ผู้เชี่ยวชาญจีนระบุแพนด้าน้อยเพศเมีย
ผู้เชี่ยวชาญจีนยันแพนด้าน้อยเป็นเพศเมีย สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สั่งเฝ้าระวังจับตา 1 สัปดาห์จัดเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง ระบุใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือนประคบประหงมก่อนนำออกส่วนจัดแสดง เผยหลินฮุ่ยท้อง 97 วันเรื่องปกติ แต่แพนด้าน้อยถือเป็นกรณีพิเศษซึ่งเกิดจากการผสมเทียม และถือเป็นแพนด้าน้อยตัวแรกในโลกที่เกิดในปี 2552
เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 28 พ.ค. 2552 ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ นายโสภณ ดำนุ้ย ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายเหว่ย หมิง (Wei Ming)ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์อนุรักษ์เพาะพันธุ์แพนด้าประเทศจีน แถลงข่าวการตรวจแพนด้าน้อย
ผู้สื่อว่ารายงานว่า ในระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนดูลักษณะภายนอกกรง หลินฮุ่ย พบว่ามีอาการเดินหนีคล้ายกับได้กลิ่นแปลกปลอมและหวงลูก ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์จึงทำหน้าที่หลอกล่อโดยการให้อาหาร หลินฮุ่ย ด้วยแอ๊ปเปิ้ล สามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็นำแพนด้าน้อยออกมายังห้องอบเพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนได้ตรวจร่างกายและตรวจสอบเพศ โดยใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 นาทีเท่านั้น
นายเหว่ยหมิง เปิดเผยหลังการตรวจแพนด้าน้อยว่า จากการตรวจสุขภาพแพนด้าน้อย พบว่าเป็น เพศเมีย ลักษณะอวัยวะเพศเป็นรูปตัววีคว่ำ แต่หากเป็นตัวผู้ลักษณะอวัยวะเพศจะเป็นรูปตัวโอ และจากการตรวจลักษณะภายนอกผิวมีสีชมพู ไม่มีร่องรอยการบาดเจ็บจากการคลอด เสียงร้องกังวลชัดเจน และการเคลื่อนไหวสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถกินนมจากแม่ได้อย่างราบรื่น โดยในระหว่างที่ตรวจสภาพภายนอกแพนด้าน้อยได้มีการกระตุ้นให้มีการอุจจาระ เพื่อตรวจสอบ โดยพบว่าอุจจาระมีสีเขียวขนาดเล็ก ซึ่งหมายความว่าแพนด้าน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าแพนด้าน้อยสามารถกินนมจากแม่ได้ ซึ่งเป็นนมน้ำเหลืองที่มีประโยชน์และคุณภาพสูงที่สุด
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเป็นห่วงคือหลังจากนี้ 1 สัปดาห์ ต้องเฝ้าระวังทั้งแม่ หลินฮุ่ย และแพนด้าน้อยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงเวลานี้ร่างกายของทั้งสองจะมีการเปลี่ยนแปลงหลากหลายปัจจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกที่แพนด้าน้อยไม่คุ้ยเคย หากมีการสั่นสะเทือนอาจเกิดอันตรายได้ง่าย เนื่องจากการทำงานวิจัยแพนด้าในอดีตพบว่าช่วงเวลาดังกล่าวโอกาสรอดน้อยมาก แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างใกล้ชิด และยืนยันชัดเจนได้ว่าโอกาสรอด 100% ไม่ตายอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ช่วง 1-3 วันแรกแพนด้าน้อยอาจจะมีน้ำหนักตัวลดลง 10 กรัม ซึ่งเป็นผลเนื่องจากความชื้นที่ผิวหนังหายไปแต่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หลังจากนั้นเข้าสู่วันที่ 3 น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นเป็นปกติ ส่วนแม่หลินฮุ่ยนั้นหลังจากคลอดจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ต้องมีการบำรุงด้วยอาหารเสริม ให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งหากผ่านพ้นช่วง 1 สัปดาห์ไปแล้ว แพนด้าน้อยก็จะมีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้
กระนั้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ต้องดำเนินการจากนี้คือการเฝ้าระวังและติดตามแพนด้าน้อยและ หลินฮุ่ย อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมงและจะต้องตรวจสุขภาพแพนด้าน้อยเป็นประจำทุกวัน โดยจะใช้ระยะเวลาให้สั้นมากที่สุดครั้งละไม่เกิน 2 นาที สำหรับการนำแพนด้าน้อยออกสู่ส่วนจัดแสดงนั้นต้องรอให้ร่างกายสมบูรณ์ก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน แต่หลินฮุ่ยนั้นจะสามารถออกสู่ส่วนจัดแสดงได้ หลังจากนั้น 1 เดือนเช่นกัน เพื่อให้เกิดการยืดเส้นยืดสาย
นายเหว่ยหมิง กล่าวอีกว่า การที่หลินฮุ่ยอุ้มท้องแพนด้าน้อยเพียง 97 วันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากแพนด้าไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการตั้งครรภ์ที่ชัดเจนได้ แต่ละตัวจะมีระยะเวลาไม่เท่านั้น แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากก่อนที่แพนด้าน้อยเกิดในเดือนพ.ค. เนื่องจากช่วงระยะเวลามี.ค. - เม.ย.จะเป็นช่วงที่แพนด้าติดสัตว์ แต่แพนด้าส่วนมากมักจะให้กำเนิดลูกในเดือนก.ค.- ก.ย. แต่แพนด้าน้อยถือเป็นกรณีพิเศษซึ่งเกิดจากการผสมเทียม และถือเป็นแพนด้าน้อยตัวแรกในโลกที่เกิดในปี 2552
ส่วนเรื่องการตั้งชื่อนั้นโดยปกติแล้วที่ประเทศจีนจะตั้งชื่อให้หลังจากที่ลูกแพนด้าอายุครบ 1 เดือนแล้ว โดยจะให้นักท่องเที่ยวร่วมในกิจกรรมการตั้งชื่อ ส่วนการจัดงานเฉลิมฉลองนั้นที่มณฑลเฉินตู ประเทศจีน มีแพนด้าเกิดลูกเป็นจำนวนมากจึงไม่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เหมือนประเทศอื่น ทั้งนี้ ในส่วนของแพนด้าน้อยลูก หลินฮุ่ย ก็ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมของผู้บริหาร
ททท.เตรียมใช้ แพนด้าน้อยกระตุ้นท่องเที่ยวเชียงใหม่
นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ ได้เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีกับคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้ลูกแพนด้าน้อย จากแพนด้าช่วงช่วงและหลินฮุ่ย ทูตสันถวไมตรีไทยและจีน โดยหวังว่าแพนด้าน้อยจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือน จ.เชียงใหม่ ในระยะนี้ เพราะเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเร่งประชาสัมพันธ์ข่าวการตกลูกแพนด้าน้อยตัวแรกในประเทศไทย ไปยังบริษัทนำเที่ยว เพื่อให้บรรจุลงในรายการส่งเสริมการขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ลดลงไปจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 40