ศาลสงขลาชี้คดีตากใบ78ศพขาดอากาศตาย อังคณา เล็งฟ้องแพ่ง ทบ.-กห.-มท.-ตร.
ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่ง คดีตากใบ 78 ศพตายจากขาดอากาศหายใจ ไม่ใช่มาจากการขนย้าย อังคณา นีละไพจิตร เล็งประสานสภาทนายความ ฟ้องแพ่ง ทบ.-กห.-มท.-ตร. เรียกค่าเสียหาย สุเทพ เผยเทงบฯ 6.3 หมื่นล.พัฒนาใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 78 ศพ ว่าผู้ตายเสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยสาเหตุมาจากการขาดอากาศหายใจในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี กับนางสีตีรอกายะ สาแล๊ะ และพวกรวม 78 คน เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ให้ไต่สวนคดีสลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ และทำให้มาหามะ เล๊าะกาบอ กับพวก 78 คน เสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ว่าผู้ตายทั้งหมดเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และพฤติการณ์ที่ตาย จากนั้นผู้ร้องได้ยื่นคำร้องให้ประธานศาลฎีกา โอนคดีไปยังศาลอาญา หรือศาลภายในเขตกรุงเทพมหานคร ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดสงขลา
ศาลพิเคราะห์ว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสลายการชุมนุมและควบคุมผู้ร่วมชุมนุมขึ้นรถไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยได้ขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ปรากฏภาพเหตุการณ์จากวีซีดีว่า บุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสลายการชุมนุม บางคนทำร้ายผู้ชุมนุมก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลดังกล่าวโดยพลการ เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ตายทั้ง 78 และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 หรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวหรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นกับผู้ตายทั้งหมด จึงสรุปได้ว่า ผู้ตายทั้ง 78 ตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่ศาลชี้ว่า ขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ใช่เรื่องการขนย้าย อย่างไรก็ตาม จะหารือกับสภาทนายความเรื่องการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับกองทัพบก กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ต่อไป
วันเดียวกัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพื่อพัฒนา และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4) ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ว่า ได้พูดคุยและซักซ้อมการทำงาน เพื่อวางแผนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำหนดแผนจัดงบประมาณไว้ให้กว่า 63,000 ล้านบาท มีตารางเวลาที่ต้องทำงานให้สำเร็จชัดเจน คือเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2552 เสร็จสิ้นปี 2555 มีแผนงานสำคัญ คือยกระดับรายได้ของประชาชน และตั้งเป้าหมายว่าประชาชนต้องมีรายได้มากกว่าปีละ 60,000 บาท เป็นปีละ 120,000 บาท และเร่งเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้คนในพื้นที่ จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มอีกประมาณ 200,000 ไร่ ในลักษณะครบวงจร หลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะลงมาช่วยสร้างโรงงานเพิ่มเติม และทำโรงงานไบโอดีเซล ให้ ปตท.เป็นผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมด
ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเวลา 13.20 น. ขณะที่นายแวดอเลาะ หะยีซอเฮาะ อายุ 44 ปี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ตันหยงลูโละ อ.เมืองปัตตานี กำลังเดินกลับบ้านพักเลขที่ 36 หมู่ที่ 3 ต.ตันหยงลูโละ หลังเสร็จจากการทำละหมาดที่มัสยิดใกล้บ้าน ปรากฎว่ คนร้าย 4 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ ใช้ปืนขนาด 9 มม.และ 11 มม. ยิงนายแวดอเลาะ จนล้มคว่ำ และยิงซ้ำจนแน่ใจว่าเสียชีวิตแล้ว กลุ่มคนร้ายจึงหลบหนีไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สันนิษฐานมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น หรือสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
ส่วนความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 2 คนร้ายกลุ่มอาร์เคเค ขณะเข้าตรวจค้นบ้าน50/3 หมู่ 4 ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา พร้อมยึดอาวุธปืนเอชเค 1 กระบอก และอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ 2 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนจำนวนหนึ่งนั้น จากการตรวจสอบพบว่า อาวุธปืนเอชเคที่ยึดได้เป็นอาวุธปืนที่คนร้ายปล้นไปจากอุทยานแห่งชาติบางลาง อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อปี 2545 ส่วนอาวุธปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธปืนที่คนร้ายปล้นไปจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้านรานอ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในปี 2546 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 4 นาย