ก้าวไปไกล นักวิทย์ฯ จีนเล็งสร้าง “โซลาร์ฟาร์มอวกาศ” ส่งพลังงานกลับโลก
คิดล้ำนำยุค นักวิทยาศาสตร์จีนเล็งสร้าง “โซลาร์ฟาร์มอวกาศ” ส่งพลังงานกลับโลก หวังช่วยลดมลพิษ บรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงาน
วานนี้ (27 ก.พ.) สื่อทางการจีนรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์จีนกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อตั้งสถานีพลังงานแสงอาทิตย์กลางอวกาศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยตัดลดมลพิษบนพื้นโลกและบรรเทาปัญหาพลังงานขาดแคลน
นายเสีย เกิงซิน รองหัวหน้าสถาบันวิจัยนวัตกรรมร่วมเพื่อบูรณาการพลเรือน-กองทัพแห่งฉงชิ่ง กล่าวว่า คณะนักวิจัยได้เริ่มออกแบบโครงสร้างทดสอบในเขตปี้ซาน ซึ่งจะถูกใช้ทดสอบสมรรถภาพตามทฤษฎีของสถานีฯ ดังกล่าว
โครงสร้างทดสอบจะใช้พื้นที่ราว 83 ไร่ และเงินทุนก้อนแรก 100 ล้านหยวน (ราว 500 ล้านบาท) โดยจะมุ่งสาธิตเทคโนโลยีการส่งผ่านอวกาศ รวมถึงศึกษาผลกระทบของคลื่นไมโครเวฟที่ยิงกลับคืนสู่โลกและสิ่งมีชีวิต
การก่อสร้างสถานีพลังงานแสงอาทิตย์กลางอวกาศจะใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งหากเสร็จสิ้นและเริ่มเดินเครื่องแล้ว คณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจะสร้างบอลลูนโยงที่ติดตั้งแผงโซลาร์และใช้มันตรวจสอบเทคโนโลยีการส่งผ่านคลื่นไมโครเวฟ
บอลลูนจะสะสมแสงสว่างจากดวงอาทิตย์และเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นคลื่นไมโครเวฟก่อนยิงกลับคืนสู่โลก โดยสถานีรับรองบนพื้นโลกจะเปลี่ยนคลื่นไมโครเวฟที่รับมาเป็นกระแสไฟฟ้าและจ่ายเข้าโครงข่ายการไฟฟ้า
ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาดและน้ำหนักของสถานีพลังงานแสงอาทิตย์กลางอวกาศ เนื่องจากการวิจัยยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
อย่างไรก็ดี นายเสียบอกว่า หากทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี สถานีพลังงานแสงอาทิตย์กลางอวกาศ ที่เกิดจากฝีมือการพัฒนาของจีน จะลอยสู่วงโคจรเหนือพื้นโลก 36,000 กิโลเมตรและเริ่มผลิตพลังงานก่อนปี 2040
>> ล้ำไปอีก จีนสร้าง “ดวงจันทร์เทียม” เตรียมส่งขึ้นอวกาศปี 2020
(ภาพจำลองสถานีพลังงานแสงอาทิตย์กลางอวกาศ / NASA)