ผลสำรวจเผย พ่อแม่ชาวจีนจำนวนมาก ชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น
“หวังให้ลูกชายเป็นดั่งมังกร ให้ลูกสาวเป็นดั่งหงส์” ผู้ปกครองชาวจีนจำนวนมากยอมรับ ชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น
จีนมีภาษิตคำหนึ่งกล่าวว่า “หวังให้ลูกชายเป็นดั่งมังกร ให้ลูกสาวเป็นดั่งหงส์” แสดงถึงความปรารถนาของคนเป็นพ่อแม่ที่หวังให้บุตรของตนประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน มีผู้ปกครองชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าการคาดหวังในตัวลูก คือความรับผิดชอบอย่างหนึ่งที่พ่อแม่ควรมี
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ล่าสุด ผลการสำรวจโดย wenjuan.com ที่ได้มาจากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2,009 ราย ชี้ให้เห็นถึงความคาดหวังต่างๆ ที่ผู้ปกครองมีต่อบุตรหลาน โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 90.6% กล่าวว่ารอบกายตนเต็มไปด้วยผู้ปกครองที่คาดหวังในตัวลูกสูง ในขณะที่ 83.4% กล่าวว่าตนเคยเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่น 62.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าพ่อแม่ควรปลูกฝังลูกโดยอิงกับความสามารถของตัวเด็ก และ 89.8% ระบุว่าตนเองมีสถานภาพเป็นพ่อแม่คน
คาดหวังสูง:
ชายจีนแซ่หูเจ้าของกิจการรายหนึ่ง ผู้พักอาศัยอยู่ในนครฉงชิ่งกล่าวว่า ตนมีลูกสาวสองคน และยอมรับว่าตนคาดหวังในตัวลูกไว้สูงมาก “สิ่งที่ผมคาดหวังจากลูกอันดับแรกเลยคือต้องเป็นคนดี อันดับสองคือต้องรู้จักมารยาท สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ อันดับสามคือต้องเป็นคนที่มีความสามารถ จะให้ดีที่สุดเลยคือต้องเก่งรอบด้าน นอกจากนี้ผมหวังให้พี่น้องทั้งคู่รัก เข้าใจซึ่งกันและกัน และพากันเรียน รวมถึงช่วยเหลือกันในยามที่ต้องเจอกับการแข่งขันในสังคม”
“ตอนนี้การแข่งขันในสังคมมันสูงมาก ดังนั้นผู้ปกครองจึงคาดหวังในตัวลูกสูง” ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งมีอาชีพเป็นอาจารย์โรงเรียนมัธยมในนครเซินเจิ้นกล่าว พร้อมกล่าวว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่กังวลเรื่องความสำเร็จของบุตรหลาน และหลายคนมักจะสมัครคอร์สเรียนพิเศษต่างๆ ให้ลูก
หญิงแซ่หลินผู้ทำงานด้านโฆษณาในกรุงปักกิ่งกล่าวว่า พ่อแม่ส่วนมากล้วนแต่คาดหวังในตัวลูกทั้งสิ้น “ฉันจะพยายามสร้างสภาพครอบครัวที่ดีให้ลูก ให้ลูกได้รับและได้สัมผัสในสิ่งที่ดี ในด้านวัตถุ อย่างน้อยก็ต้องมีเสื้อผ้าและอาหารดีๆ ให้เขา ส่วนทางด้านจิตใจฉันอยากให้เขาได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ได้ดูในสิ่งที่อยากดู ได้เล่นในสิ่งที่อยากเล่น แน่นอนว่าต้องให้เขามีรสนิยมและวุฒิภาวะในระดับหนึ่งด้วย”
อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ:
“พ่อแม่มักอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกๆ ของคนอื่นที่อยู่รอบตัว คือฉันก็มักจะเปรียบเทียบจากหลายๆ อย่างอยู่แล้ว ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกไปจนถึงผลการเรียน แต่ฉันจะไม่บอกลูกหรอก” หญิงแซ่หลินกล่าว
ชายจีนแซ่หูกล่าวว่า ตนก็มักเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกคนอื่น “หลักๆ คือเปรียบเทียบเรื่องการใช้ชีวิต อาหารการกินและเสื้อผ้าของลูกไม่ควรต่างกับเพื่อนมากเกินไป ส่วนเรื่องของใช้ต่างๆ ก็ควรอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ก็จะเปรียบเทียบเรื่องการประพฤติตัวและความสามารถว่าลูกใครจะโดดเด่นกว่า”
ผู้ปกครองรายหนึ่งกล่าวว่า ตนมักจะได้ยินผู้ปกครองของเด็กคนอื่นๆ ถามอยู่บ่อยครั้งว่า “รอบนี้ลูกของคุณสอบเป็นอย่างไรบ้าง”, “วันแม่คุณได้รับของขวัญจากลูกไหม”, “วันหยุดที่ผ่านมาคุณพาลูกไปเที่ยวที่ไหนมา”, “ชุดลูกคุณตัวนี้สวยดี ซื้อมาจากที่ไหนหรือ” เป็นต้น
ความรักที่มาพร้อมกับความกดดัน:
สำหรับเรื่องความคาดหวังที่พ่อแม่มีต่อลูก ผู้ตอบแบบสอบถาม 61.7% กล่าวว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความปรารถนาที่พ่อแม่ต้องการฝากฝัง ในเวลาเดียวกันก็มี 57.8% ที่บอกว่านี่คือความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสอบถาม 45.9% ที่มองว่านี่คือสิ่งที่สะท้อนถึงแรงกดดันในสังคม
ผู้ปกครองแซ่เสิ่นรายหนึ่งกล่าวว่า “ตอนนี้การศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำ เช่นพื้นที่ใกล้บ้านไม่มีโรงเรียนดีๆ ทำให้ผู้ปกครองเป็นกังวลเรื่องการศึกษาของลูก แต่ถ้าอยากให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดีๆ ก็ต้องทำให้ลูกเก่ง นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน”
เธอกล่าวว่า ความกังวลที่มากไปของพ่อแม่อาจจะทำร้ายความเป็นตัวเองของลูกได้ นอกจากนี้ก็จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย พร้อมเสริมว่าความกังวลนี้เปรียบได้กับการนั่งดูหนังในโรง เมื่อคนที่นั่งแถวหน้าจำนวนหนึ่งยืนขึ้นมา คนที่นั่งแถวหลังก็จำเป็นต้องลุกเช่นกัน “พ่อแม่เองต้องเรียนรู้เรื่องการศึกษา แต่ไม่ใช่จากที่แชร์ๆ กันผิดๆ ในโซเชียล”
ทั้งนี้ สำหรับคำถามที่ว่า ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับสิ่งใดในการเลี้ยงอบรมดูบุตรหลาน ได้ผลดังนี้ ร่าเริงแจ่มใส 54.5% นิสัยดี 54.4% บุคลิกเชิงบวก 54.4% และร่างกายแข็งแรง 51.3%
>> ยุคเปลี่ยนค่านิยมเปลี่ยน พ่อแม่จีนในเมืองใหญ่ไม่คาดหวังให้ลูกเลี้ยงดูยามแก่