น่าคิด! องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันก็มี แต่ทำไม "การทุจริต" ในไทยไม่เคยหายไป

น่าคิด! องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันก็มี แต่ทำไม "การทุจริต" ในไทยไม่เคยหายไป

น่าคิด! องค์กรตรวจสอบคอร์รัปชันก็มี แต่ทำไม "การทุจริต" ในไทยไม่เคยหายไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอร์รัปชัน คือ การทุจริตด้วยการใช้หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่มีอำนาจหรืออิทธิพลเรียกร้องหรือข่มขู่เอาผลประโยชน์เป็นเงินทองหรือสิ่งของเข้าตัวเองหรือพวกพ้องโดยปราศจากความชอบธรรม และคอร์รัปชันเป็นความผิดที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญาของไทยตั้งแต่มาตรา 147–166 มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

ส่วนการปราบคอร์รัปชันของประเทศไทยที่นอกเหนือจากประมวลกฎหมายอาญาข้างต้นแล้ว หลังจากการรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2514 แล้ว คณะรัฐประหารก็ได้ตั้งสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ด้วยคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 314 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2515 เพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ พูดง่ายๆ ก็คือ ทำหน้าที่ปราบคอร์รัปชันนั่นเอง (ผลงานของคณะรัฐประหารที่นิยมอ้างเรื่องคอร์รัปชันเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ)

ต่อมาก็พัฒนามาเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากรม ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในปัจจุบัน

แต่การคอร์รัปชันในประเทศไทยเมื่อเทียบกับนานาประเทศแล้วกลับอยู่ในสภาพที่น่าเศร้าใจโดยพิจารณาจาก (Corruption Perceptions Index: CPI) หรือดัชนีการรับรู้การทุจริตที่จัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งเป็นองค์การนานาชาตที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ได้เริ่มมีการจัดทำดัชนีตั้งแต่ปี 2538 โดยค่าสูงหมายถึงมีการคอร์รัปชันต่ำ และค่าต่ำหมายถึงมีการคอร์รัปชันสูง โดยในปี 2550 ได้มีการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศ เพิ่มจากปี 2546 ที่มีเพียง 133 ประเทศ

สำหรับเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยได้คะแนนจากดัชนีการรับรู้การทุจริต 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ถูกลดอันดับลง จากอันดับที่ 96 เมื่อ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้คะแนน 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 99 ทั้งที่เคยทำอันดับได้ดีขึ้นจากเมื่อปี 2559 ที่เคยอยู่ในอันดับที่ 101 ได้คะแนน 35 คะแนน

จากการวิเคราะห์ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบความสัมพันธ์ระหว่างการคอร์รัปชันและความเป็นประชาธิปไตย โดยประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ จะทำคะแนนจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ได้เฉลี่ยประมาณ 75 คะแนน ส่วนประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำ จะทำคะแนนได้เฉลี่ยประมาณ 49 คะแนน และประเทศที่มีการปกครองแบบผสมโดยมีแนวโน้มไปทางเผด็จการนั้น มีคะแนนเฉลี่ยราว 35 ขณะที่ประเทศที่เป็นเผด็จการมีคะแนนต่ำที่สุดคือเฉลี่ยราว 30

น่าคิดนะครับ เมื่อมีการรัฐประหารทุกครั้ง คณะรัฐประหารมักใช้เหตุผลว่าต้องการปราบคอร์รัปชัน แต่ผลจากการรัฐประหารได้พิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ไม่เป็นผลสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว มิหนำซ้ำการปกครองพิเศษเช่นนี้ยังปิดกั้นการตรวจสอบปัญหาคอร์รัปชันเสียเอง จึงทำให้ปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศยังไม่เคยหายไปไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook