ยธ.ชงเลิกระบบอนุญาโต แก้สินบนเสียค่าโง่กว่า100 คดี
รัฐมนตรี ยธ.เผยตรวจเจอคดีคล้ายค่าโง่ทางด่วนอีกว่า 100 คดี ชี้ทุจริตที่น่ากลัวคือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ บอกอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ รัฐบาลชงร่างกฎหมายเลิกอนุญาโตตุลาการสัญญาภาครัฐ พร้อมตั้งแท่นเสนอ กม.ยึด-อายัดทรัพย์กลับคืนเป็นของแผ่นดินทั้งหมด แม้จะถ่ายโอนทรัพย์สินให้ทายาทไปแล้วก็ต้องตามไล่บี้ยึดมรดกเข้ารัฐ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดการสัมมนารวมพลังป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐ 312 หน่วยงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 700 คนเข้าร่วม ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ว่า การทุจริตที่น่ากลัวคือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทำให้เป็นทุจริตโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีค่าโง่ทางด่วน 6,500 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแค่ใช้ความร่วมมือร่วมใจทุจริตระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ และช่องโหว่ของระบบอนุญาโตตุลาการ ทำให้เงินใต้โต๊ะกลายมาเป็นเงินบนโต๊ะ แม้ว่าต่อมาจะมีการต่อสู้คดีว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนทำให้ไม่ต้องเสียค่าโง่ทางด่วน แต่จากการตรวจสอบพบคดีที่พฤติการณ์คล้ายกับคดีค่าโง่ทางด่วนอีกกว่า 100 คดี ดังนั้นอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ รัฐบาลจะเสนอให้ยกร่างกฎหมายเพื่อเลิกอนุญาโตตุลาการสัญญาภาครัฐ โดยให้คงไว้เฉพาะอนุญาโตตุลาการในกรณีสัญญาภาคเอกชนเท่านั้น
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริต ภายใต้นโยบาย 1.คนไทยต้องไม่โกง 2.คดีทุจริตไม่มีอายุความ ตรวจสอบพบเมื่อใดสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ทันที นอกจากนี้จะเสนอกฎหมายให้ยึดอายัดทรัพย์ให้กลับคืนเป็นของแผ่นดินทั้งหมด แม้จะถ่ายโอนทรัพย์สินให้ทายาทไปแล้วก็ต้องยึดมรดกกลับคืน อย่างไรก็ตาม กรณีการยกเลิกอายุความคดีทุจริตไม่เกี่ยวกับการดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องการยกเลิกอายุความในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นที่มีการหารือกันมาตั้งแต่ก่อนปี 2549 การยกเลิกอายุความจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ คงต้องให้นักกฎหมายได้วินิจฉัย แม้ที่ผ่านมากฎหมายอาญาไม่สามารถย้อนหลังให้ไปเป็นโทษได้ แต่เรื่องนี้เป็นทฤษฎีกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องการกระทำผิด
"ขอให้ข้าราชการทุกหน่วยงานร่วมกันตรวจสอบทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อลดปัญหาการทุจริต อย่าทำตัวให้เคยชินกับการรับสินน้ำใจ ซึ่งนานวันเข้าสินน้ำใจที่เคยรับตามน้ำจะเปลี่ยนเป็นต้องให้และต้องจ่าย ทุกวันนี้สถาบันตุลาการมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งและเอาจริงเอาจัง ทำให้องค์กรมีปลาเน่าปะปนอยู่น้อยที่สุด" นายพีระพันธุ์ กล่าว
ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า การชี้มูลความผิดคดีทุจริตคอร์รัปชั่นแก่ข้าราชการระดับสูงหลายคดี ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ทำให้คนในระดับผู้ใหญ่ของประเทศไม่มีที่อยู่ จึงขอให้ข้าราชการฝ่ายนิติกรและตรวจสอบภายในที่มาร่วมสัมมนาครั้งนี้ ต้องนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้จริงจังกับเรื่องวินัยและกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบองค์กรภายใน มิเช่นนั้นปัญหาจะย้อนกลับมาถึงปลัดกระทรวง อธิบดี ไล่ไปจนถึงผู้อำนวยการกอง หากองค์กรตรวจสอบภายในยังทำตัวเป็นไม้ประดับ มือจะเปื้อนและเอาตัวไม่รอด