พบภูเขาไฟขนาดยักษ์อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดีย

พบภูเขาไฟขนาดยักษ์อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดีย

พบภูเขาไฟขนาดยักษ์อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบภูเขาไฟขนาดยักษ์อยู่ใต้มหาสมุทรอินเดีย ระหว่างการสำรวจเพื่อหาสาเหตุของสึนามิ นักวิทยาศาสตร์อังกฤษชี้ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ในจีนเกือบทำลายชีวิตบนโลกสูญสิ้นเมื่อ 260 ล้านปีก่อน

คณะนักวิทยาศาสตร์ที่ดำลงไปสำรวจพื้นมหาสมุทรเพื่อศึกษาถึงธรรมชาติการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ได้ค้นพบภูเขาไฟขนาดใหญ่ใต้น้ำ บริเวณชายนอกฝั่งทางตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยนายยูซุฟ สุรัชมาน ดีจาจา-ดีฮัจจา ผู้ชี่ยวชาญการสำรวจทางธรณีวิทยาทางทะเล จากสำนักประเมินและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้ความเห็นว่า ภูเขาไฟ ซึ่งมีความสูง 15,000 ฟุต และมีฐานกินพื้นที่เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ถือเป็นการค้นพบที่คาดไม่ถึง ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่า ภูเขาไฟลูกนี้มีการเคลื่อนไหวหรือไม่ แต่ถ้าเกิดการประทุขึ้นก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบภูเขาไฟ อยู่ห่างไปทางตะวันตกของเกาะสุมาตราประมาณ 330 กิโลเมตร ขณะทำการสำรวจใต้ท้องมหาสมุทรอินเดีย เมื่อช่วงต้นเดือนและภูเขาไฟอยู่ต่ำจากผิวน้ำ 1,380 เมตร

เป้าหมายของการสำรวจใต้ทะเล ก็เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้น ถึงสาเหตุของภัยธรรมชาติอย่างการเกิดสึนามิในเอเชีย เมื่อปี 2547 ที่คร่าช่วิตประชาชนไป 230,000 คน ในกว่า 10 ประเทศ และผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งอยู่ในอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อน และภูเขาไฟ ที่เรียกกันว่า วงแหวนแห่งไฟ

ภูเขาไฟระเบิดในจีนเกือบล้างโลก

วารสารไซเอนซ์ วารสารวิทยาศาสตร์ของสหรัฐ ฉบับวางแผงวันศุกร์ (29 พ.ค.) รายงานอ้างผลการศึกษาของนักโบราณชีวศาสตร์ในอังกฤษที่ระบุว่า เหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ในจีนเมื่อ 260 ล้านปีก่อน ได้ทำลายล้างชีวิตสัตว์น้ำ และสัตว์บกทั่วโลก โดยเชื่อว่าการระเบิดครั้งนั้นทำให้สัตว์น้ำสูญพันธุ์ถึงร้อยละ 96 และสัตว์บกสูญอีกราวร้อยละ 70 เลยทีเดียว

นายพอล วิกนอลล์ ศาสตราจารย์และนักโบราณชีวศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยลีดส์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า การสูญพันธุ์อย่างฉับพลันของเหล่าสัตว์น้ำที่เรียกว่า "การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่กัวดาลูเปียน" สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในซากฟอสซิลที่บันทึกความเชื่อมโยงระหว่างการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ และหายนภัยสิ่งแวดล้อมโลกเอาไว้ โดยการระเบิดของภูเขาไฟอี้เหมยในมณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ปล่อยลาวาออกมามากถึงครึ่งล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ซึ่งเป็นปริมาณมากพอที่จะปกคลุมพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าแคว้นเวลส์ในอังกฤษได้ถึง 5 เท่า

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสัตว์ทะเลเกิดขึ้นเพราะการปะทะกันของน้ำทะเล และลาวาที่ไหลอย่างรวดเร็วลงทะเลน้ำตื้น ทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง ส่งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศสูงสุด โดยนายวิกนอลล์อธิบายว่า เมื่อลาวาที่มีความหนืดต่ำเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วไปปะทะกับน้ำทะเลตื้นๆ ที่เคยปกคลุมภูเขาอี้เหมยซาน จะทำให้น้ำทะเลเดือดจัด ส่งไอน้ำจำนวนมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกระจายไปทั่วโลก ทำให้โลกเย็นลง และทำให้เกิดฝนกรดจำนวนมากตกลงใส่ต้นไม้ และสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วผืนโลก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นทวีปแพนเจียร์ ทวีปใหญ่ทวีปเดียว ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นทวีปแอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย และแอนตาร์กติกาอย่างเช่นปัจจุบันนี้

รายงานระบุอีกว่า การระเบิดนี้เป็นการระเบิดครั้งใหญ่อย่างที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน และเกิดขึ้นก่อนที่ไดโนเสาร์จะครองโลก รุนแรงจนเกือบจะกวาดล้างชีวิตบนโลก โดยการระเบิดเกิดที่ขึ้นใกล้ทะเลตื้นๆ จึงทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาได้ทั้งหินภูเขาไฟ และหินตะกอนที่มีซากฟอสซิลสัตว์น้ำได้พร้อมๆ กัน ทำให้สามารถเปรียบเทียบช่วงเวลาที่เกิดขึ้นได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook