สธ.ออกประกาศฉบับ1 เตือนระวังโรค ชิคุนกุนยา

สธ.ออกประกาศฉบับ1 เตือนระวังโรค ชิคุนกุนยา

สธ.ออกประกาศฉบับ1 เตือนระวังโรค ชิคุนกุนยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ.ออกประกาศฉบับ1 เตือนระวังโรค"ชิคุนกุนยา" หลังพบระบาดหนักในภาคใต้ มีผู้ป่วยแล้ว กว่า 2 หมื่นราย ขอ อสม. อปท. ช่วยสอดส่องดูแลชาวบ้านในพื้นที่ รณรงค์ทำ บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ทุกสัปดาห์ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายสวน

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศคำแนะนำประชาชน เรื่อง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ฉบับที่ 1 เพื่อความร่วมมือในการป้องกันโรค หลังพบการแพร่ระบาดหนักในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศ โดยสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 19 พฤษภาคม 2552 พบจำนวนผู้ป่วยสะสม 20,541 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือแบ่งตามกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระบาด 14 จังหวัดภาคใต้ หากพบตนเองหรือคนในบ้านมีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการปวดข้อ หรือผื่นขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ แต่หากไม่อาจไปพบแพทย์ได้แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ซึ่งผู้ป่วยหลังมีไข้ 1 สัปดาห์ต้องระวังไม่ให้ถูกยุงกัดโดยเด็ดขาด เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น ควรกางมุ้งทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ไม่ควรเดินทางออกนอกพื้นที่ภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ที่ติดต่อและอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยควรเฝ้าระวังตัวเอง 2 สัปดาห์ หากจำเป็นต้องเข้าไปในสวนยางหรือสวนผลไม้ ควรสวมเสื้อมิดชิด และทายากันยุง และต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในบ้านและในสวนยางทุกๆ 7 วัน

กลุ่ม อสม. ขอให้เฝ้าระวังประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หากพบผู้เข้าข่ายต้องสงสัยให้รีบพาไปพบแพทย์ และรายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยด่วน ให้คำแนะนำและขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันยุงกัด

ส่วนกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนยุงตัวเต็มวัย และแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เช่น ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม จัดรณรงค์ Big Cleaning Day สัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่อง 3 เดือน ออกข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้มีการดูแล กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชน อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค การควบคุมยุงลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และลูกน้ำยุงลาย

และกลุ่มสถานศึกษา ขอให้ดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษา ทุก 7 วัน ให้ความรู้และคำแนะนำแก่นักเรียน เกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย วงจรชีวิตของยุง การแพร่เชื้อ และวิธีป้องกัน

ทั้งนี้หากประชาชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th หรือติดต่อที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2590-1994 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook