ถอดรหัสพฤติกรรมฟังเพลงผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ถอดรหัสพฤติกรรมฟังเพลงผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ถอดรหัสพฤติกรรมฟังเพลงผู้บริโภคยุคดิจิทัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่กลุ่มคนมิลเลนเนียลหรือเจนวายเป็นผู้บริโภคหลักในทุกอุตสาหกรรม เพราะเป็นเจเนอเรชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีจำนวนประมาณ 19 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ นอกจากขนาดตลาดที่ใหญ่แล้ว คนกลุ่มนี้มีรายได้ค่อนข้างสูงแม้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวอายุเพียง 19-34 ปี และมีอัตราการใช้จ่ายต่อรายได้ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนเจเนอเรชันก่อนหน้าในช่วงอายุเดียวกันอีกด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจที่เจนวายจะได้รับความสนใจจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเพลง แก่นของคนรุ่นนี้คือ ความชอบ ความสนใจ และไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย เรามิอาจปฏิเสธได้ว่าความชอบของคนเจนเนอเรชั่นนี้มีแตกต่างจากรุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจน เห็นได้จากเพลงฮิตของยุคนี้ที่มีความหลากหลายทั้งแง่ของแนวเพลง และแนวดนตรี ต่างจากสมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่เพลงฮิตส่วนมากจะเป็นแนวป๊อปแถมมีให้เลือกฟังไม่กี่แนว

ธนาคารยูโอบี (ไทย) ร่วมกับ JOOX แพลทฟอร์มบริการสตรีมเพลง ถอดรหัสพฤติกรรมฟังเพลงผู้บริโภคเจนวาย กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุด โดยคุณยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจธนาคารยูโอบี (ไทย) เปิดเผยว่า “ในยุคที่วันพรุ่งนี้ เราไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนพ่อแม่อีกต่อไป ดนตรีก็เช่นกัน มีความแตกต่างหลากหลายไปตามแต่ละสมัย ดนตรีไม่ได้แค่สะท้อนรสนิยมของเรา แต่ยังสะท้อนตัวตนของเราอีกด้วย”

แต่ก่อนจะมาดูว่าเจนวายมีความชื่นชอบในเพลงแนวไหนกันบ้าง เราลองมาย้อนรอยปรากฏการณ์ด้านดนตรีที่มีอิทธิพลต่อสังคมในแต่ละยุคกันก่อน

 

ดนตรีต่างยุค สะท้อนตัวตนคนหลากเจเนอเรชั่น

ปรากฏการณ์เพลงไทยในยุค 90 ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของเพลงไทยสากลบ้านเรา เพราะไม่ว่าจะแนวป๊อปแดนซ์ ป๊อปใส หรือเพลงร็อคก็ล้วนโด่งดังเป็นพลุแตก จนกระทั่งการเข้ามาของค่ายเพลงอินดี้ Bakery Music จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพลงนอกกระแสที่โด่งดังมากของยุค เพราะความแปลกใหม่ของศิลปินและแนวดนตรีที่ทางค่ายได้ทำออกมา ถือเป็นการสร้างตำนานอีกหน้าหนึ่งให้กับวงการเพลงไทย

นอกจากนี้ การถือกำเนิดของ Fat Radio ที่ทำให้วัยรุ่นในยุค 90 มีทางเลือกในการฟังเพลงมากขึ้น

ข้ามมาในปี 2000 จุดกำเนิดของเทรนด์การฟีเจอร์ริ่งเพลงข้ามสายพันธุ์ระหว่างลูกทุ่งและลูกกรุง โดยมีเพลง "แฟนจ๋า" ของ ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นต้นกำเนิดของการฟีทเจอริ่งข้ามแนวเพลง

ปี 2010 เกิดปรากฎการณ์เครื่องดนตรีเทรนด์ใหม่ อูกูเลเล่ ฟีเวอร์ จากนักร้องไทยคือ สิงโต นำโชค หรือนักร้องสาวอย่าง ลุลา ที่นำเครื่องดนตรีชิ้นนี้เข้ามาใช้ในเพลง ซึ่งกระแสความนิยม ครั้งแรกๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นมานั้น ก็น่าจะมาจากการที่คนในบ้านเราได้เห็นนักดนตรี ต่างประเทศใช้เครื่องดนตรีชิ้นนี้บรรเลงเพลงของเขา ไม่ว่าจะเป็น Jack Johnson, Jason Mraz

ปีถัดมา (2011) เป็นปีที่มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เนทได้ในวงกว้าง สื่อโซเชียลมีเดีย กลายเป็นเวทีในการแสดงออกทางความสามารถที่ให้ทั้งโลกได้ประจักษ์สายตา และยังเป็นหนทางในการพาตัวเองไปพบเจอกับโอกาสในการทำงานในวงการบันเทิงที่หลายคนใฝ่ฝัน กำเนิดศิลปิน ล้านวิว ที่โด่งดังมาจากการลงคลิปร้องเพลง จนกลายเป็นศิลปินมืออาชีพที่มีสังกัด เช่น วงรูม 39 เพลง "หน่วง" ถือเป็นรูปแบบใหม่ของวงการเพลงที่ศิลปินไม่ต้องผ่านค่ายเพลง แต่สามารถสื่อสารกับคนฟังได้เลย และเวลาไม่ห่างกัน วงการเพลงลูกทุ่งก็มีศิลปินคนแรกที่มียอดคนดูในยูทูบกว่าหนึ่งร้อยล้านวิวคือ เพลง "ขอใจเธอแลกเบอร์โทร" โดย หญิงลี ศรีจุมพล

ปี 2014 ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเทศกาลดนตรีในบ้านเรา พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปก็ส่งผลกับยอดจำหน่ายบัตร คนดูเริ่มเบื่อที่จะฟังแต่เพลงอย่างเดียว อย่างน้อยๆ ในงานนั้นจะต้องมีอาหาร แบ็กดรอป ไม่ก็จุดถ่ายรูปเท่ๆ ให้ได้เป็นการจารึกว่าเจ้าตัวได้มาเยือนอีเวนต์นั้นนี้แล้ว เราจึงเริ่มเห็น Music Festival ในปีหลังๆ กลายเป็น Lifestyle Festival ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องดนตรีสด แต่กลับมีองค์ประกอบอื่นๆ มาผสม อาทิ ดีเจ อาหาร เครื่องดื่ม เวิร์กช็อปงานฝีมือต่างๆ ไปจนถึงการแต่งตัวมาประชันกันอันเป็นธรรมเนียมที่รู้กันในหมู่ festivalgoers (ซึ่งไม่รู้ว่าถือกำเนิดเกิดมาจากใคร นี่อาจจะเป็นอีกวิถีของเหล่า escapists ก็เป็นได้ จะแต่งตัวก็เอาให้สุดแบบปกติประจำวันไม่แต่งไรงี้)

ปี 2017 ถือเป็นการกลับมาของดนตรีสายอินดี้ในประเทศไทย เป็นอีกครั้งที่สาวกดนตรีนอกกระแสมีบทบาทในวงการดนตรีไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ศิลปินที่เกิดใหม่และเกิดจากเวทีนอกกระแสกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อย่าง The TOYS กับเพลงฮิต "ก่อนฤดูฝน" หรือวงดนตรีแนวซินธ์ป๊อป TELEx TELEXs กับเพลง "Shibuya"

ปี 2018 กระแสเพลงแร็ปกลายเป็นปรากฏการณ์ในเมืองไทย จากเพลงใต้ดินเต็มไปด้วยคำหยาบคาย ปัจจุบันได้กลายเป็นแนวเพลงเมนสตรีมสำหรับคนกลุ่ม Mass หลังจากรายการแนว Rap Battle ออกอากาศกันไปไม่กี่ซีซั่น ก็กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะคนในโลกโซเชียลหลายคนก็ได้ชมความสามารถของแร็ปเปอร์รุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง จนทำให้รายการมีฐานคนดูมั่นคง เราจึงจะเห็นศิลปินแร็ปใหม่ๆ แจ้งเกิดในวงการ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาทิ ปู่จ๋านลองไมค์, UrboyTJ, ILLSLICK, Twopee Southside, LazyLoxy และ OG-ANIC  มีเพลงฮิตติดมากมาย สามารถไต่อันดับชาร์ตเพลงขึ้นมาอยู่ในอันดับบนของชาร์ตเพลงแต่ละสำนักได้

โดยสถิติล่าสุดจาก JOOX ประจำปี 2018 พบว่าแนวเพลงแร็ป ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ครองใจคนเจนวายด้วยยอดสตรีมเพลงที่มีอัตราเติบโตสูงสุดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5% ในปี 2017 เป็น ร้อยละ17% ในปี 2018

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถยืนยันความแรงของกระแสของแนวเพลงแร็ป ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี ว่าเป็นแนวเพลงที่กำลังมาสำหรับมิลเลนเนียลในยุคนี้ที่แท้จริง

แม้ว่าวงการ “เพลงไทย” หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการพัฒนาด้านเนื้อหาและเนื้อเพลงที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าคุณจะคุ้นเคยกับแนวเพลงป๊อปแดนซ์ ป๊อปใสของยุค 90 หรือจะชื่นชอบเพลงเป็นซินธ์ป๊อปที่ Rebirth กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งจากยุค 80 หรือจะเป็นแนวแร๊พ ฮิปฮอป อาร์แอนด์บีที่มีเนื้อหาโดนใจ สะท้อนสังคม แต่ไม่ว่าแนวเพลงแบบไหนจะโดนใจ You Are What You Listen เราฟังอะไรเราก็เป็นคนแบบนั้น เพลงไม่ได้แค่สะท้อนรสนิยมของเรา แต่ยังสะท้อนตัวตนของเราอีกด้วย

 

รู้หรือไม่

ทำไมคนที่ไปเทศกาลดนตรีอย่าง Wonderfruit หรือ Big Mountain ต้องแต่งตัวสไตล์ฮิปปี้?

ดีเจซี๊ด-นรเศรษฐ หมัดคง ให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของ Music Festival ว่าพฤติกรรมของวัยรุ่นในยุคนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นตัวของตัวเองกันมากขึ้น คำว่า Sex, Drugs, Rock & Roll ที่มาจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้คนในเทศกาลดนตรี Woodstock ซึ่งเต็มไปด้วยอิสระเสรีในทุกๆ ด้าน โดยเรียกตัวเองว่า ฮิปปี้ นั้น ได้กลายเป็นวัฒนธรรมของการต่อต้านสงคราม กฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ และการอยู่ร่วมกันอย่างเสรีไม่มีกฏเกณฑ์ใดๆ มาขวางกั้นของหนุ่มสาววัยรุ่นในยุคนั้น ยุคที่ถูกเรียกขานว่า “Woodstock Generation”

[Advertorial]

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ถอดรหัสพฤติกรรมฟังเพลงผู้บริโภคยุคดิจิทัล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook