เลือกตั้ง 2562: ทำไม "การเลือกตั้ง" จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อ "ระบอบประชาธิปไตย"
ภายหลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ในวันที่ 23 มกราคม แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นัดประชุมด่วนเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้แถลงกำหนด วันเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พร้อมกับมีการกำหนดเปิดรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ ประกาศรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ โดยจะมีเวลาให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองหาเสียงได้ทั้งสิ้น 52 วัน
ที่ผู้เขียนตื่นเต้นมากเนื่องจากผู้เขียนเป็นผู้บรรยายในวิชารัฐศาสตร์เป็นเวลาร่วม 40 ปี ซึ่งแก่นแกนของวิชารัฐศาสตร์คือ เรื่อง “การเมือง – การปกครอง” โดยการเมือง (politics) คือเรื่องของอำนาจและอำนาจในที่นี้คือ อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ส่วนการปกครอง (government) คือรัฐบาล เรื่องของรัฐบาลคือผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั่นเอง
รัฐบาลหรือการปกครองนั้นความจริงก็มีเพียง 2 แบบเท่านั้น คือ รัฐบาลแบบประชาธิปไตย กับ รัฐบาลแบบเผด็จการ ซึ่งดูได้ง่ายๆ ว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หากประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนก็สามารถเลือกผู้แทนของตนเองไปเป็นรัฐบาลได้ หากคนคนเดียวหรือคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แบบนี้ก็คือรัฐบาลแบบเผด็จการ เนื่องจากคนคนเดียวหรือคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆ นี้จะใช้กำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ายึดอำนาจและตั้งตัวเป็นรัฐบาลเสียเอง โดยประชาชนไม่มีโอกาสเลือกผู้แทนของตนเองได้เลย
เนื่องจากอำนาจคือ “ความสามารถที่ทำให้บุคคลอื่นทำตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการได้” โดยอาจจะเป็นอำนาจข่มขู่ให้กลัวแล้วยอมทำตาม หรืออำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งผู้มีอำนาจสามารถใช้กฎหมายบังคับให้ผู้คนทำตามได้ แต่อำนาจมีธรรมชาติที่แปลกอยู่ในตัวของมันเอง กล่าวคือ “อำนาจหากอยู่กับใครมากๆ นานๆ แล้ว ผู้นั้นมักจะเป็นบุคคลบ้าอำนาจทุกคนไป”
ดังนั้น จึงต้องมีการเลือกตั้งผู้ที่จะใช้อำนาจ ให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ใช้อำนาจอยู่เป็นระยะเพื่อป้องกันการบ้าอำนาจนั่นเอง
และนี่เองจึงเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่เมืองไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี...