ตำนาน "รัฐประหารซ้ำ-รัฐประหารซ้อน" ตามหลอน เมื่อรถถังโผล่วันการเมืองสับสน

ตำนาน "รัฐประหารซ้ำ-รัฐประหารซ้อน" ตามหลอน เมื่อรถถังโผล่วันการเมืองสับสน

ตำนาน "รัฐประหารซ้ำ-รัฐประหารซ้อน" ตามหลอน เมื่อรถถังโผล่วันการเมืองสับสน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นอกสั่นขวัญแขวนกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง เมื่อผู้คนต่างพากันแชร์ภาพขบวนรถถังที่ออกมาวิ่งบนท้องถนนแล้วพากันส่งต่อกระพือข่าวว่ากำลังจะเกิดรัฐประหารอีกคำรบ

จนทาง พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ต้องออกมาชี้แจงว่า ภาพการเคลื่อนย้ายยานพาหนะทางทหารดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนย้ายหน่วย เพื่อเข้าทำการฝึกร่วมเหล่าทัพประจำปี 2562 ซึ่งปัจจุบันทำการฝึกอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี โดยห้วงเวลาในการฝึกนั้นเริ่มดำเนินการฝึกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา และจะสิ้นสุดในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

>> สยบข่าวลือรัฐประหาร "ผบ.พล.ร.2 รอ." แจงเคลื่อนยานเกราะ แค่ซ้อมรบ

>> ทหารบอก "อย่าตกใจ" หลังโซเชียลปล่อยข่าวลือ แชร์ภาพขบวนรถถังวิ่งทั่ว ย้ำไปฝึกซ้อม

อย่างไรก็ตามถึงแม้กองทัพจะมีการออกมาชี้แจงแล้ว แต่ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้นิ่งนอนใจและยังคงเกาะติดข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ทำไมผู้คนในสังคมไทยถึงตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า "ปฏิวัติ" และ/หรือ "รัฐประหาร" คำตอบส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะบ้านเรามีรัฐประหารเกิดขึ้นไปแล้ว 13 ครั้ง นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา

>> รัฐประหาร ทำไมยังกระหึ่มแรงข้ามคืน โซเชียลติดแฮชแท็กสงสัยพัลวัน

หลายคนอาจสงสัยว่าทุกวันนี้เราก็อยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร อยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาตั้งแต่ 22 พ.ค. 57 แล้วจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นได้อีกหรือ?

หากย้อนไปดูประวัติการรัฐประหารที่ผ่านมา จะพบว่าสามารถเกิดการรัฐประหารซ้ำและรัฐประหารซ้อนขึ้นได้แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่มีคณะผู้ก่อการยึดอำนาจเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์อยู่ก็ตาม

ดังเช่นเมื่อครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อ 16 ก.ย. 2500 แล้วมีการเชิญนายพจน์ สารสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ก.ย. 2500 ต่อมาจัดเลือกตั้งในวันที่ 15 ธ.ค. 2500 แล้วจอมพลสฤษดิ์แนะนำให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2501 จอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารอีกครั้ง โดยประกาศให้ยกเลิกพรรคการเมืองทั้งหมด ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และยกเลิกรัฐสภา พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยรัฐประหารในครั้งนั้นถือว่า จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจตัวเองหรือทำรัฐประหารซ้ำนั่นเอง หลังจากเห็นว่า พล.ท.ถนอม ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่การรัฐประหารซ้อน เป็นสิ่งที่จะว่าไปแล้วมีข่าวคลอเคลียอยู่ตลอดเวลาที่คณะก่อการยึดอำนาจกำลังปกครองบ้านเมืองอยู่ในเวลานั้น อย่างเช่นในช่วงปี 2549 ที่ "บิ๊กบัง" พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้นตัดสินใจนำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ซึ่งก็มีข่าวลือข่าวปล่อยอยู่ตลอดในช่วงเวลานั้นว่าจะมีการรัฐประหารซ้อนเกิดขึ้น

จนกระทั่งมาถึง พ.ศ.นี้ ที่ "ลุงตู่" นำพาคณะรัฐประหารภายใต้ชื่อ คสช.อยู่ในอำนาจมาเกือบจะ 5 ปีแล้ว แม้จะกำลังอยู่ระหว่างทางเดินไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ก็ตาม แต่ผลของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติเมื่อวันที่ 8 ก.พ. บวกเข้ากับภาพขบวนรถถังเคลื่อนตัวไปบนท้องถนนในอีกสองวันต่อมา ก็ทำเอาหัวใจของประชาชนคนไทยหลายต่อหลายคนตกอยู่ในอาการตุ๊มๆ ต่อมๆ กันไปไม่น้อย

ก็ได้แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่านับจากวันนี้ไปจนถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จะไม่มีเหตุการณ์แทรกซ้อนวุ่นวายใดๆ เกิดขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเสถียรภาพ ความสงบ และความมั่นคง ที่อาจบานปลายจนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษต้องเกิดผลกระทบตามไปด้วย!!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook