มาดู-มาทำ-มาน้อมนำ “คำพ่อสอน” พ่อเมืองสองพระนอนเชิญเที่ยวงาน “เกษตรและของดีเมืองอ่างทอง”
(28 ม.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายพิเศษ โดยกล่าวถึง จังหวัดอ่างทองมีพื้นที่ส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวอ่างทองมาเป็นเวลาช้านาน อาชีพทำนา เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนอ่างทองตั้งแต่อดีต
เพราะคนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก ผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา เรียกว่า “ชาวนา” อาชีพชาวนาจึงเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะเป็นอาชีพที่ผลิตข้าวเลี้ยงคนในประเทศไทย รองลงมา คือ อาชีพทำสวน ปลูกผักหรือผลไม้ อาชีพทำไร่ ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด อาชีพเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพสำคัญของชาวอ่างทองควบคู่กับการเพาะ ปลูก เเละการประมง
เดิมการเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่มักเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร เเต่ปัจจุบันเรายังเลี้ยงเพื่อการค้าอีกด้วย อีกหนึ่งอาชีพสำคัญคืออาชีพประมง เป็นอาชีพที่จับสัตว์น้ำหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากจังหวัดอ่างทองมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน รวมไปถึงอาชีพหัตถกรรม เป็นอาชีพที่เอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประดิษฐ์ด้วยมือเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดอ่างทองให้เป็นเมืองเกษตร
นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า การจัดงานเกษตรและของดีเมืองอ่างทอง ครั้งที่ 7 นับเป็นความร่วมมืออีกครั้งระหว่างวัดขุนอินทประมูล จังหวัดอ่างทอง หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน
เมื่อปีที่ผ่านมาการจัดงานเกษตรและของดีเมืองอ่างทอง ได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมงาน 70,910 คน มีเงินหมุนเวียนจากการจัดงานทั้งสิ้น 17,226,645 บาท ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายทั้งในด้านรายได้
และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ของดีจังหวัดอ่างทอง และสินค้าเกษตรของจังหวัดให้เป็นที่รู้จัก แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดอ่างทองว่าเป็น “แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย” รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
ในปีนี้รูปแบบการจัดงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดอ่างทอง ธีมงาน “ก้าวตามรอยพ่อ สู่เกษตรอินทรีย์วิถีอ่างทอง” ซึ่งจะมุ่งเน้นส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ โดยการให้ความรู้เกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรจากการใช้สารเคมี มาทำเกษตรแบบไร้สารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ โดยใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี และยังการให้ความรู้ด้านอื่นๆ อีกมากมาย
ด้านของการประกวด ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ ของงานเรื่องของการประกวดปลากัด 15 รุ่น และประกวดพี่คล้าว ทองกวาว รุ่นผู้ใหญ่และรุ่นเด็ก ประกวดร้องเพลงประเภทชาย หญิง รางวัลกว่า 40,000 บาท โชว์ไก่พื้นเมืองและเสวนาไก่พื้นเมือง และยังมีกิจกรรมการแสดงอีกมากมาย และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 จะมีการรับจดทะเบียนสมรสที่วัดขุนอินทประมูล และแต่งงานควายอีกด้วย
การจัดงานเกษตรในครั้งนี้ ผู้เที่ยวชมงานจะได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทรงเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้ากฐินต้น ณ วัดขุนอินทประมูล พร้อมทรงปลูกต้นโพธิ์ และต้นไทร บริเวณหน้าองค์พระนอน วัดขุนอินทประมูล นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวจังหวัดอ่างทอง อย่างหาที่สุดมิได้
อีกทั้งทางวัดขุนอินทประมูล จัดให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมทำบุญพิธีห่มผ้าองค์พระพุทธไสยาสน์เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปี เป็นพระนอนที่ยาวลำดับที่ 3 ของประเทศ สร้างขึ้นสมัยสุโขทัย มีความเชื่อว่า การสักการะบูชาองค์พระพุทธไสยาสน์ โดยสัมผัสที่ฝ่าพระบาทพระนอน ท่านจะประทานพรให้มีอายุยืนยาวเป็นมงคลให้ชีวิตอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น มีการจำหน่ายสินค้าเกษตรและของดีของจังหวัดอ่างทอง ในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ OTOP และประชาชนชาวอ่างทอง ได้นำสินค้าของตนเอง เข้าสู่ตลาดการค้าโดยตรง ผลิตภัณฑ์กว่า 1,000 รายการ กว่า 200 ร้านค้า มาให้เลือกซื้อเลือกชมกันมากมาย
นายวิวัตห์ชัย พันธุ์วา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ในส่วนของงาน “เกษตรและของดีเมืองอ่างทอง” ครั้งที่ 7 ประจำปี 2562 ระหว่างวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ยังมีอุโมงค์ผัก และแปลงพืชผัก แปลงนา นานาชนิด จัดนิทรรศการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และโครงการพระราชดำริฯ ดังนี้
ธีมงาน “ก้าวตามรอยพ่อ สู่เกษตรอินทรีย์ วิถีอ่างทอง” แยกเป็น 10 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านพืช การผลิตพืชอินทรีย์ วิถีอ่างทอง ในการผลิตพืชอินทรีย์ 2.ด้านปศุสัตว์ จัดนิทรรศการการเลี้ยงสัตว์แบบพอเพียง โดยจัดทำโมเดลการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ (นิทรรศการแบบมีชิวิต) 3.ด้านประมง การจัดแสดงนิทรรศการด้านประมง ปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ โมเดลปลาและข้อมูลกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและแปรรูปปลาอ่างทอง ที่กำลังพัฒนาและที่ได้รับรองมาตรฐาน
4.ด้านเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นิทรรศการสายพันธุ์ปลาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 5.ด้านสหกรณ์ ก้าวตามรอยพ่อ ด้านการสหกรณ์ 6. ด้านบัญชี ประชาสัมพันธ์รณรงค์การจัดทำบัญชีและบริการสอนแนะนำการทำบัญชี รับ-จ่าย ในครัวเรือน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำบัญชีและเสริมสร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ให้แก่เกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไป
7.ด้านชลประทาน นิทรรศการระบบชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8.ด้านจัดรูปที่ดิน นิทรรศการจัดทำศูนย์เรียนรู้ เกี่ยวกับงานจัดรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม “ลดต้นทุนเพื่อผลผลิต” ให้ได้ทราบถึงความจำเป็นที่ต้องการจัดรูปที่ดินและประโยชน์ที่จะได้รับภายหลังการจัดรูปที่ดินและสนับสนุนเกษตรกร ในการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ทำการเกษตรต่อไป
9.ด้านพัฒนาที่ดิน นิทรรศการ รูปแบบการนำผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดินมาใช้กับเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัด จุดประสงค์ เพื่อผลผลิตปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต สู่ผลิตคุณภาพที่ดี 10.ด้านปฏิรูปที่ดิน ศาสตร์พระราชากับการเกษตรรูปแบบโคก หนอง นา
11. กิจกรรมนิทรรศการโครงการพระราชดำริฯ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจน้ำ พืชผัก อื่นๆ เพื่อให้เกษตรกรได้ ฝึกอาชีพทางการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ สามารถนำไปประกอบอาชีพในพื้นที่ดินของตนเอง โครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ตามพระราชดำริ สีบัวทอง และหนองระหารจีน ร่วมกับหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยสอนฝึกอาชีพด้านการเกษตร เช่น การเพาะถั่วงอกอินทรีย์ตัดราก การผลิตหม่อนทานผลให้ออกผลตามต้องการ การทำน้ำหมักชีวภาพ การเพาะเห็ดครบวงจร ฯลฯ โดยมีการสอนฟรีทุกวัน ช่วงเช้าและบ่าย ในโซนอบรมของจุดนิทรรศการหน้าองค์พระนอน
ไฮไลท์ของงานอีกอย่าง คือ ให้ผู้เข้าร่วมงาน ได้ร่วมสนุก ถ่ายภาพงานเกษตรและของดีเมืองอ่างทอง ถ่ายภาพกับจุดเช็คอิน 9 จุด และโพสต์ลงใน Facebook และมีการแชร์สาธารณะ โดยนำหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ ณ จุดอำนวยการนิทรรศการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
ซึ่งจะมีของรางวัลมอบให้เป็นของดีเมืองอ่างทอง วันละ 3 รางวัล โดยจุดเช็คอินทั้ง 9 จุด ได้แก่ 1.องค์พระนอนวัดขุนอินทประมูล 2.ต้นโพธิ์ทรงปลูก 3.ต้นไทรทรงปลูก 4.บ่อน้ำโซนนิทรรศการ 5.สะพานนาข้าวโซนนิทรรศการ 6.อุโมงค์ผักไม้ไผ่ 7.แปลงปอเทืองหมูทอง 8.แปลงผักภายในโซนนิทรรศการ 9.จุดนิทรรศการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับเครือข่ายหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จังหวัดอ่างทอง ได้ขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมในงานนี้ ประกอบด้วย กิจกรรม OTOP จังหวัดอ่างทองมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ OTOP จากปี 2561 ร้อยละ 23 ซึ่งปี 2561 มีรายได้จากการจำหน่าย OTOP จำนวน 1,486 ล้านบาท ปี 2562 จังหวัดอ่างทอง ตั้งเป้าหมายรายได้ 1,800 ล้านบาท
โดยเชื่อมโยง OTOP กับการท่องเที่ยวของจังหวัดอ่างทอง การท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี เพื่อก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ราษฎร ในการจัดงานครั้งนี้คาดว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายภาคประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล และเป็นการสร้างเอกลักษณ์และการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ OTOP สู่สากล ทำให้เกิดตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดอ่างทอง ตามคำขวัญจังหวัดอ่างทอง “พระสมเด็จเกษไชโย หลวงพ่อโตองค์ใหญ่ วีรไทยใจกล้า ตุ๊กตาชาววัง โด่งดังจักสาน ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน”
ในการจำหน่าย OTOP เด่น ๆ ของจังหวัดอ่างทอง และจังหวัดอื่นในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 จำนวน 120 ร้านค้า ประกอบด้วย ร้าน OTOP วิสาหกิจชุมชน จำนวน 80 ร้านค้า OTOP เด่น จังหวัดอ่างทอง ได้แก่ ตุ๊กตาชาววัง กลอง จักสานไม้ไผ่ จักสานผักตบชวา สินค้าหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
อีกทั้งยังนำเครือข่าย OTOP ต่างๆ เข้ามาร่วมภายในงาน อาทิ OTOP จังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ งอบ ข้าวเกรียบปลา ปลาร้าข้าวคั่ว OTOP จังหวัดชัยนาท ได้แก่ ขนมไทยโบราณ ผลิตภัณฑ์จากหินอ่อน OTOP จังหวัดลพบุรี ได้แก่ ตุ๊กตาปั้น ผลิตภัณฑ์จากกะลา น้ำผึ้ง OTOP จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ขนมไทย งอบใบลาน มีดอรัญญิก รวมไปถึงร้าน OTOP ประเภทชวนชิม จำนวน 40 ร้านค้า ได้แก่ ข้าวหลามกะทิสด ขนมไทย น้ำพริก ผลไม้/สมุนไพรแช่อิ่ม ปลาส้ม
พร้อมทั้งกิจกรรมตลาดย้อนยุค ได้มีการแสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของอาหารท้องถิ่น จำนวน 40 ร้านค้า อาหารพื้นบ้านอ่างทองยอดอร่อย ได้แก่ หอยทอด ผัดไทย กุ้งอบวุ้นเส้น ทอดมันปลา ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมจีน-น้ำยา ขนมกง เป็นต้น
การจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP จะได้นำสินค้า ผลิตภัณฑ์ OTOP/วิสาหกิจชุมชน ได้จัดแสดงและจำหน่าย และเข้าสู่ตลาดการค้าขายโดยตรง ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย และเป็นช่วงเทศการตรุษจีนปีนี้ด้วย
โดยคาดว่าจะมีเป้าหมาย รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ไม่ต่ำกว่า 7,500,000 บาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้วมียอดจำหน่าย 7,000,000 บาท
นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง กล่าวอีกว่า ทางด้านสถานที่จอดรถมีบริการพื้นที่จอดรถกว่า 30 ไร่ รองรับรถที่เข้ามาจอดได้มากกว่า 500 คัน ซึ่งเตรียมไว้รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ โดยงานเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึง 20.00 น. ช่วงเย็นมีมหรสพชมฟรีตลอดงาน
จึงอยากขอเชิญทุกคนเที่ยวงานเกษตรและของดี เมืองอ่างทองครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2562 ณ วัดขุนอินทประมูล ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ