กาไม่ถูกที่คัน
ถ้าเป็นอย่างนั้นเหตุใดในก่อนหน้านี้ ที่มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงการใช้เชื้อเพลิง ถึงไม่ได้รับการสานต่อ ทั้งที่ รถเมล์ ร่วม ขสมก. ก็ปรับเปลี่ยนจนเกือบหมดไปแล้ว เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เอาเถอะ ประเด็นที่น่าจะถกเถียงกันก็คือ สิ่งที่ ครม. ให้สภาพัฒน์ไปศึกษานั้นใช่เป็นแนวทางที่ดีที่สุดหรือไม่ เพราะไปตั้งโจทย์ให้ไปดูตัวเลขว่า เช่า กับเช่าซื้อ อย่างไหนจะดีกว่ากัน มันเกาถูกที่คันหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ ยุครัฐบาลขิงแก่ก็เคยมีการศึกษาเพื่อแก้ปัญหา ขสมก. มาแล้ว ประเด็นแรกสุดก็คือ ขสมก. ขาดทุนบักโกรกเพราะมีการรั่วไหล โดยเฉพาะเชื้อเพลิง นั่นคือเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากดีเซลไปเป็นเอ็นจีวี เพื่อยุติปัญหาตรงนี้ เมื่อเห็นตรงกันแล้ว ก็ต้องมาดูว่า รถที่มีอยู่นั้น สามารถเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิงได้จำนวนเท่าใด และที่เหลือจะทำอย่างไร ในเวลานั้นมีข้อเสนอที่ดี และน่าจะทำให้อยู่กันได้ทุกฝ่าย ทั้ง ขสมก. และเอกชน ทั้งรถร่วม และอู่ต่อรถในประเทศ หรือจะนำเข้าก็ไม่ว่ากัน นั่นก็คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารของ ขสมก. ทั้งหมด ด้วยการเปิดรับรถร่วมจากเอกชนทุกภาคส่วน โดยให้เอกชนลงทุนซื้อรถเอ็นจีวี มาส่งมอบให้ ขสมก. ที่เปิดรับพนักงานขับรถ หรือรับคนขับรถจากเอกชน แล้วนำมาปรับพฤติกรรมการขับขี่ใหม่ เอกชนคุมรถมีหน้าที่เตรียมรถให้พร้อม ขสมก. คุมคนขับ คุมเงิน ได้มาแล้ว 10 วัน 15 วัน แบ่งสรรกันไป วางแผนกันว่า 1 บริษัทเอกชน ไม่ควรมี รถเมล์ มาร่วมกับ ขสมก.เกิน 400 คัน แต่ต้องมีรถสำรองไว้ประมาณ 50 คัน เผื่อไว้ในยามฉุกเฉิน-ซ่อมบำรุง เหตุผลที่ต้องกำหนดไว้ว่าให้มีเพียงแค่ 400 คัน ก็เพราะป้องกันการมีอำนาจเหนือ หรือเกิดการต่อรองกับ ขสมก. รวมทั้งเผื่อไว้หากเกิดกรณีพิพาท ฟ้องร้อง กำหนดผลตอบแทนที่มีการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาไปคำนวณค่าใช้จ่ายและรายได้ที่จะเข้ามาทั้งหมดแล้ว น่าจะมีกำไรคันละ 800 บาท แบ่งกับเอกชนที่มาร่วมแบบ 50:50 ก็เท่ากับว่าเอกชนได้ 400 บาทต่อคันต่อวัน เช่นเดียวกับ ขสมก. ซึ่งก็น่าจะคุ้มเพราะทุกวันนี้เฉลี่ยแล้ว รถเมล์ ขสมก. ขาดทุนอยู่ราว 600 บาทต่อคันต่อวัน แต่วิธีการเช่นนี้ คนที่คิด คนที่วางแผนก็เข้าใจดีว่า ยากที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะเมื่อไม่มีการประมูล ไม่มีการซื้อขาย ไม่มีการเช่า หรือเช่าซื้อในจำนวนมาก เงินใต้โต๊ะ หรือค่าคอมมิชชั่น ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น !
ในวันนั้นคิดกันแบบนี้ แต่ในวันนี้ เรื่องส่วนต่าง เรื่องใต้โต๊ะ ก็เป็นเพียงคำพูดที่ล่องลอยอยู่กับสายลม ได้แต่ถามไถ่หาความโปร่งใส ทั้งที่สุดท้ายแล้ว เงินค่าตั๋วที่ประชาชนต้องชำระนั่นแหละคือภาษีตรงที่จะเข้าเอกชนแบบเต็มๆ ว่ากันว่า ในยุคแรกๆ ที่คิดโครงการนี้ขึ้นมา บิ๊กใน ขสมก. เคยถูกเสนอตัวเลขถึง 5 หลักต่อคัน เพียงแค่ทำตัวให้น่ารัก นั่งเฉยๆ จิบน้ำชาไปแบบชิวๆ ดูมหกรรมจัดแต่งตัวเลข ดีที่ตอนนั้นไม่เกิดการซื้อหรือเช่าซื้อ คำร่ำลือที่ว่าจึงไม่มีโอกาสพิสูจน์ นั่นคือความพยายามที่จะพลิกฟื้นขุดซาก ขสมก. ออกจากหลุมหนี้ แต่ในวันนี้ ครม.ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ อุตส่าห์สั่งให้เลื่อนประชุมจากวันอังคารมาเป็นวันพุธ เพื่อจะได้กลับมานั่งหัวโต๊ะร่วม
พิจารณาเรื่อง รถเมล์ เช่า แต่กลับทำได้เพียงแค่ให้ สภาพัฒน์ ไปศึกษาแนวทางเช่าซื้อ ซึ่งน่าจะอันตรายกว่าเช่า เพราะอาจต้องกลับมาแบกรับภาระซ่อมบำรุงเสียเอง ไม่ได้ดิ้นรนเสาะหาแนวทางที่ดีกว่านั้น กลับเลือกให้ศึกษาแนวทางที่สุดท้ายแล้วน่าจะเป็นผลดีกับแนวทาง การเช่า ที่ คมนาคมเสนอมา ทั้งที่แนวทาง ร่วมทุน กับเอกชนที่ได้ศึกษามาแล้ว นั้นเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ หรือว่านี่คือวิธีการ เนียนๆ ที่มืออาชีพเขาจัดการกัน ? ศรุตา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง เสิ่งที่หายไปในโครงการเช่ารถเมล์ อภิสิทธิ์ยิ้มร่าพรก.กู้เงินไม่ขัดรธน. โสภณยิ้มรับมติครม..ตีกลับเมล์4พันคัน เทพไทเฉ่งพท.อย่าเล่นการเมืองปั่นม็อบเกษตรล้มรัฐ เปิดรายชื่อ15อรหันต์ศึกษาทางออกรถเมล์ฉาว