พ.ร.บ.ไซเบอร์ "ผ่านฉลุย"! ไร้เสียงค้าน ผู้เชี่ยวชาญโวย NGO เคลื่อนไหวปั่นคนเกลียด
28 ก.พ. 62 - ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธานเสนอ ด้วยคะแนน 133 เสียง งดออกเสียง 16 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
>> รู้ตัวอีกที "พ.ร.บ.ไซเบอร์" จะมาแล้ว สนช. ซุ่มถกกฎหมาย หวั่นเปิดช่องรัฐล้วงส่องเต็มที่!
ทีวีรัฐสภา ช่อง 10
บรรยากาศในที่ประชุมนั้น ไม่มี กมธ.หรือสมาชิก สนช.ติดใจสงวนคำแปรญัตติ ขณะที่การอภิปรายของสมาชิกเป็นเพียงการตั้งคำถามเพื่อให้อธิบายในรายละเอียด โดยไม่มีข้อเสนอให้แก้ไขหรือปรับปรุงตามบทบัญญัติที่ กมธ.เสนอแต่อย่างใด โดยการอภิปรายและลงมติเป็นรายมาตราทั้งร่างจำนวน 81 มาตรา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาทีเท่านั้น
อ้างคุมสถานการณ์คับขันโดนแฮกครั้งใหญ่
ส่วนสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมถึงนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และยังให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) ที่มี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดำเนินการได้หลายประการตามมาตรา 60 กำหนด เช่น รวบรวมข้อมูลหรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เป็นต้น ในกรณีที่ปรากฏแก่ กกม.ว่าเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงด้วย
อีกทั้งมาตรา 61 ยังให้อำนาจเลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง หรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้นด้วย
หากวิกฤติ ล้วงข้อมูล-บุกค้นได้ ไม่ต้องใช้หมายศาล
สำหรับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนและเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ มาตรา 67 ให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว
และในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤติเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยง ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของให้คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กกม.มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กกม.โดยเร็ว
แนะพัฒนาบุคลากรดูแลความมั่นคงไซเบอร์
อย่างไรก็ตาม กมธ. ส่งข้อสังเกตแนบท้ายไปถึงรัฐบาล โดยให้หน่วยงานที่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้การทำงานด้านดังกล่าว ซึ่งถือเป็นของใหม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขณะที่การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการทำงานระหว่างประเทศควรทำเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานแทนความตกลงที่มีผลผูกพันระหว่างรัฐ รวมถึงการทำข้อตกลงต้องอยู่ในภายใต้อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานฯ เท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญแย้ง! ชี้ NGO ยุคนเกลียด พ.ร.บ. นี้-ศาลคุมทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกฎหมายฉบับดังกล่าว
"กลุ่มผู้เสียประโยชน์จาก พ.ร.บ.ไซเบอร์ กำลังดิ้นสุดฤทธิ์ โดยอาศัยกลุ่ม NGO ที่เกื้อกูลกันมีได้มีเสียกันบางอย่าง ออกมาเดินเครื่องเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ นี้ ทั้งๆที่ ร่างใหม่นี้ได้ถูกแก้ไขทุกอย่างหมดแล้ว แต่ก็ยังเอาร่างเดิมมาใส่สีตีไข่ ว่ามีอำนาจมาก ไม่ใช้อำนาจศาลอะไรต่างๆ
ขอให้ทุกท่าน โปรดอย่าเชื่อการป่วนของกลุ่ม NGO ที่รับใช้กลุ่มผู้เสียประโยชน์ เพราะหลักการ ของ พ.ร.บ.ใหม่นี้ คือ
การจะเข้ายึดเข้าค้นทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องใช้อำนาจศาลทั้งหมด ไม่มีอำนาจรัฐเข้ามา และไม่มีการเข้าค้นแก้ไขข้อมูล
คำว่า ภัย Cyber จะเน้นเฉพาะเพื่อพิทักษ์ปกป้อง กลุ่มองค์กรที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ: CII เท่านั้น และมีเฉพาะตัวข้อมูลทางเทคนิคเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับ content เนื้อหา สิ่งที่พวกเขาด่ามาก็คือของเก่า ที่เขาอยากให้เป็น ไปโยงมั่วถึง Facebook และ Line ซึ่งเป็นเรื่องของข้อมูลเนื้อหา Content ไม่ใช่ข้อมูลระบบ ตามความหมายของร่างใหม่ และไม่เกี่ยวกับ CII
กลุ่ม NGO นี่ก็แปลก เมื่อคราวแรกที่ร่างเดิมมีปัญหามาก ลิดรอนสิทธิประชาชนอย่างมาก ไม่มีการใช้อำนาจศาลเลย กลับไม่ออกมาต่อต้าน
แต่พอร่างใหม่ที่ภาคประชาชนช่วยกันแก้ไขเรื่องคุ้มครองสิทธิประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม ทุกอย่างต้องผ่านอำนาจศาลหมด กลับออกมาต่อต้าน
มันมีอะไรทะแม่งๆ กันอยู่นะครับท่าน NGO
เหมือนเมื่อคราวที่แล้ว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กฎหมายไม่มีคำว่าซิงเกิลเกตเวย์ เลยสักนิด แต่เขากลุ่ม NGO ก็ออกมาตีโพยตีพายโวยวายว่าเป็น กฎหมายลิดรอนสิทธิ มั่วไปว่ารัฐบาลจะทำ single gateway คนก็สับสนกันไปหมด ขนาดไม่มีเรื่องยังเขียนเป็นตุเป็นตะได้
คราวนี้ก็ออกมาอีก"
ชาวเน็ตวงให้ดู ตรงไหนขอหมายศาล?
อย่างไรก็ตาม หลังจากโพสต์นี้ออกไป ชาวเน็ตหลายคนเห็นแย้งกับ พ.ต.อ.ญาณพล และระบุว่าร่างที่ผ่านเข้าสภาในวันนี้ (28 ก.พ.) เขียนไว้ชัดๆว่า ในระดับวิกฤติที่ไม่ต้องขอหมายศาล เพียงแต่ภาครัฐจะต้องแจ้งให้ศาลทราบภายหลัง แถมยังตัดสิทธิ์การอุทธรณ์คำสั่งไปแล้วด้วย