การเติบโตของสังคมเมือง ความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำ พลังงาน ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น  และยังความต้องการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เพียงพอ

“การสร้างความเจริญสมัยใหม่   สิ่งที่จะตามมาคือ ความเป็นชุมชนเมือง และการที่จะทำให้ชุมชนเมืองมีความสะดวกสบายได้นั้น ต้องใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ตั้งแต่พลังงาน  น้ำ วัตถุดิบอื่นๆ  และพื้นที่ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ การวางแผนการจัดการที่ดี  มีความเคร่งครัดในดำเนินการไม่ให้โครงสร้างพื้นฐานเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน  

แต่ต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมแบบผสมผสาน   ลดปริมาณการใช้ทรัพยากร  มีประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ และวิธีการแบบองค์รวม”

อย่างไรก็ตาม  การขับเคลื่อนโครงการ EEC ให้สำเร็จ และสร้างให้เกิดสร้างผลสัมฤทธิ์ที่แท้จริงและยั่งยืน ต่อทั้งคนที่มาลงทุน และประชาชนของประเทศต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง

ซึ่งการสัมมนาในวันนี้เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็น ฟังแนวคิด รวมทั้งข้อแนะนำจากทุกภาคส่วน ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความเชื่อว่า การจะทำโครงการให้สำเร็จ ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

ถ่ายทอดเทคโนโลยี โจทย์ใหญ่ที่ให้ความสำคัญ

การระดมความเห็นในวันนั้น ประเด็นหลักที่มีการพูดถึงกันมาก ก็คือ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการจากต่างชาตินำเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการทำโครงการให้สำเร็จ เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ก็นำทุกอย่างกลับไป โดยไม่เหลือหรือทิ้งองค์ความรู้เหล่านั้นไว้เลย จึงไม่ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ และการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้เลย

ดังนั้น การทำโครงการใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ จะต้องให้ความสำคัญกับการการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่เข้ามา

แต่จ้างงานคนในพื้นที่นิดเดียวไม่ได้สร้างคนให้พร้อมรับการพัฒนา คงไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร  ผู้ประกอบการหรือผู้ที่ทำโครงการจึงต้องรู้จักการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา แล้วนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องเรียนรู้เพื่อสร้างให้เกิดความแตกต่าง 

โดยที่เอกชนที่เข้ามาทำโครงการควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งหากทำได้ จะนำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ เกิดอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น  และยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่อาชีพของคนไทยอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook