sanook.com ชนะรางวัล "สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2561
เมื่อวานนี้ (24 มกราคม 62) เวลา 14.00 น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “สื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2561 ณ โรงแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์ โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล จากผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 14 ชิ้นงาน จาก 4 ประเภทรางวัล
ผลปรากฏว่า sanook.com ได้รับรางวัลดีเด่นในประเภท รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ จากผลงานเรื่อง "บทเรียนจากแดนประหารจากช่างภาพญี่ปุ่น-โทชิ คาซามะ” คว้าเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
ซึ่งผลงานดังกล่าว ณัฐธยาน์ ลิขิตเดชาโรจน์ บรรณาธิการบทความแห่งสนุกดอทคอม พาผู้อ่านไปสำรวจเบื้องลึกเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตจากสายตาของ “โทชิ คาซามะ” ช่างภาพชาวญี่ปุ่นวัย 60 ปีที่ตระเวนถ่ายภาพในแดนประหารทั่วโลกตั้งแต่ปี 1996 และนำผลงานเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของโทษประหารชีวิต
สามารถอ่านบทความที่คว้ารางวัลดังกล่าวได้ที่นี่ >> บทเรียนจากแดนประหารของช่างภาพชาวญี่ปุ่น “โทชิ คาซามะ”
ทั้งนี้ นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “ครู” ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม
ที่ปรึกษาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2561 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ซึ่งผลการตัดสินมีดังนี้
ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์
รางวัลดีเด่น : ผลงานชุด “ผู้ต้องกักและผู้ลี้ภัยในเขตเมือง 101” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
รางวัลชมเชย : ผลงานชุด “น้องนนท์...จากคนกีฬาชายขอบไร้สัญชาติ สู่วันที่คราบน้ำตาแห้งพร้อมสู้เพื่อชาวไทย” หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออน์ไลน์
รางวัลดีเด่น : ผลงานเรื่อง "บทเรียนจากแดนประหารจากช่างภาพญี่ปุ่น-โทชิ คาซามะ" เว็บไซต์สนุกดอทคอม
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “เปิดตาตีหม้อ-สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด” เว็บไซต์ the101.world
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “ชีวิตยามเกษียณ: ‘ชีวิตดี’ เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในชาตินี้” เว็บไซต์ประชาไท
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “4 ปีรัฐประหาร: ความตายของชัยภูมิ ป่าแส สิทธิมนุษยชนยุคทหารที่ไร้คำตอบ” เว็บไซต์บีบีซีไทย
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด” เว็บไซต์ the101.world
ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)
รางวัลดีเด่น : ผลงานเรื่อง “ซ่อม VS ซ้อม ธำรงวินัยทหารอดทน” สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์
รางวัลดีเด่น : ผลงานเรื่อง “โรฮิงญากลางฤดูอพยพ” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “วิสามัญ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ควันปืนที่บดบังข้อเท็จจริง” สถานีโทรทัศน์นิวทีวี
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “ค้ามนุษย์ข้ามชาติ” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี
สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)
รางวัลดีเด่น : ผลงานเรื่อง “ชีวิตหนี้มลาบรี” รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
รางวัลดีเด่น : ผลงานเรื่อง “เคยมีคนชื่อ เด่น คำแหล้” รายการสารตั้งต้น สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี
รางวัลชมเชย : ผลงานเรื่อง “เด็กลูกแรงงานข้ามชาติกับการได้รับการศึกษา” รายการสปริง รีพอร์ต สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโปสการ์ดให้กำลังใจจากผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ให้กับ 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงของไทยได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เพื่อยุติการอุ้มหายในประเทศไทย และภรรยาทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2547 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ คุณแม่ลูกห้าและภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หายตัวไปเมื่อปี 2557 นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความสิทธิมนุษยชนด้วย
ในช่วงท้าย นายสมชายกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของงานในวันนี้ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนและเป็นสื่อกลางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้งที่ผ่านมาและจะทำต่อไป
ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมา เว็บไซต์สนุกดอทคอมได้รับรางวัลต่างๆ จากหลากหลายสถาบันมาอย่างต่อเนื่อง และจะพยายามมุ่งมั่นพัฒนาการนำเสนอข่าวสาร รวมทั้งเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและสังคมต่อไป
>> ที่หนึ่งในใจชาวเน็ต! sanook.com คว้ารางวัลสุดยอดแบรนด์ชั้นนำแห่งปี สาขาสื่อออนไลน์
>> sanook.com เว็บไซต์หนึ่งเดียวในไทย เข้ารับประทานรางวัล "ประชาบดี" จากพระองค์โสมฯ
>> sanook.com คว้า "เน็ตเวิร์คดีเด่น" จากการประกาศรางวัลวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ “พิฆเนศวร” คร้ังที่ 6
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ