เช็คความสัมพันธ์ “จีน-สหรัฐฯ” หวั่นเกิดสงครามเย็นยุคใหม่

เช็คความสัมพันธ์ “จีน-สหรัฐฯ” หวั่นเกิดสงครามเย็นยุคใหม่

เช็คความสัมพันธ์ “จีน-สหรัฐฯ” หวั่นเกิดสงครามเย็นยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในสัปดาห์นี้ที่กรุงวอชิงตัน อาจสร้างความโล่งใจให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกไปได้บ้าง แต่ในมุมมองของนักวิชาการและผู้สันทัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกลับเห็นว่าอาจไม่เพียงพอต่อการประสานรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เปราะบางอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จนอาจพัฒนาเป็น “สงครามเย็นยุคใหม่” ในไม่ช้า

จู เฟิง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาด้านทะเลจีนใต้ มหาวิทยาลัยนานจิงของจีน ระบุว่า ตอนนี้รัฐบาลปักกิ่งพยายามจับต้นชนทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็ว

>> “จีน-สหรัฐ” เริ่มเจรจาการค้ารอบใหม่ พร้อมหารือค่าเงินหยวน

ยูน ยัง-ควาน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ ระบุว่า ตอนนี้หลายประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกกำลังเข้าสู่ยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าเขตอันตรายและไร้เสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

เช่นเดียวกับนายสเตเพิลตัน รอย อดีตทูตสหรัฐฯประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ในยุคของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐฯ ที่ให้ทัศนะคล้ายกับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในตอนนี้เปราะบางกว่าช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และท่าทีของจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นศัตรูและคู่แข่งกันในตอนนี้ จะส่งผลเชิงลบต่อผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียตะวันออก

นายรอยย้ำว่า หากรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถสร้างความปรองดองบนพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ร่วมกัน อาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางการทหาร ซึ่งจะดึงทรัพยากรที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่การลงทุนด้านการทหารที่ต้นทุนสูงและอันตราย และนำไปสู่การกดดันให้ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกต้องเลือกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านนายแดเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ในยุคอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เสื่อมถอยลง จะส่งผลกระทบที่กว้างไกลกว่าเกาหลีเหนือ

และคาดว่าทุกประเทศในภูมิภาคจะไม่ยอมเลือกข้างในสงครามเย็นยุคใหม่นี้ และเลือกที่จะพยายามสร้างสมดุลและลดการพึ่งพาสหรัฐฯ เนื่องจากขาดความมั่นใจในนโยบายของรัฐบาลวอชิงตัน เพราะไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์จากผลที่ตามมาของความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

นักวิชาการต่างไม่อาจคาดเดาถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ว่าจะหาทางประสานรอยร้าวระหว่างกันได้อย่างไร ซึ่งในจังหวะนี้ อาจารย์คิม ฮวงคยู จากมหาวิทยาลัย Ajou ของเกาหลีใต้ แนะว่าประเทศตัวกลางจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและสหรัฐฯ

ขณะที่อาจารย์เจีย ชิงโกว จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่า แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ความขัดแย้ง เขากลับพบว่า 2 มหาอำนาจมีความสนใจในหลายประเด็นที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ประเด็นผู้อพยพ, การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน, ปัญหาการฟอกเงิน รวมทั้งความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ประเทศ สามารถสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานแห่งผลประโยชน์ร่วมกันได้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หยิบยกปมขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สะเทือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คือ ท่าทีของจีนในการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ ซึ่งตอนนี้มีชาวจีนบางส่วนที่มองว่า จีนควรร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ปัญหานี้ด้วยกัน

ขณะที่เริ่มมีอีกฝ่ายที่มองว่า ประเด็นปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นปัญหาของสหรัฐฯ ที่จีนไม่ควรข้องเกี่ยว และในจังหวะที่ความสัมพันธ์จีนและสหรัฐฯ ค่อนข้างระหองระแหงเช่นนี้ ยิ่งนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า หากสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เลวร้ายถึงขั้นนี้ แล้วจีนจะยื่นมือเข้าไปช่วยสหรัฐฯ เพื่ออะไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook