เลือกตั้ง 2562: ไขปริศนาอาการ "เผื่อใจ" ที่ยิ่งใกล้เส้นตายยื่นแคนดิเดตนายกฯ ยิ่งหนาวยะเยือก

เลือกตั้ง 2562: ไขปริศนาอาการ "เผื่อใจ" ที่ยิ่งใกล้เส้นตายยื่นแคนดิเดตนายกฯ ยิ่งหนาวยะเยือก

เลือกตั้ง 2562: ไขปริศนาอาการ "เผื่อใจ" ที่ยิ่งใกล้เส้นตายยื่นแคนดิเดตนายกฯ ยิ่งหนาวยะเยือก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น่าสนใจ...อาการอิดเอื้อนถึงขนาดเปรยดังๆ ว่า “เผื่อใจ” ไว้แล้วว่าอาจไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อของ “นายกลุงตู่” (5 ก.พ.) ในจังหวะที่ปี่กลองเลือกตั้งกำลังเชิด หลายพรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.กันอย่างคึกคักจนทำลายสถิติที่เคยมีการรับสมัครเลือกตั้งมา โดยใกล้เส้น “เดดไลน์” ที่พรรคพลังประชารัฐจะต้องส่งบัญชีรายชื่อนายกฯ ภายในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.)

น่าสนใจอาการในท่วงทำนองเปรยตามสายลมแบบเดียวกันที่ส่งผ่าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อหลายวันก่อนหน้านี้ (30 ม.ค.) ว่าให้ “เผื่อใจ” ว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่ามี “สัญญาณ” ที่ต้องการอยู่ต่อของฝ่ายกุมอำนาจ

น่าสนใจอีกว่าห้วงเวลาตัดสินใจที่ทอดยาวออกมาใกล้เส้นตายเท่าไหร่ ก็เริ่มปรากฏว่าบรรดา “กุนซือ” ออกมาชี้แนะว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ควรที่จะรับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ เพราะจะทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นกลาง และจะทำให้ข้อครหาสืบทอดอำนาจยิ่งรุนแรงเป็นวงกว้าง จนอาจทำให้การเมืองไทยเข้าสู่วิกฤติครั้งใหม่ โดยเสนอแนะไปถึง “ทางลง” ว่าท้ายสุด “ลุงตู่” ควรทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภาเพื่อกำกับรัฐบาลและการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะดีกว่าหรือไม่

ที่ก็สอดรับกับ “ทางเลือก” และผลของการตัดสินใจของ "นายกฯ ลุงตู่" ที่เริ่มมีการพูดถึงกันมากเวลานี้จากวง “กุนซือ” ใกล้ชิด คสช.ใน 3-4 ทาง คือ

1. หากตอบรับคำเชิญเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ต้อง “ทำใจ” พร้อมเป็น “ตำบลกระสุนตก” เป็นเป้าโจมตีทั้งก่อน ขณะ และหลังเลือกตั้ง แม้กระทั่งเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้ว หนทางก็ยังสุ่มเสี่ยง

2. หากปฏิเสธไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ถูกเชื้อเชิญ แต่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลเพื่อสนองงานพระราชพิธีสำคัญให้สำเร็จลุล่วงเรียบร้อยสมพระเกียรติ ไม่มีบรรยากาศก่นด่าสาปแช่งหรือการชุมนุมประท้วงอันเกิดจากการกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง และเมื่อเสร็จการเลือกตั้งมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ก็ลงจากอำนาจทางการเมืองอย่างสง่างาม

3. ปฏิเสธไม่รับเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่มีคำเชิญ และเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และดำรงตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภา พร้อมกับเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

4. ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี แล้วให้หัวหน้า คสช. คนใหม่กราบบังคมทูลฯ ขอรัฐบาลพระราชทานเพื่อทำการแก้ไขอุปสรรคขวากหนามและจัดให้มีการเลือกตั้งที่สุจริต

ทั้งนี้ ข้อเสนอในทิศทางข้างต้นมีการประเมินในเชิงตรรกะของ “โอกาส” ที่แท้จริงว่าค่อนข้างยากที่พรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 และหาก พปชร. ได้คะแนนอันดับ 2 หรือ 3 ซึ่งวิเคราะห์กันว่ายากที่จะได้อันดับที่ 2 และถ้าได้คะแนนอันดับที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้อย่างสง่างาม เนื่องจากประชาชนเลือกคนอื่นถึง 6 คน จาก 2 พรรค

อีกประการที่มีการประเมินคือ แม้ พปชร. สามารถจะใช้อำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 เสียง ไปต่อรองจนพรรคอื่นเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ยากที่จะมีเสียงในสภาล่างเกิน 250 เสียง เว้นแต่ว่าหนึ่งในสองขั้วใหญ่มาร่วมรัฐบาล คือ ขั้วเพื่อไทย ที่มีอยู่ 3 พรรค กับขั้วประชาธิปัตย์ ถ้า 2 ขั้วนี้ไม่มาร่วม รัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐไม่มีทางได้ 250 เสียง ซึ่งโอกาสที่ขั้วเพื่อไทยจะมาร่วมนั้นแทบไม่มี ส่วนขั้วประชาธิปัตย์จะมาร่วมได้ในกรณีเดียวที่พอจะดูดีคือ พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเป็นที่ 1 หรืออย่างน้อยได้คะแนนมาเป็นที่ 2 แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงมากกว่า พปชร. แล้วพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลโดยยอมให้ “นายกฯ ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นผลเสียต่ออนาคตของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก

กระนั้นในทางกลับกันไม่ว่าจะมาจากเงื่อนไขใด เมื่อถึงเวลานั้นถ้า ปชป. เกิดยอมเข้าร่วมและยอมให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาล่าง โดยความเป็น “พล.อ.ประยุทธ์” ที่แม้ปากบอกจะพยายามปรับโทนพร้อมเป็นนักการเมือง แต่ชีวิตจริงเมื่อเข้าสู่โหมดการเมืองจริง ก็ดูยากที่จะ “ควบคุมอารมณ์” กับนักการเมืองเขี้ยวลากดินเต็มสภา ที่พร้อมรุมกินโต๊ะให้สติแตกจนไม่เป็นอันทำอะไร

เรียกว่าคิดรวมแล้วทุกอย่างดูจะเป็น “ผลเสีย” มากกว่า “ผลดี” หาก “นายกฯ ลุงตู่” จะตกปากรับคำ “ไปต่อ” แบบ “บัญชีนายกฯ พปชร.”

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นที่มาว่า เหตุใดยิ่งงวดใกล้ถึงกำหนดเส้นตาย “นายกฯ ลุงตู่” ยิ่งออกอาการทำนอง “เผื่อใจไว้แล้วว่า อาจไม่ได้เป็นนายกฯ แถมเปรยว่า อะไรที่ประชาชนคาดหวังก็อยากทำให้ดีที่สุด โดยพร้อมสำหรับทุกอย่างแต่อยู่ที่ประชาชน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook