เปิดไทม์ไลน์วิกฤตฝุ่น "PM 2.5" ในวันนี้ ทำไมคนกรุงตื่นตัว ทั้งที่สูดดมกันมานาน
ย้อนไทม์ไลน์วิกฤตฝุ่นกรุงเทพฯ 2562 ทำให้ชาวกรุงได้รู้จักกับ "PM 2.5" ที่สร้างความตื่นตัวกันเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ และทุกคนก็สูดดมกันมานานหลายปีแล้ว
จากสถานการณ์ วิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ที่กลายเป็นมลพิษทางอากาศที่ทำให้คนกรุงตื่นตัวและรู้สึกอากาศเข้าปอดแบบไม่สบายใจนัก กลายเป็นกระแสตามหา "หน้ากากป้องกัน PM 2.5" ระบาดไปทั่วเมือง วิ่งตามหาซื้อทำเอาขาดตลาดเพียงข้ามคืน กระทั่งต้องมีการพรีออเดอร์หรือเพิ่มราคาขายทำกำไรเป็นว่าเล่นในช่วงเดือนแรกของปี 2562
แล้วกระแสวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ของคนกรุงเทพฯ เริ่มต้นได้อย่างไร? หากไล่เรียงจากไทม์ไลน์ตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้ว จุดเริ่มต้นของการตื่นตัวเรื่องฝุ่นละอองครั้งนี้ น่าจะเป็นจากคลิปภาพข่าวในโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ภาพหมอกหนาปกคลุมที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านลาดกระบัง ทำให้หลายคนสงสัยว่าเป็นหมอกหรือควันกันแน่
กระทั่งอีก 2-3 วันต่อมา ทางกรมควบคุมมลพิษได้ออกมาชี้แจงว่า คลิปภาพหมอกหนาดังกล่าวคือ "หมอกพิษ" ซึ่งในวันดังกล่าว ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าเกินค่ามาตราฐานสูงมากเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้ติดกระแสในทันที เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับมีลมหนาวระลอกใหม่พัดเข้ามาเมืองกรุงพอดี ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงนั้นเริ่มดีขึ้นเกือบเป็นปกติ
เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2562 ปรากฏว่าสภาพอากาศค่อนข้างปิด ลมเริ่มสงบนิ่ง ส่งผลทำให้ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มเข้าขั้นวิกฤตอย่างต่อเนื่องแบบรายวัน ทำให้ช่วงวันที่ 8-12 มกราคม 2562 เริ่มมีการโพสต์แชร์ภาพฝุ่นละออง หลายคนสงสัยว่าหมอกจางๆ ตอนเช้าคืออะไรกันแน่
และในวันที่ 13 มกราคม 2562 สถานการณ์วิกฤตในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะข่าวภาพยามเช้าของสนามบินสุวรรณภูมิที่พบว่าทัศนวิสัยลดลงต่ำเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเริ่มมีการประสานงานขอสนับสนุนจากกรมฝนหลวง ช่วยทำฝนเทียมบรรเทาฝุ่นในพื้นที่เมืองกรุง
ขณะที่ กทม. ก็เริ่มระดมฉีดน้ำในพื้นที่กลางแจ้ง หวังจะบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองลงได้ และกลายมาเป็นเทรนด์ตามหาซื้อ "หน้ากาก N95" ที่ทำให้ขาดตลาดไปชั่วคราว ก่อนที่สถานการณ์ฝุ่นละอองจะอยู่กับคนกรุงเทพฯ ต่อเนื่องมาตลอดทั้งเดือนมกราคม 2562
แต่จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า วิกฤตฝุ่นละอองเช่นนี้นั้น ไม่ได้เพิ่งขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หากแต่เป็นปรากฏการณ์มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นแทบจะทุกปี โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ระหว่างปลายปีเก่าต่อเนื่องต้นปีใหม่ เนื่องจากลักษณะอากาศเป็นปัจจัยทำให้ปัญหานี้วิกฤตเพิ่มขึ้น
ย้อนกลับไปดูค่าฝุ่นละอองในช่วงเดียวกัน เมื่อต้นปี 2561 จะพบว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 ก็อยู่ในระดับวิกฤตแทบไม่ต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันของปี 2562 จึงทำให้เห็นว่าวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ในสังคมแต่อย่างใด ฝุ่นละอองกลับอยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ และคนไทยหลายพื้นที่ อีกทั้งเราต่างเดินสูดดมเข้าไปมาหลายปี เพียงแต่ว่าก่อนหน้านั้นไม่ได้ติดเทรนด์หรือเป็นกระแสตื่นตัวเหมือนในวันนี้เท่านั้นเอง...